โค้งสุดท้าย เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.05.20
กรุงเทพฯ
โค้งสุดท้าย เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ หญิงสาวนั่งอยู่หน้าบ้านห้องแถว บนถนนที่น้ำท่วม หลังจากฝนตกหนัก ในกรุงเทพฯ วันที่ 18 พฤษภาคม 2565
เอเอฟพี

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ จะเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่ชาวกรุงเทพฯ ได้ลงคะแนนเสียงเพื่อเลือก ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสมาชิกสภากรุงเทพฯ (สก.)

เย็นวันศุกร์นี้ ผู้สมัครจึงใช้เป็นช่วงเวลาของการปราศรัยใหญ่ เพื่อร้องขอคะแนนเสียงเป็นครั้งสุดท้าย โดยผู้สมัครแต่ละคนจัดเวทีของตัวเอง เพื่อบอกเล่านโยบาย สิ่งที่พวกเขาหวังจะทำให้กรุงเทพฯ ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า

คนพยายามพูดว่า มันมีฝั่งประชาธิปไตยกับฝั่งเอา พลเอก ประยุทธ์ เช่น ก้าวไกล กับชัชชาติ อยู่ฝั่งประชาธิปไตย สกลธี อัศวิน สุชัชวีร์ ก็อยู่อีกฝั่ง เชื่อว่า การเลือกตั้ง กทม. มันจะชี้ผลการเลือกตั้งระดับชาติในครั้งต่อไปได้ แต่แตกต่างกันเล็กน้อย การลงอิสระก็เป็นที่นิยม เพราะการประกาศว่าอยู่พรรคอะไร การไปล้วงคะแนนจากอีกขั้วอุดมการณ์มันยาก การลงอิสระทำให้การล้วงคะแนนยังพอเป็นไปได้

แต่การเลือกตั้งผู้ว่าจะไม่สามารถชี้ผลการเลือกตั้งใหญ่ของทั้งประเทศได้ เพราะส่วนใหญ่ผลการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ กับทั่วประเทศ มักสวนทางกัน แต่แน่นอนว่า มันสัมพันธ์กับผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในกรุงเทพฯ ครั้งต่อไปอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม 2556 โดย ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ สามารถเอาชนะ พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ ของพรรคเพื่อไทยด้วยคะแนน 1.25 ล้านเสียงต่อ 1.07 ล้านเสียง จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 4.2 ล้านคน

ต่อมาปี 2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้สั่งปลด ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีข้อครหาเรื่องการทุจริต และได้แต่งตั้ง พล.ต.อ. อัศวิน รองผู้ว่าฯ ขึ้นเป็น ผู้ว่าฯ แทน ทำให้ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ อีกจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปี 2565 นี้จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 4.7 ล้านคน โดยมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 31 คน และใน 50 เขตจะมีผู้ลงสมัครรับเลือกเป็น สก. อีกจำนวนหนึ่ง

การขับเคี่ยวระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ ถือว่าเข้มข้นกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะมีผู้สมัครเด่นหลายคน

220520-Chadchart Sittipunt0.jpg

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ อดีต รมว. กระทรวงคมนาคม เบอร์ 8 ที่ชูนโยบายกว่า 200 นโยบาย ทั้งเรื่องความปลอดภัย น่าอยู่ และปากท้องของชาวกรุงเทพ ทั้งยังลงพื้นที่หาเสียงมาแล้วกว่า 2 ปี ขณะปราศรัยหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 (เบนาร์นิวส์)

220520-Wiroj Lakkhanaadisorn_Geng2.jpg

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครพรรคก้าวไกล เบอร์ 1 อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่เน้นแนวทางการชนกับปัญหาโครงสร้าง แก้ความเหลื่อมล้ำ และจัดการกับทุจริต ซึ่ง 2 คนแรกนี้ ถือว่าเป็นตัวแทนฝ่ายก้าวหน้า-ประชาธิปไตย วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 (เบนาร์นิวส์)

220520-Aswin Kwanmuang_stringer1.jpg

ขณะที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ อดีตผู้ว่าฯ คนล่าสุด เบอร์ 6 ก็ชูนโยบายสานต่อสิ่งที่ได้เคยทำไว้ ทั้งการแก้ปัญหาจราจร น้ำท่วม จึงชูสโลแกน “กรุงเทพต้องไปต่อ” วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 (เบนาร์นิวส์)

220520-Sakoltee Phattiyakul1.jpg

สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 3 อดีตรองผู้ว่าฯ และแกนนำ กปปส. ก็เน้นนโยบายทำได้ทันที และหวังจะทำให้กรุงเทพฯ ดีกว่าเดิม โดยเน้นเรื่องการพัฒนาค่าครองชีพ ปากท้องของคนเมือง วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 (เบนาร์นิวส์)

220520-Suchatvee Suwansawat2.jpg

ด้าน สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 4 อดีต อธิการบดี มจล. ที่เน้นนโยบายที่ทันสมัย โดยเชื่อว่า ตนเองพร้อมที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯให้ดีขึ้น ด้วยเทคโนโลยี ซึ่ง 3 คนหลัง ถูกมองในฐานะตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์นิยม วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 (เบนาร์นิวส์)

นาวา สังฆ์ทอง, ศรุมณย์ นรฤทธิ์, และไลลา ตาเฮ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง