วาฤทธิ์ เหยื่อถูกยิงแยกดินแดงวัย 15 เสียชีวิตหลังโคม่ากว่า 2 เดือน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์
2021.10.29
กรุงเทพฯ
วาฤทธิ์ เหยื่อถูกยิงแยกดินแดงวัย 15 เสียชีวิตหลังโคม่ากว่า 2 เดือน ภาพของนายวาฤทธิ์ สมน้อย ที่ผู้ชุมนุมนำมาวางเพื่อร่วมไว้อาลัยในการเสียชีวิต ที่แยกดินแดง วันที่ 29 ตุลาคม 2564
ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์

ตำรวจแถลงในวันศุกร์นี้ว่า รู้สึกเสียใจกับการเสียชีวิตของ นายวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งถูกยิงตรงข้าม สน.ดินแดง หลังอาการโคม่ามาเป็นเวลา 2 เดือนเศษ ด้าน ครอบครัวของนายวาฤทธิ์ระบุ ต้องการให้ตำรวจเร่งสืบสวนและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ขณะเดียวกัน กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้รวมตัวที่แยกดินแดง เพื่อรำลึกถึงการจากไปของนายวาฤทธิ์ด้วย

พล.ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษก และรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวในการแถลงข่าวว่า ต้องการให้ นายวาฤทธิ์เป็นเหยื่อของความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมืองคนสุดท้าย โดยเรียกร้องให้ครอบครัวดูแลและตักเตือนผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมในอนาคต

“กรณีของน้องวาฤทธิ์เป็นตัวอย่างที่สำคัญของการสูญเสียนำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจ… อยากจะวิงวอนทุกหมู่เหล่าว่า การกระทำใด ๆ ก็ตาม ขอให้ปฏิบัติ อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ขอเรียกร้องอย่าได้มีการใช้ความรุนแรง อย่าได้มีการก่อเหตุความไม่สงบ ก่อเหตุความวุ่นวาย และนำมาซึ่งการสูญเสีย” พล.ต.ต. จิรสันต์ กล่าว

ทั้งนี้ นายวาฤทธิ์ ถูกยิงในช่วงค่ำของวันที่ 16 สิงหาคม 2564 บนถนนมิตรไมตรี ฝั่งตรงข้ามกับ สน.ดินแดง กระสุนทะลุคอและหัวกระสุนฝังในก้านสมอง ถูกนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี และมีอาการโคม่า ตั้งแต่นั้นกระทั่งเสียชีวิต เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ในเดือนกันยายน 2564 คณะทำงานศึกษากรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมือง​สภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงความคืบหน้าการติดตามคดีดังกล่าวว่า จากการรวบรวมภาพจากกล้องวงจรปิด สื่อมวลชน และการลงพื้นที่ ทำให้ทราบว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุอาจมีถึง 12 คน และอาจเชื่อมโยงกับตำรวจ เพราะปรากฏภาพว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยรวมตัวอยู่ในเขตรั้วของ สน.ดินแดง ในเวลาไล่เลี่ยการเกิดเหตุ

กระทั่งวันที่ 30 กันยายน 2564 บช.น. แถลงว่า สามารถจับกุมตัว นายชุติพงศ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี ในข้อหาพยายามฆ่า และมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครอง ในฐานะผู้ต้องสงสัยก่อเหตุยิงนายวาฤทธิ์ โดยนายชุติพงษ์ ได้หลบหนีออกจากกรุงเทพฯ ไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีหลังเกิดเหตุ เบื้องต้น นายชุติพงศ์ให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน

ช่วงค่ำของวันพฤหัสบดี น.ส.นิภาพร สมน้อย มารดาของนายวาฤทธิ์ กล่าวกับสื่อมวลชนที่วัดน้อยสุวรรณนาราม ระหว่างการสวดอภิธรรมศพนายวาฤทธิ์ว่า “ครอบครัวเราขาดร้อยยิ้มไปรอยนึง ดวงใจแม่ขาด ดวงใจแทบสลายแล้ว คดีนี้ควรที่จะกระจ่างมันไม่ควรที่จะเงียบ”

ขณะที่ นายสุชิติ ชัยนอก อายุ 45 ปี บิดาของนายวาฤทธิ์ กล่าวว่า “2 เดือนกับ 12 วัน มันมีคำถามในใจหลายอย่าง เราไปส่งเอกสารมากมาย (ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) มันเพียงพอจะจับคนร้ายได้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าที่จับได้ใช่คนร้ายตัวจริงไหม เพราะเขาบอกว่าไม่ใช่คนยิง แต่คนทั่วไปคงเข้าไปใน สน. ไม่ได้”

สำหรับความคืบหน้าของคดี พล.ต.ต. จิรสันต์ ระบุในวันศุกร์นี้ว่า “จากการสอบสวน ยังไม่มีผู้กระทำความผิดเพิ่มเติม ดังนั้นยังมีผู้ต้องหาเพียง 1 คนเช่นเดิม กรณีที่น้องเสียชีวิต พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการออกหมายเรียกผู้ต้องหามาแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ข้อเดิมคือ พยายามฆ่า ข้อหาใหม่ก็คือ ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา”

211029-TH-protests-teen-dead-inside.jpg

ผู้ชุมนุมรวมตัวร่วมไว้อาลัยในการเสียชีวิตของ นายวาฤทธิ์ สมน้อย ที่แยกดินแดง วันที่ 29 ตุลาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

ในวันศุกร์นี้ ที่แยกดินแดง กลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้นัดรวมตัวเพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของ นายวาฤทธิ์ ซึ่งถือเป็นผู้ที่เสียชีวิตจากการร่วมชุมนุมทางการเมือง ระหว่างปี 2563-2564 คนแรก โดย นางหญิง (สงวนนามสกุล) ผู้เข้าร่วมการรำลึกที่แยกดินแดง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ติดตามคดีเลย สองเดือนกว่าแล้ว ก็ยังเอาคนผิดมาไม่ได้

“คุณต้องเร่งหาคนทำร้ายน้อง ออกมารับผิดชอบน้อง มันเป็นพื้นที่ของคุณ ออกมาจากโรงพักของคุณ คุณต้องรับผิดชอบ ต้องดำเนินคดีอย่างเท่าเทียมกัน” นางหญิง กล่าวกับเบนาร์นิวส์

การชุมนุมรำลึกครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในเวลา 17.00 น. มีผู้ร่วมวางดอกไม้ จุดธูป-เทียนไว้อาลัยอย่างล้นหลาม โดยแบ่งออกเป็น 2 จุด คือหน้าตึก สน.ดินแดง และหน้าทางเข้า สน.ดินแดง ซึ่งเป็นจุดที่นายวาฤทธิ์ถูกยิง ทั้งนี้ มีผู้นำน้ำแดงมาราดบนกองดอกไม้ เพื่อเป็นการไว้อาลัยอีกด้วย ท่ามกลางประชาชนที่ทยอยเดินมามาร่วมรำลึกอย่างต่อเนื่อง

ต่อการเสียชีวิตของนายวาฤทธิ์ นายเนียง ลิน นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชี้ว่า รัฐบาล และตำรวจจำเป็นต้องเร่งค้นหาความจริง โดยที่ผ่านมา รัฐไม่ได้แสดงท่าทีที่จะรับผิดชอบ หรือกระตือรือร้นในการสืบสวนหาความจริง

“น่าเศร้ามากที่เด็กคนหนึ่งต้องเสียชีวิต โดยรัฐไม่แสดงความพยายามที่จะรับผิดชอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ตำรวจไม่ได้ติดต่อไปยังพ่อแม่ของเด็ก การที่ตำรวจขู่ว่าจะฟ้องคนที่เผยแพร่คลิปเหตุการณ์วันนั้น แสดงถึงความไม่เอาใจใส่ของรัฐ รัฐมีปัญหาเรื่องการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง"

"สิ่งที่เกิดขึ้นไปไกลกว่าคำว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน ชาวโลกเห็นแล้วว่า ไทยไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนให้มีส่วนร่วมทางการเมือง” นายเนียง กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ การชุมนุมที่ดินแดงเป็นส่วนนึงของกระแสการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุม และแสดงความเห็นทางการเมือง อย่างน้อย 1,458 คน ในจำนวน 794 คดี และมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีหรือสอบสวนอย่างน้อย 20 ราย

สำหรับ การชุมนุมที่แยกดินแดง เริ่มขึ้นในต้นเดือนสิงหาคม 2564 และกลายเป็นพื้นที่ปะทะด้วยอาวุธระหว่าง ผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) มีการเผายาง เผาป้อมตำรวจ เผารถยนต์ของเจ้าหน้าที่ ฝ่ายผู้ชุมนุมมีการใช้ประทัดยักษ์ ระเบิดปิงปอง รวมถึงพลุไฟ ขณะที่ คฝ. มีการใช้ปืนยิงกระสุนยาง กระบองไม้ ปืนฉีดน้ำสารเคมี แก๊สน้ำตา ตอบโต้ผู้ชุมนุม มีการขับรถชน และเข้าจับกุมอย่างรุนแรง

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมของ คฝ. กว่า 100 ราย โดยในนั้นมีเด็ก เยาวชน และสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการสรุปจำนวนผู้บาดเจ็บที่แน่ชัด

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง