เหตุปะทะที่กรงปินัง : ทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย คนร้ายตายสอง

มารียัม อัฮหมัด
2021.05.04
ปัตตานี
เหตุปะทะที่กรงปินัง : ทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย คนร้ายตายสอง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพรถยนต์กระบะที่คนร้ายยิงครอบครัวพ่อค้าสินค้าประเภทโฟมและพลาสติก ในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี วันที่ 24 เมษายน 2564
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่ทหารพรานเข้าทำการปิดล้อมบ้านต้องสงสัยในอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ก่อนเกิดการปะทะกันทำให้เจ้าหน้าที่ถูกยิงเสียชีวิต 1 นาย ขณะที่คนร้ายถูกวิสามัญฆาตกรรม เสียชีวิต 2 คน และมีผู้ต้องหาตามหมายศาลยอมมอบตัว 1 คน นับเป็นความรุนแรงต่อเนื่อง ในขณะที่บีอาร์เอ็นและคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะต้องเลื่อนการพูดคุยตัวต่อตัว ที่เดิมคาดว่าจะมีขึ้นในปลายเดือนพฤษภาคมนี้

พ.ต.อ.เจริญ นวนทอง ผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรกรงปินัง เปิดเผยเมื่อเวลา 15.40 น. ว่า ได้รับแจ้งเหตุคนร้ายยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ และมีผู้เสียชีวิตจึงนำกำลังเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ

“เจ้าหน้าที่ชุดติดตามจับกุมและปฏิบัติตามกฎหมาย ปะทะกลุ่มคนร้ายในพื้นที่บ้านบาตูบือละ หมู่ 2 ตำบลสะเอะ อำเภอกรงปินัง เหตุเกิดหลังจากเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง เพื่อจับกุมเป้าหมาย ที่เชื่อว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบ 3 คน โดยได้เชิญผู้นำชุมชน และผู้นำศาสนามาเจรจาเพื่อให้มอบตัว ต่อมานายวันฮาซัน อะซู อายุ 30 ปี สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการ บุคคลตามหมายจับศาลยะลา ที่ 85/2560 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 60 ได้ออกมามอบตัว” พ.ต.อ.เจริญ กล่าว

“จากนั้น นายวันฮาซันให้การกับเจ้าหน้าที่ว่า ในบ้านมีนายรีสวัน เจ๊ะโซะ และนายอีลียัส เวาะกา พร้อมมีอาวุธปืนเอเค 47 จำนวน 2 กระบอก และปืนพก 2 กระบอก เจ้าหน้าที่พยายามเจรจาให้คนทั้งคู่มอบตัว แต่ไม่เป็นผล ต่อมาคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ยิงตอบโต้ จนเป็นการปะทะ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่อาสาทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย เมื่อเสียงปืนสงบลงได้เข้าตรวจสอบพบนายรีสวัน และนายอีลียัส ถูกวิสามัญฯ เสียชีวิต” พ.ต.อ.เจริญ กล่าวเพิ่มเติม

พ.ต.อ.เจริญ ระบุว่า อส.ทพ.นพฤทธิ์ สุขสอน ชุดปฏิบัติการพิเศษพรานไพร หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 47 คือเจ้าหน้าที่ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตระหว่างการปะทะ

หลังเกิดเหตุ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปิยวัฒน์ เฉลิมศรี รองผู้บัญชาการภาค 9 พล.ต.ต.ปราบพาล มีมงคล รองผู้บัญชาการภาค 9 พล.ต.ท.ทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพื่อเก็บรวบรวมพยานหลักฐานอย่างละเอียดตามขั้นตอนของกฏหมาย

ด้าน พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยหลังเกิดเหตุว่า ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยตั้งที่มั่น เพื่อเฝ้าระวังการตอบโต้ของกลุ่มก่อความไม่สงบที่อาจปฏิบัติการอีกครั้ง

บีอาร์เอ็น-คณะพูดคุยไทย เลื่อนเจรจาที่เดิมกำหนดไว้วันที่ 25 พฤษภาคม นี้

นายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้ว่า การเจรจาระหว่างไทยแบบตัวต่อตัวระหว่างตัวแทนของบีอาร์เอ็นและคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะต้องเลื่อนไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 25 พฤษภาคม ศกนี้ เพราะทางการไทยต้องการเปลี่ยนเป็นการประชุมออนไลน์ ในขณะที่นายอับดุล ราฮิม นูร์ ยืนยันว่าอยากให้เป็นการพบปะตัวต่อตัว

เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ในวันนี้

ทั้งนี้ ในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขระดับเทคนิกได้พูดคุยกับคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็นทางออนไลน์ โดยมีนายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย เพื่อกำหนดแนวทางในการพูดคุยระหว่างที่มีโรคโควิด-19 ระบาด และหัวข้อสำคัญเพื่อการพูดคุยในครั้งต่อไป

“คณะทำงานทางเทคนิกได้พูดคุยกับคณะผู้แทนของ BRN ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี ตันศรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ การกำหนดเกี่ยวกับแนวทางการพูดคุยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 และประเด็นหัวข้อสารัตถะสำหรับการพูดคุยครั้งต่อไป คือการลดความรุนแรง และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เอกสารข่าว สำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ระบุ

นับตั้งแต่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีเชื้อชาติมลายู ที่นับถือศาสนาอิสลาม มาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ได้มีผู้เสียชีวิต ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยแล้วกว่า 7,000 ราย 

ในความพยายามเจรจาอย่างเต็มคณะระหว่างผู้แทนของรัฐบาลไทย และฝ่ายผู้เห็นต่าง ครั้งล่าสุดนั้น มีขึ้นในเดือนมีนาคม 2563 โดยพลเอก วัลลภ รักเสนาะ ได้นำคณะฝ่ายไทย พูดคุยกับคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรืออีกชื่อที่ใช้คือ นายฮีพนี มะเร๊ะ) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เป็นครั้งที่สอง โดยมี นายอับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก

จากนั้นได้เกิดการระบาดของโรคโควิดอย่างหนัก จนสองประเทศได้ปิดการเดินทางไปมาหาสู่กัน ซึ่งพลเอก วัลลภ รักเสนาะ ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในช่วงกลางปีที่แล้วว่า จะเดินทางไปมาเลเซียเมื่อพรมแดนเปิด แต่ได้เกิดการระบาดของโควิดระลอกใหม่อีก

และในเดือนเมษายน 2563 บีอาร์เอ็น ได้ออกแถลงการณ์ยุติการปฏิบัติการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถรับมือโรคระบาดและช่วยเหลือประชาชนได้โดยสะดวก ทำให้เหตุรุนแรงลดลงอย่างมาก แต่ได้กลับมามีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน ปีนี้

ฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch Database) ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 ได้สรุปเหตุการณ์รุนยแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำเดือนมีนาคม 2564 มียอดรวมสะสม นับตั้งแต่ มกราคม 2547 - มีนาคม 2564 โดยมีผู้เสียชีวิต 7233 ราย บาดเจ็บ 13441 ราย และเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น 20,971 เหตุการณ์ 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง