ศาลให้ประกันตัว 3 นักเคลื่อนไหว 'ทะลุวัง' คดี ม. 112
2022.04.29
กรุงเทพฯ
ในวันศุกร์นี้ ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัว 3 นักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุวัง” หลังโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวตามหมายจับในคดี ม. 112 ถึงคอนโดที่พักในย่านปิ่นเกล้า วันก่อนหน้านี้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ศาลอนุญาตให้ประกันตัว น.ส. สุพิชฌาย์ ชัยล้อม (เมนู), น.ส. ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ (ใบปอ) และ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม (ผักบุ้ง) ซึ่งถูกดำเนินคดีเพราะจัดการทำโพลล์ “เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัย” ที่จตุจักร เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565
“ศาลอนุญาตประกันตัวทั้ง 3 คน คนละ 90,000 บาท ห้ามกระทําการในทํานองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ ให้ติด EM ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 16.00 น. ถึง 06.00 น. รายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าวันศุกร์นี้ ตำรวจ สน.บางซื่อ ได้ขออำนาจศาลอาญาฝากขังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แม้ทนายความจะได้ยื่นคัดค้าน และขอให้นำตัวทั้ง 3 คน ไปไต่สวนการฝากขังที่ศาล และต่อมาในเวลาเที่ยง ศาลได้อนุญาตให้ฝากขัง โดยศูนย์ทนายฯ ระบุว่า “ไม่ได้แจ้งทนายเข้าร่วม โดยทั้งสามยืนยันไม่เคยได้รับหมายเรียก-ไม่ได้หลบหนี”
ในวันพฤหัสบดี น.ส. สุพิชฌาย์ ได้ไลฟ์เฟซบุ๊ก ระบุว่า มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบบุกมาที่หน้าห้องพัก ในคอนโดมิเนียมพาร์คแลนด์ จรัญฯ-ปิ่นเกล้า และแจ้งว่าจะจับกุมตัว เนื่องจากคนทั้งหมดมีหมายจับในคดี ม. 112 และในช่วงเย็นทั้งสามคนถูกพาตัวไปยัง สน.บางซื่อ
ในระหว่างถูกควบคุมตัวที่ สน.บางซื่อ น.ส. สุพิชฌาย์ ได้เขียนจดหมายถึงมวลชนที่รอให้กำลังใจผ่านสำนักข่าวประชาไทว่า “เหตุการณ์ในวันนี้ทำให้เราตระหนักได้ว่า อาวุธเดียวที่ประชาชนอย่างเรามีคือ เสียง เราตะโกน เราด่า เราตวาด เพราะนั่นคืออย่างเดียวที่เราทำได้ เพื่อไม่ยอมจำนนต่อการกลั่นแกล้งของเผด็จการเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้เราสามารถยืนหยัดต่อสู้ต่อไปได้…”
“เขาบอกว่ากลัวเราหนี เลยออกหมายจับ ทั้งที่เราก็ติดกำไล EM อยู่แล้ว… พวกมึงจับกูได้ แต่พวกมึงหยุดกูไม่ได้หรอก ต่อให้ไม่มีกู คนอื่นก็จะออกมาสู้กับมึงอยู่ดี” น.ส.เนติพร ผู้ต้องหาอีกรายกล่าวในจดหมาย
ด้าน น.ส. เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเดินทางไปติดตามคดีที่ สน.บางซื่อ ในวันพฤหัสบดี ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่รุนแรงเกินไป
“ได้รับทราบจากน้อง ๆ ด้วยว่ามีการส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปเฝ้าติดตามพวกเขาตั้งแต่เก้าโมงเช้า เป็นการกระทำที่คุกคามสิทธิเสรีภาพ การอ้างว่าเพราะคดี ม. 112 เป็นคดีรุนแรงจึงต้องจับกุมในทันที ในความเห็นส่วนตัวมองว่า คือการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวทั้งที่พวกเขามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ” น.ส. เบญจา กล่าวกับสื่อมวลชน
ก่อนหน้านี้ น.ส. สุพิชฌาย์ อายุ 19 ปี เป็นผู้ต้องหาคดี ม. 112 จำนวน 1 คดี จากการปราศรัยในการชุมนุมที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 น.ส. ณัฐนิช อายุ 20 ปี ก่อนหน้าคดีนี้ ถูกแจ้งข้อกล่าวหา คดี ม. 112 แล้ว 2 คดี จากการทำโพลล์ “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ที่สยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และ การแชร์โพสต์ของเพจทะลุวัง เรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ ปี 2565 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ส่วนรายที่สาม น.ส. เนติพร ยังไม่เคยถูกดำเนินคดี
นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวที่อดีตอยู่ในกลุ่มทะลุวังอีกราย คือ นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน ได้ประกาศอดอาหาร โดยจะดื่มเพียงนมและน้ำ ในเรือนจำ หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ก่อนได้ถูกศาลถอนการประกันตัว เพราะศาลเห็นว่าตัวทานตะวันได้สร้างความวุ่นวาย เป็นการผิดเงื่อนไขประกันตัวที่ศาลได้อนุญาตไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 นี้
ทานตะวัน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง แจ้งข้อกล่าวหา ม. 112 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 เพราะการทำกิจกรรมต้านสถาบันฯ ที่บริเวณริมถนนราชดำเนิน โดยถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊ก ก่อนจะมีขบวนเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี
ทะลุวัง ถือเป็นกลุ่มการเคลื่อนไหว ที่อยู่ในกระแสการชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดย ทะลุวัง เริ่มเคลื่อนไหวครั้งแรกในปี 2565
นับตั้งแต่มีการชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 จนสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 1,795 คน ใน 1,045 คดี ในนั้นเป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดี ม. 112 อย่างน้อย 183 คน ใน 194 คดี มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมของตำรวจกว่า 100 ราย ซึ่งรวมถึงเด็ก เยาวชน และสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการสรุปจำนวนผู้บาดเจ็บที่แน่ชัด