เรือนจำส่งตัวเพนกวินไป รพ.รามาฯ หลังเสี่ยงภาวะช็อค
2021.04.30
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ กรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ส่งตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จำเลยคดีการชุมนุม 19 กันยายน 2564 ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว หลังเสี่ยงที่จะมีภาวะช็อคจากการอดอาหารประท้วง จากการที่ตนเองและพวกไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว จากข้อหา ม.112 ด้าน นางสุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ ได้โกนหัวที่หน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้แก่บุตรชาย รวมทั้งยื่นประกันตัวนายพริษฐ์อีกครั้ง แต่ศาลยังไม่มีคำสั่งและนัดไต่สวนคำร้องประกันตัว ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564
นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดี และโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยผ่านแฟนเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ว่า ปัจจุบัน ได้ย้ายตัวนายพริษฐ์ ออกจากเรือนจำไปยังโรงพยาบาลแล้ว
“กรณีที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้สมัครใจอดอาหาร ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน จนทำให้น้ำหนักตัวลดลงจาก 107 กิโลกรัม เหลือ 94.5 กิโลกรัม นั้นแม้ว่าที่ผ่านมาจะยังไม่มีอาการบ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะวิกฤติ ตามที่กรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงไปแล้ว แต่เนื่องจากนายพริษฐ์ฯ ได้อดอาหารเป็นเวลานาน จนร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ อีกทั้งในวันนี้ (30 เมษายน 2564) นายพริษฐ์ เริ่มดื่มน้ำเกลือแร่ได้น้อยลง และมีอาการปวดบริเวณที่ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ จึงต้องถอดสายน้ำเกลือไว้ก่อน” นายธวัชชัย กล่าว
“แพทย์และพยาบาลมีความกังวลว่า อาจเกิดภาวะช็อคได้ จึงมีความเห็นว่าควรส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ เพื่อรับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงได้ส่งตัวนายพริษฐ์ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมี รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี รับมอบผู้ป่วยเข้าทำการรักษา ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อย่างเคร่งครัด หากนายพริษฐ์ ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว จะดำเนินการส่งตัวกลับเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อไป” นายธวัชชัย ระบุ
ทั้งนี้ นายพริษฐ์ และพวก ถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการร่วมชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2564 โดยศาลปฏิเสธการให้ประกันตัวมาตลอดด้วยเหตุผลเกรงว่า จำเลยจะกระทำผิดซ้ำ และหลบหนี
ต่อมานายพริษฐ์ และน.ส. ปนัสยา ประกาศอดอาหารเพื่อประท้วงการไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวของจำเลยทั้งหมด ถึงปัจจุบัน นายพริษฐ์ อดอาหารมาแล้ว 46 วัน และ น.ส. ปนัสยา อดอาหารแล้ว 32 วัน อย่างไรก็ตามเมื่อสัปดาห์ก่อนจำเลยในคดีเดียวกันเช่น นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ได้รับการประกันตัว ขณะที่เดือนก่อน นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ก็ได้รับการประกันตัว โดยทั้งหมดมีเงื่อนไขการประกันตัวว่า จะไม่ยุ่งกับการชุมนุมทางการเมือง และปราศรัยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม ทนายความของนายพริษฐ์และพวกได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้งหมดในวันพฤหัสบดี ด้วยเงื่อนไขเดียวกันกับจำเลย 3 รายที่ได้รับการประกันตัวแล้ว แต่ถูกปฏิเสธ
ในวันเดียวกัน นางสุรีรัตน์ พร้อมด้วยทนายความได้เดินทางไปยังศาลอาญาและทำคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว นายพริษฐ์ รวมถึง น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง จำเลยในคดีเดียวกันอีกครั้ง และได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการโกนผม เพื่อเรียกร้องให้ศาลอนุมัติการปล่อยตัวชั่วคราวให้แก่บุตรชาย
“ลูกยังยอมสูญเสียสิ่งที่รัก แม่ก็จะสูญเสียสิ่งที่รักสิ่งนึง นอกจากเพนกวินแล้ว แม่จะเริ่มต้นด้วยการโกนผมทิ้ง ขอให้ทุกท่านได้เห็นดิฉันเดินไปไหนด้วยการไม่มีผมบนศีรษะ ก็คงน่าเกลียดพอสมควร ก็ขอให้ท่านรู้ว่า นี่คือความยุติธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมันน่าเกลียดกว่านี้… ลูกดิฉันไม่ได้รับความยุติธรรมในการต่อสู้คดี ลูกดิฉันกำลังเจ็บป่วยจากการอดอาหาร และขับถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ ซึ่งวันนี้เพนกวินอาจจะอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะน้ำเกลือไม่สามารถเข้าถึงตัวเพนกวินแล้ว” นางสุรีรัตน์ กล่าวแก่สื่อมวลชนที่ศาลอาญา
โดย นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า “จากการที่ทนายความเข้าไปเยี่ยมน้องเพนกวินที่เรือนจำวันนี้อาการไม่ดีอย่างมาก เกี่ยวกับสภาพร่างกายของเขา คิดว่าวันนี้จะมายื่นให้ศาลเห็นในประเด็นนี้ เร่งด่วน ถ้าศาลท่านจะไต่สวนก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่อนุญาตให้ประกันตัว เราเทียบเคียงเหตุผลทุกอย่างมาตามคำสั่งที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวคุณไผ่ กับคุณสมยศ ทั้งหมดทุกประเด็น”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 17.39 น. ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า ศาลได้นัดไต่สวนการขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายพริษฐ์ และ น.ส.ปนัสยา ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 โดยจะได้เบิกตัวคนทั้งคู่จากที่คุมขังมาฟังการไต่สวนด้วย
แม่รุ้ง-นักวิชาการยื่นจดหมายกรมราชทัณฑ์ร้องส่งเพนกวินไป รพ.
ในวันเดียวกัน นางสุริยา สิทธิจิรวัฒนกุล มารดาของ น.ส.ปนัสยา พร้อมด้วยตัวแทน เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้เดินทางไปยังกรมราชทัณฑ์เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขอให้ส่งตัวนายพริษฐ์ ไปรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน โดยมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับหนังสือแทน และในช่วงเย็นนายพริษฐ์ ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
“เมื่อวานนี้ได้พยายามยื่นขอประกันตัวไปแล้ว แต่ก็ได้รับคำปฏิเสธเหมือนเดิม ซึ่งก็คงต้องพยายามยื่นขอประกันตัวไปเรื่อยๆ พร้อมกับหาแนวทางอื่นต่อไป ในวันนี้อยากขอความเมตตาจากกรมราชทัณฑ์ให้เมตตากับเด็กๆ ได้ออกมารักษาข้างนอกก่อน อาการของรุ้งในตอนนี้มีอาการมือชา เท้าชา และตัวชา ทำกิจกรรมไม่ไหวแล้ว” นางสุริยา กล่าวแก่สื่อมวลชน
ขณะที่ ประชาชน และนักศึกษาจากกลุ่มแนวรวมธรรมศาสตร์และการชุมนุมหลายสิบคน ได้จัดกิจกรรมขึ้นที่หน้าศาลอาญาในช่วงเย็น เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับนายพริษฐ์ และจำเลยคดีการเมืองรายอื่นๆ มีนักกิจกรรมบางคนได้ตัดสินใจโกนผม เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในแนวทางเดียวกันกับมารดาของนายพริษฐ์
ด้าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายพริษฐ์ และยืนยันสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาคดีการเมือง
“การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนักกิจกรรมโดยไม่มีเหตุอันชอบธรรม ตอกย้ำว่าทางการไทยไม่เคารพสิทธิในการได้รับพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม อีกทั้งยังขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การปล่อยชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาทุกคนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยืนยันว่ารัฐบาลต้องปล่อยตัวนักกิจกรรมเพื่อให้พวกเขามีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมเพียงเพราะการชุมนุมเเละการเเสดงออกทางการเมือง” นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนล ประเทศไทย กล่าว
กลุ่ม “ราษฎร” เริ่มชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดการชุมนุมในลักษณะนี้หลายครั้งในหลายจังหวัด โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลัก ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาการชุมนุมดังกล่าว นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีของนักกิจกรรม โดยเฉพาะแกนนำปราศรัย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 88 ราย ใน 81 คดี โดยผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ นายพริษฐ์ 20 คดี, นายอานนท์ 12 คดี, น.ส.ปนัสยา 9 คดี และนายภาณุพงศ์ 8 คดี โดยปัจจุบัน มีผู้ที่ต้องถูกควบคุมตัวด้วย ข้อหา ม.112 จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง และวิพากษ์-วิจารณ์ สถาบันพระมหากษัตริย์ในปี 2563-2564 จำนวน 17 คน