5 ประเด็นน่าจับตาในการเลือกตั้ง 2566
2023.04.19
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
เหลือเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นี่คือ 5 ประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับการเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้
1 - การต่อสู้ระหว่างตระกูลชินวัตรกับฝ่ายทหาร
การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นคล้ายว่าจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างตระกูลการเมืองที่ร่ำรวยและมีอิทธิพลที่สุดอย่างตระกูลชินวัตร และนักการเมืองฝ่ายทหาร ผู้ซึ่งเคยร่วมกันล้มรัฐบาลที่นำโดยตระกูลชินวัตร ถึง 2 ครั้ง
ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม คือการต่อสู้ครั้งสุดท้ายเพื่ออยู่ในอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งครองทำเนียบรัฐบาลมาแล้วร่วมทศวรรษ นับตั้งแต่การยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นางสาวยิ่งลักษณ์ คือ น้องสาวคนสุดท้องของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยถูกทำรัฐประหารในปี 2549 ขณะเดียวกันก็มีสถานะเป็นอาของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคที่มีโอกาสจะชนะเลือกตั้งมากที่สุด
นางสาวแพทองธาร บุตรสาวคนเล็กของทักษิณ ได้รับคะแนนนิยมเหนือประยุทธ์ในโพลต่าง ๆ ขณะที่พรรคเพื่อไทยของเธอก็วาดหวังว่าจะสามารถคว้าชัยชนะและนำประเทศกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยได้สำเร็จ
อีกด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเองก็มีความใกล้ชิดกับกองทัพซึ่งทำหน้าที่พิทักษ์สถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันสูงสุดของประเทศ ขณะที่ในช่วงหลายปีหลัง รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ ก็พยายามใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อจัดการกับเยาวชน-ผู้ชุมนุมที่พยายามเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ขณะเดินทางไปยังหน่วยรับสมัครเลือกตั้ง อาคารไทย-ญี่ปุ่น วันที่ 3 เมษายน 2566 (เอพี)
แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในรัฐบาล ก็ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองฝ่ายทหารไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกต่อไป เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ได้แยกตัวออกจากพรรคพลังประชารัฐที่เคยสนับสนุนให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง ปี 2562 แล้วมาร่วมงานกับพรรคใหม่ “รวมไทยสร้างชาติ” ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขณะที่พลังประชารัฐเอง ก็เลือกที่จะเสนอ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พี่ชายคนสนิทของ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงเช่นกัน
2 - ขั้วรัฐบาลยังไม่ชัดเจน
เป้าหมายของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การคว้าที่นั่ง ส.ส. อย่างถล่มทลาย “แลนด์สไลด์” หลังจากเคยผิดหวังในการเลือกตั้งปี 2562 ที่แม้พวกเขาจะได้ ส.ส. มากที่สุด แต่กลับไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
นักวิเคราะห์มองว่า กติกาการเลือกตั้งสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคฝ่ายทหาร เนื่องจากรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ ส.ว. 250 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. 500 คน ที่เลือกโดยประชาชน
จากการสำรวจความคิดเห็นของโพลหลายสำนัก ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อไทยมีโอกาสที่จะได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของ ส.ส. 500 ที่นั่ง แต่พวกเขาจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้ ส.ส. อย่างน้อยที่สุด 376 ที่นั่ง เพื่อการันตีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
แต่เพราะยังไม่สามารถคาดเดาผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนได้ในตอนนี้ นักวิเคราะห์จึงมองว่า 2 พรรคคู่แข่งสำคัญอย่างเพื่อไทยและพลังประชารัฐอาจจะจับมือกันเพื่อตั้งรัฐบาล และ พล.อ. ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเอง ก็ไม่เคยปิดประตูแห่งโอกาสด้วยการชูสโลแกน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”
อย่างไรก็ตาม ทักษิณในฐานะผู้มีอิทธิพลทางความคิดของพรรคเพื่อไทยเคยแสดงความคิดเห็นต่อกระแสข่าวดังกล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ผมมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง เชื่อว่าพรรคไม่โง่พอที่จะยกตำแหน่งนายกฯ ให้ป้อม (พล.อ. ประวิตร)”
3 - เพื่อไทยอาจถูกยุบพรรคหลังการเลือกตั้ง
ผู้สันทัดกรณีบางคนเชื่อว่า “การแสดงความเห็น” ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ อาจส่งผลกระทบกับพรรคเพื่อไทย และนางสาวแพทองธาร เพราะความเห็นต่าง ๆ อาจถูกใช้เป็นหลักฐานการร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย เนื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองระบุว่า ห้ามบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคสามารถครอบงำพรรคได้
เมื่อเดือนธันวาคม 2565 มีผู้ร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สอบสวนกรณีที่นายทักษิณ แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ผ่านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของพรรคเพื่อไทย หาก กกต. เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย ก็อาจนำไปสู่การยุบพรรค เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน ที่ทักษิณเองก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง
หลังการเลือกตั้ง กกต. สามารถดำเนินการตรวจสอบคำร้องต่าง ๆ ที่อาจละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง หรือกฎหมายพรรคการเมือง จากกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการหาเสียง และ กกต. อาจส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนั้น ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ ในปี 2563 พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาจากกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก็เคยถูกยุบพรรคมาแล้ว
วารุณี ดีใจ เจ้าของร้านอาหารตามสั่งในกรุงเทพฯ ขณะปรุงอาหารให้กับลูกค้า วันที่ 11 สิงหาคม 2565 (เอพี)
4 - ความหวังของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่ประชาชนสนใจที่สุดมี 2 ประเด็น คือ การต่อสู้กับการทุจริต และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นับตั้งแต่เทศกาลตรุษจีนในเดือนมกราคม นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่โดยเฉพาะจากจีน และประเทศอื่น เริ่มกลับมาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ แต่สำหรับคนไทยเองก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาราคาข้าวของจำเป็นต่าง ๆ ที่พุ่งสูงขึ้น
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหลายภูมิภาคบอกว่า พวกเขาต้องการเห็นการฟื้นตัวครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาด้านสาธารณสุขและการศึกษา
“เราคนจน ไม่ได้หวังอะไรมากนอกจากเรื่องที่จะทำให้ราคายางแพง ขอกิโลละ 80-100 บาท ก็ถือว่าดีมาก พอเราขายยางได้ราคาแพง เราจะมีเงิน” นางอาแอเสาะ บีแดบูแล เจ้าของสวนยางพาราวัย 48 ปี จากนราธิวาส กล่าวกับเบนาร์นิวส์
สำหรับคนกรุงเทพฯ เชื่อว่า ที่เศรษฐกิจย่ำแย่ และส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนรากหญ้า เป็นผลมาจากการทุจริต “ฉันคิดว่าทุกวันนี้การทุจริตมันมากกว่าเมื่อก่อน” พรพิรุณ (สงวนนามสกุล) กล่าวกับเบนาร์นิวส์
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังศูนย์รับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 4 เมษายน 2566 (รอยเตอร์)
5 - อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารบนเก้าอี้ที่สั่นคลอน
พล.อ. ประยุทธ์ ขึ้นสู่อำนาจบริหารครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ใช่ด้วยการชนะเลือกตั้ง แต่ด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน
อดีตผู้บัญชาการทหารบก วัย 69 ปี ครองอำนาจในตำแหน่งบริหารจากการเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารถึง 5 ปี ก่อนที่จะอนุญาตให้มีการเลือกตั้งในปี 2562 แต่หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลที่นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ ก็เต็มไปด้วยนายทหารเกษียณ
ในช่วงหลายปีหลัง แม้อำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ ค่อย ๆ อ่อนลง แต่เขาและรัฐมนตรีของเขาก็ยังเอาตัวรอดในการลงมติไม่ไว้วางใจได้ทุกครั้ง แต่ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ อาจเป็นจุดจบของ พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และถึงเขาจะสามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยแล้วว่าเขาจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ถึงแค่เดือนเมษายน ปี 2568
“เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย ผมไม่เสียใจอยู่แล้ว ผมยังเป็นคนเดิม” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 หลังจากมี พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง
นักวิชาการมองว่า หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่าง ๆ น่าจะพยายามต่อรองเพื่อให้พรรคของตนเองได้เป็นรัฐบาล ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ อาจพบว่า ตัวเองไม่อยู่ในสมการการตั้งรัฐบาลครั้งนี้
“เพื่อไทยที่แม้จะแลนด์สไลด์ แต่ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะต้องพึ่งคะแนน ส.ว. เลยต้องไปร่วมกับพรรคที่จะสามารถควบคุม ส.ว. ได้ นั่นก็คือพลังประชารัฐ ในกรณีนี้ก็จะไม่มีทั้งพรรคใหม่ของประยุทธ์ และก้าวไกลอยู่ในสมการ” ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว