ประชาชนรวมตัวข้างทำเนียบ เรียกร้องรัฐแก้ปัญหาของแพง
2022.01.18
เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ
ประชาชนจัดกิจกรรมชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาลในวันอังคารนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง ด้าน คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 1.4 พันล้านบาท แก้ปัญหา ขณะที่ นักวิชาการเสนอรัฐบาลแทรกแซงตลาด แก้ปัญหาราคาเนื้อหมู
ประชาชนในนาม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี, ทะลุฟ้า และองค์การบริหารองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ร่วมร้อยคนรวมตัวกันที่ข้างทำเนียบรัฐบาลฝั่งถนนพิษณุโลก ในเวลา 09.30 น. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะเรื่องราคาสินค้า และค่าครองชีพ
นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ชุมนุมจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า “ไม่นานมานี้เกิดโรคอหิวาต์หมูระบาด รัฐบาลต้องเยียวยาเกษตรกรรายย่อยตามความเสียหายที่แท้จริง เพราะหน่วยงานรัฐอย่างกรมปศุสัตว์ไม่เคยที่จะแจ้งให้หน่วยงานรัฐได้ระมัดระวังว่าจะมีโรคระบาดในหมูเกิดขึ้น นี่เป็นการช่วยปกปิด เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ส่งออกเนื้อหมูไปต่างประเทศหรือไม่”
ด้าน นายเซีย จำปาทอง ผู้ชุมนุมจากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ชี้ว่า รัฐบาลควรเร่งปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเพื่อช่วยให้ประชาชนมีรายได้สอดคล้องกับค่าครองชีพ
“ค่าจ้างขั้นต่ำที่ประยุทธ์สัญญาว่าจะให้ที่ 425 บาท แต่ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเพียง 30 กว่าบาท ปัจจุบัน พื้นที่ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ 331 บาทเท่านั้น แต่ค่าครองชีพขึ้นเอาๆ หมูราคาขึ้นเป็น 270 บาทแล้ว… คนที่เป็นแรงงานมีต้นทุนในการใช้จ่ายมากมาย ต้องดูแลครอบครัวและอื่น ๆ แต่ตอนนี้แค่ปัจจัยสี่ในดำรงชีวิตยังหาซื้อลำบากเลย” นายเซีย กล่าว
ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ชุมนุมได้ยุติการชุมนุมในช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. โดยได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกมีถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อเรียกร้องโดยสรุปดังนี้ 1. รัฐต้องตรวจสอบการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จัดตั้งกองทุนเพื่อเกษตรกร และป้องกันการผูกขาดของบริษัทเอกชนใหญ่ 2. รัฐต้องลดภาษีมูลค่าเพิ่ม, ลดค่าเทอมสถานศึกษา, ลดค่าโดยสารสาธารณะ ไฟฟ้า ประปา และแก๊ส, เพิ่มเงินยังชีพผู้สูงอายุ และเพิ่มค่าแรง
จากการสำรวจของเบนาร์นิวส์ พบว่า ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2564 หลายชนิด เช่น เนื้อหมู ปัจจุบัน กิโลกรัมละ 200-300 บาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2564 กิโลกรัมละประมาณ 150 บาท, เบนซิน แก๊สโซฮอลล์ 95 ปัจจุบัน ประมาณลิตรละ 31 บาท ขณะที่ปีก่อนลิตรละ 24 บาท, ดีเซล บี 7 ปีนี้ ราคาประมาณลิตรละ 29 บาท ขณะที่ปีก่อนลิตรละ 25 บาท
โดยสินค้าประเภทอื่นก็มีราคาเพิ่มขึ้นแตกต่างกันไป ขณะที่ ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศ 330 บาทต่อวัน ซึ่งเพิ่มจาก ปี 2554 ที่มีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เพียง 30 บาทเท่านั้น
รัฐอนุมัติงบกลางช่วยการตลาด จำหน่ายสินค้าราคาประหยัดให้ประชาชน
ด้านปัญหาสินค้าราคาแพง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในวันอังคารนี้ โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระจายสินค้าราคาถูก เพื่อจำหน่ายในกว่า 3,000 จุดทั่วประเทศ ภายใน 90 วัน
“คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินงบประมาณจำนวน 1.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นงบกลาง ให้ดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน 2565… โดยดำเนินการในรูปแบบการจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพให้กับประชาชนในราคาประหยัด มีระยะเวลาดำเนินการ 90 วัน… รัฐบาลทุกหน่วยงาน เข้าไปติดตาม เพื่อกำกับและแก้ไขไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะการกักตุนสินค้า และการขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผลสมควร และได้ขอให้ตรึงราคาในธุรกิจรายใหญ่และรายย่อย” นายธนกร กล่าว
ก่อนหน้านี้ ราคาเนื้อหมูในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ต้นเหตุของราคาเนื้อหมูแพง มาจากปริมาณสุกรในประเทศไทยที่ลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีสุกรจำนวนมากตายจากโรค ASF และโรคสุกรอื่น ๆ แต่ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ไม่เคยยืนยันว่า ASF มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยพบเพียงการระบาดในบางพื้นที่
ต่อมาต้นเดือนมกราคม 2565 กระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งให้ ประเทศไทยงดส่งออกสุกรมีชีวิต 3 เดือน จนถึงวันที่ 5 เมษายน 2565 เพื่อแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูราคาแพง ซึ่งจากการประเมินเชื่อว่า ปี 2565 ไทยจะมีสุกรเหลือเพียง 13 ล้านตัว แต่ความต้องการในการบริโภคในประเทศยังอยู่ที่ 18 ล้านตัว ทั้งที่ในปี 2564 ไทยมีสุกรมีชีวิต 19 ล้านตัว และมีความต้องการในประเทศ 18 ล้านตัว
ต่อปัญหาดังกล่าว ผศ.ดร. เออวดี เปรมัษเฐียร จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ชี้ว่า รัฐจำเป็นต้องแทรกกลไกตลาดเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาเนื้อหมูสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
“หากเราปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ราคาเนื้อหมูจะสูงขึ้นไปอีก เพราะอุปทานไม่เพียงพอ และจะขึ้นไปเรื่อย ๆ ตลอด 8 เดือนข้างหน้า ราคาเนื้อหมูอาจขึ้นไปสูงถึง 300 บาทต่อกิโลกรัมในราคาขายปลีก… แต่หากรัฐเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด โดยการใช้เงินเข้ามาอุดหนุนหรือตรึงราคา เพื่อไม่ให้ราคาสูงกว่าเดิม จะช่วยให้ราคาลดลง แต่รัฐบาลอาจสูญเสียเงินมากถึง 1,500 ล้านบาทต่อเดือน และทำได้ในระยะสั้นเท่านั้น” ผศ.ดร. เออวดี กล่าว
ต่อปัญหาราคาเนื้อหมูแพง นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 ว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาเนื้อหมูราคาแพงให้ภายใน 4 เดือน โดยขอความร่วมมือกับฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ให้ขายลูกสุกรให้แก่ผู้เลี้ยงรายย่อย และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร