เพื่อไทยพร้อมนำข้อเสนอแก้ ม. 112 เข้าสู่สภา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.11.01
กรุงเทพฯ
เพื่อไทยพร้อมนำข้อเสนอแก้ ม. 112 เข้าสู่สภา กลุ่มผู้ประท้วงชูสามนิ้ว ในระหว่างการประท้วงต่อต้านกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่กรุงเทพฯ วันที่ 31 ตุลาคม 2564
เอเอฟพี

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ในวันอาทิตย์ว่า จะนำข้อเสนอของประชาชนที่ต้องการให้แก้กฎหมายอาญามาตรา 112 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในอนาคต ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนจุดยืนของพรรคหลังจากที่ไม่แตะต้องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

แถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยมีขึ้นหลังจากกลุ่มราษฎร หลายพันคนออกมาร่วมชุมนุมประท้วง ที่แยกราชประสงค์ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

และในวันจันทร์นี้ น.ส. ปนัสยา “รุ้ง” สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำผู้ประท้วงเพื่อการยกเลิกมาตรา 112 และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทางสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองและการชุมนุมทางการเมือง

นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ในคืนวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับที่มีการชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่แยกราชประสงค์ โดยระบุว่า จะนำข้อเรียกร้องของประชาชนมาพิจารณาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่กระบวนการยุติธรรม และหลักนิติรัฐ

“ปัญหาการใช้กฎหมายอาญาดำเนินคดีเพื่อจำกัดความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างอย่างล้นเกิน ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116… พรรคเพื่อไทย… พร้อมนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้ดุลยพินิจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ และตรวจสอบการสั่งการโดยรัฐบาล รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม” แถลงการณ์ ระบุ

การแถลงการณ์ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทย พรรคที่มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดถึง 134 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง แสดงจุดยืนต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 แม้ว่าประชาชนจะพยายามเรียกร้อง และเสนอให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกตลอดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ประกาศจุดยืนที่ต่างออกไปในวันจันทร์นี้

“สำหรับในเรื่องของมาตรา 112 นั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความคิดในการที่จะไปแก้ไข ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้พูดมาตลอด เพราะเราคิดว่าการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทยของเรา” นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุผ่านเฟซบุ๊กเพจของพรรค

นายจอช เคอร์แลนท์ซิค สมาชิกอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Council on Foreign Relations (CFR) กล่าวว่า ขณะนี้ แนวทางดังกล่าวได้เปลี่ยนไปแล้ว อาจเป็นเพราะการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้น

“ผมคิดว่าอาจเป็นการดึงดูดกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อายุน้อย [จาก] ที่ได้ให้การสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่มาก่อน” จอช เคอร์แลนท์ซิค บอกกับเบนาร์นิวส์ โดยอ้างถึงพรรคที่ขณะนี้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น พรรคก้าวไกล

“อาจมีบางคนในพรรคเพื่อไทยที่เชื่อว่า นี่คือก้าวที่ถูกต้องแล้วในตอนนี้"

แต่ขณะที่ผมคิดว่า อันนี้เป็นจุดสำคัญในการเมืองไทย แต่ผมไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น เพราะอำนาจของกองทัพและสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นอยู่”

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ในกรุงเทพฯ มีประชาชนจำนวนมากประท้วงขับไล่รัฐบาล โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลักคือ 1. นายกรัฐมนตรีต้องลาออก 2. ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. ต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมีการประท้วงด้วยข้อเรียกร้องเดียวกันในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน

ด้วยการเรียกร้องมีการพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ พลเอก ประยุทธ์ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เริ่มใช้ ม. 112 ดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 154 คน ใน 159 คดี ที่ถูกแจ้งข้อหา ม. 112 ซึ่งนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ นายอานนท์ นำภา แกนนำการประท้วงถูกดำเนินคดีด้วย ม. 112 มากที่สุด คือ 21 และ 14 คดีตามลำดับ

รุ้ง และแอมเนสตี้ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เลิกดำเนินคดี และปล่อยตัวผู้ชุมนุม

ในวันจันทร์ น.ส. ปนัสยา และนักกิจกรรมหลายสิบคน พร้อมด้วยตัวแทนจากแอมเนสตี้ฯ ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องซึ่งมีประชาชนร่วมลงนาม 28,426 รายชื่อ ถึง พล.อ. ประยุทธ์ โดยในเวลา 10.00 น. ช่วงเริ่มต้นของการเรียกร้อง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งรั้วกีดขวางบนถนนพิษณุโลก เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินเท้าไปถึงทำเนียบรัฐบาลได้ ก่อนที่ภายหลังจะมีตัวแทนนายกรัฐมนตรีมารับหนังสือ

“มันน่าอับอายมาก ๆ ต่อการที่เราพร่ำพูดว่าประเทศเราเป็นประชาธิปไตย... แล้วพอเราเรียนมา เรารู้ปัญหา เราออกมาพูดคุณก็จับขังพวกเรา ดำเนินคดีกับพวกเรา สิ่งที่เราอยากจะขอวันนี้ คือ คืนสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน เพราะเขาไม่ควรจะไปอยู่ในนั้นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว”​ น.ส. ปนัสยา กล่าวกับสื่อมวลชน

ด้าน นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ระบุว่า “เราร่วมกับกับประชาชนทั้งประเทศ ทั้งส่งจดหมาย ส่งรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้นายกฯ พิจารณา และทำตามหน้าที่ที่ประเทศไทย มีพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ในสิทธิการแสดงออกและการชุมนุม และสิทธิทางการเมือง รวมทั้งสืบสวนสอบสวนการคุกคามของเจ้าหน้าที่”​

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องโดยสรุปที่ประชาชนร่วมกับแอมเนสตี้ ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี คือ 1. ยุติการดำเนินคดีอาญา และปล่อยตัวบุคคลที่ใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง 2. อนุญาตให้ประชาชนแสดงออกและชุมนุมโดยสงบ ไม่มีการจำกัดสิทธิ และ 3. ดำเนินการสอบสวนโดยไม่ลำเอียง และโปร่งใส ต่อการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม วันจันทร์นี้ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากเดินทางไปร่วม ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่สกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2564 โดย นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือแทน

“หลังจากได้รับหนังสือ ผมก็จะได้รีบนำเสนอท่านนายกรัฐมนตรี พิจารณาข้อเสนอของกลุ่มต่อไป ไม่ต้องห่วง” นายสมพาศ กล่าว

ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปี เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ทั้งระดับแกนนำปราศรัย และผู้ร่วมกิจกรรม แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมอย่างน้อย 1,634 ราย โดยในนั้นเป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 257 ราย

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ปัจจุบัน มีผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากคดีการเมืองอย่างน้อย 27 ราย ในนั้นมีแกนนำประท้วง เช่น นายอานนท์, นายพริษฐ์ ชิ และนายปฏิภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน เป็นต้น โดยทั้งหมดเป็นการถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดี หรือการสืบสวน ในจำนวน 27 ราย มี 1 รายเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี และคนที่ถูกควบคุมตัวนานที่สุดถูกควบคุมตัวแล้วเกินกว่า 80 วัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง