พล.อ. ประยุทธ์ เก้าอี้ร้อนก่อนการเลือกตั้ง

แฮร์รี่ เพิร์ล
2023.05.11
กรุงเทพฯ
พล.อ. ประยุทธ์ เก้าอี้ร้อนก่อนการเลือกตั้ง ผู้โดยสารนั่งรถเมล์ผ่านโปสเตอร์หาเสียงของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้สมัครพรรครวมไทยสร้างชาติ ในกรุงเทพฯ วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม
เอเอฟพี

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเผชิญกับความท้าทายทางด้านการเมืองที่หนักหน่วงที่สุดในชีวิต ขณะที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยในวันอาทิตย์นี้ ซึ่งผลที่ออกมาอาจจะนำไปสู่การสิ้นสุดของการครองอำนาจของทหารที่มีมานานเกือบสิบปี

ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงรุ่นใหม่หวังว่าพวกเขาจะสามารถนำพาประเทศเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยที่เบ่งบานได้ แต่แม้ว่าผลโพลต่าง ๆ จะบ่งชี้ว่าฝ่ายค้านมีคะแนนเหนือกว่าอีกฝ่าย แต่ยังไม่มีความหวังว่าพรรคใดจะได้คะแนนในสภาเป็นเอกฉันท์ นั่นหมายความว่า ใครจะมาเป็นผู้นำรัฐบาลก็ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองกับอำนาจ ซึ่งวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งโดยทหารมีบทบาทสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. นี้ เป็นการต่อสู้ระหว่างตระกูลชินวัตรและสายทหาร ที่คว่ำนายกรัฐมนตรีในตระกูลชินวัตรมาแล้วถึงสองคน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผลการสำรวจคะแนนนิยมของพรรคการเมืองออกมาว่าพรรคฝ่ายค้านมีเสียงนำพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยที่มีแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของอดีตนายกรัฐมมตรี ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวชูโรง มีคะแนนนำเป็นอับดับหนี่ง ตามมาด้วยพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคหัวก้าวหน้า 

แต่กระนั้นการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องขึ้นอยู่กับการต่อรองอำนาจของวุฒิสมาชิก “การเลือกตั้งจะกลายเป็นเหมือนการลงประชามติรับรองให้เป็นนายกรัฐมนตรี” ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักวิชาการ โครงการไทยศึกษาของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ประเทศสิงคโปร์

“ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง ครั้งนี้อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองจากรัฐบาลทหารในคราบประชาธิปไตยมาเป็นรูปแบบอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง”

 230511-th-election-curtain-raiser-Paetongtarn.jpg

แพทองธาร ชินวัตร ผู้สมัครแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และปิฎก สุขสวัสดิ์ สามี ยืนข้างตู้อบสำหรับทารกแรกเกิดของเธอ ระหว่างแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 (อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)

วาระสุดท้ายของประยุทธ์หรือ

เป็นเวลาเก้าปีแล้วที่ประเทศไทยอยู่ใต้คราบเงาของทหาร มีการลิดรอนเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย และทหารได้บริหารประเทศที่ธนาคารโลกระบุว่ามีความไม่เท่าเทียมกันมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

นักสังเกตการณ์ระบุว่าการเลือกตั้งคราวนี้ อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของ พล.อ. ประยุทธ์ วัย 69 ปี ผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้เป็นผู้นำประเทศสองสมัยภายหลังจากการทำรัฐประหารในปี 2557

เมื่อเดือนธันวาคม พล.อ. ประยุทธ์ ได้ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และร่วมก่อตั้งพรรคใหม่ คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ และกลายเป็นพรรคคู่แข่งกันเอง ขณะที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็หาเสียงแข่งกับ พล.อ. ประยุทธ์ ในการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะรอดพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภามาได้หลายครั้ง แต่ในการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ อาจจะหมายถึงการสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี และหากว่า พล.อ. ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ก็จะอยู่ในตำแหน่งได้ถึงเดือนเมษายน ปี 2568 เท่านั้น

ในการหาเสียงที่โรงเรียนชะอวด ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันพฤหัสบดีนี้ พล.อ. ประยุทธ์ได้กล่าวอ้างถึงประสบการณ์ในการบริหารประเทศของตน

“เราอยู่กันมานานแล้ว เรารู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน การแก้ปัญหาให้กับคนเจ็ดสิบล้านคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมทำสำเร็จมาหลายเรื่องแล้ว” พล.อ. ประยุทธกล่าวต่อประชาชนที่มาฟังการปราศรัยนับพันคน

 230511-th-election-curtain-raiser-Prayuth-takraw.jpg

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เล่น “ตะกร้อ” ขณะเดินหาเสียงเลือกตั้งในสวนลุมพินี กรุงเทพฯ วันที่ 20 เมษายน 2566 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

ในการเลือกตั้งวันอาทิตย์นี้ มีประชาชนมีสิทธิ์ออกเสียงกว่า 52 ล้านคน ในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน เพื่อทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติแทนประชาชนในอีกสี่ปีต่อไป

พรรคต่าง ๆ ได้ให้สัญญาในการหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม เช่น การลดภาระค่าครองชีพ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปรับสภาพหนี้สิน และการปรับปรุงการคมนาคมขนส่ง

ขณะที่รอยแยกของการลงคะแนนอยู่ที่ว่าผู้ลงคะแนนเสียงเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และว่าผู้มีสิทธิ์ออกเสียงอยู่ในช่วงอายุใด ผู้ลงคะแนนรุ่นเยาวชนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อน

“ในเขตบ้านหนูยังไงก็สู้กันระหว่างเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ จึงจำเป็นต้องเลือกเพื่อไทย ส่วนปาร์ตี้ลิสต์เลือกก้าวไกลค่ะ เหตุผลคือเราอยากเห็นสิ่งใหม่ อยากเห็นคนรุ่นใหม่บริหารประเทศบ้าง” นางสาววิชิดา บุญสะเติม อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ด้าน นายประสิทธิ ชลประธาน อายุ 59 ปี อาชีพรับข้าราชการ มีความกังวลว่ารัฐบาลหัวก้าวหน้าอาจจะทำให้เกิดความปั่นป่วน

“สำหรับผม ผมทำงานราชการ ทุกอย่างตอนนี้มันก็ลงตัวหมดแล้ว ไม่รู้ว่าถ้าเพื่อไทยหรือก้าวไกลมาจะต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง เราจะวุ่นหรือเปล่า ผมก็เลยคิดว่าคงเลือกภูมิใจไทย ผมไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรให้มากนัก” นายประสิทธิกล่าวกับเบนาร์นิวส์

ขณะที่ พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวตอบคำถามของผู้สื่อข่าวถึงโอกาสของการเกิดรัฐประหารว่า ทางฝ่ายทหารนั้นยอมรับผลการเลือกตั้ง และไม่มีปัญหาหากว่าพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาล

 230511-th-election-curtain-raiser-Pita.jpg

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน เดินหน้าถ่ายภาพระหว่างหาเสียงเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ วันที่ 22 เมษายน 2566 (รอยเตอร์)

การตั้งพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ง่ายนัก

พรรคเพื่อไทยอยู่บนเส้นทางที่จะได้ที่นั่ง ส.ส. มากกว่าพรรคอื่น ๆ ตามมาด้วยพรรคก้าวไกลที่มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ วัย 42 ปี ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด เป็นหน้าพรรค

เนชั่นโพลที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ระบุว่า พรรคเพื่อไทยอาจจะได้ที่นั่ง ส.ส. แบบแบ่งเขต 247 ที่นั่ง จาก 400 ที่นั่ง อีก 100 ที่นั่ง คิดตามสัดส่วนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคได้มา

เพราะว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 ให้อำนาจ ส.ว. ที่ทหารเลือกมา 250 คน ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎรที่มีสมาชิก 500 คน ดังนั้นพรรคที่ร่วมกันตั้งรัฐบาลต้องมีเสียงอย่างน้อย 376 เสียง เพื่อให้เพียงพอกับการรับรองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ตนเสนอ

“วุฒิสมาชิกจะสามารถยุติความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. มากน้อยแค่ไหน เคน แมทธิส โลหะเทพนนท์ นักวิจัยรัฐศาสตร์ชาวไทยประจำมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

พรรคฝ่ายค้านทั้งสองพรรคได้แสดงจุดยืนเหมือนกันในการไม่ยอมร่วมจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือพรรคพลังประชารัฐ แต่การกระแนะกระแหนกันเองของเพื่อไทยและก้าวไกลได้รุนแรงขึ้นในสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เมื่อหัวหน้าพรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแซงหน้า น.ส. แพทองธาร

ไม่ว่าในกรณีใด ๆ พรรคเพื่อไทยไม่สามารถตั้งรัฐบาลเดี่ยวได้ และหากว่าพรรคหัวก้าวหน้าอย่างพรรคก้าวไกลนั้นสร้างปัญหาให้ตน พรรคเพื่อไทยคงต้องยื่นมือไปให้ฝั่งอนุรักษ์นิยม นักวิเคราะห์บางรายกล่าว

“ถ้าหากว่าพรรคเพื่อไทยชนะและได้ที่นั่งจำนวนมาก แต่ไม่สามารถต่อรองกับก้าวไกลได้ ก็เป็นไปได้ที่จะตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ" ฐิติพล ภักดีวานิช อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ขณะเดียวกัน การขอกลับมาบ้านเกิดของนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีที่โดนรัฐประหารเมื่อปี 2549 เพิ่มความปั่นป่วนให้กับวงการการเมืองในประเทศ นายทักษิณ บิดาของแพทองธาร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย โดนศาลสั่งจำคุกในอย่างน้อย 4 คดี รวมเป็นเวลา 12 ปี

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แพทองธาร กล่าวว่า บิดาของเธอสามารถหาทางกลับบ้านเองได้ และไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากพรรคเพื่อไทย แต่เพียงไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง อดีตนายกฯ วัย 73 ปี ได้ส่งข้อความทางโซเชียลมีเดียอีกครั้ง

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายทักษิณ ได้แสดงความปรารถนาที่จะกลับบ้านมากจากดูไบภายในเดือนกรกฎาคม ก่อนถึงวันเกิดของตนเพื่อมาเลี้ยงหลานชายคนใหม่

“ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ” นายทักษิณ กล่าวทางทวิตเตอร์

 นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง