ลูกสาวทักษิณมีผลคะแนนนิยมเลือกตั้งนำหน้าอดีตผู้นำรัฐบาลทหาร

นักวิชาการเชื่อทหารจะแทรกแซงการเมืองหนักขึ้น หากพรรคพันธมิตรแพ้เลือกตั้ง
นนทรัฐ​ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2023.02.10
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ลูกสาวทักษิณมีผลคะแนนนิยมเลือกตั้งนำหน้าอดีตผู้นำรัฐบาลทหาร แพทองธาร ชินวัตร (สะพายกระเป๋าสีขาว) และ เศรษฐา ทวีสิน (คนกลาง) ผู้ที่อาจได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทย เดินหาเสียงที่ย่านเยาวราชช่วงวันตรุษจีน วันที่ 21 มกราคม 2566
สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์

ในการหาเสียงเลือกตั้ง น.ส. แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณ ได้รับคะแนนความนิยมสูงสุดจากผลสำรวจคะแนนความนิยมล่าสุด ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ด้านนักวิชาการกล่าว ฝ่ายทหารจะเพิ่มการแทรกแซงการเมืองเพื่อรักษาอำนาจต่อไป หากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง

ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 50 ล้านคน จะได้ออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกครั้ง ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566

พรรคการเมืองฝ่ายอำนาจนิยม-ทหาร ลงพื้นที่อย่างคร่ำเคร่งเพื่อแย่งชิงคะแนนจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ในเวลาที่โพลหลายสำนักชี้ให้เห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายทหารกำลังเสื่อมความนิยมลง ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคที่เป็นพันธมิตร อาจสามารถได้ ส.ส. มากกว่า 250 ที่นั่ง

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ยืนยันแนวทางของพรรคเพื่อไทย ในการหาเสียงเลือกตั้งว่า เป้าหมายสูงสุดในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้คือชัยชนะแบบ “แลนด์สไลด์” เพื่อการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

“อิ๊งพร้อมนะคะ เพราะรู้สึกว่าเราลงมาจุดนี้ เราอยากให้พรรคเราแลนด์สไลด์ เพื่ออะไร เพื่อที่จะนำนโยบายต่าง ๆ ที่สัญญากับประชาชนทุกจังหวัด ผลักดันให้เกิดจริง ๆ ให้ได้ แต่แน่นอนค่ะ เป้าหมายของอิ๊ง คือนโยบายที่จะผลักดันให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น” น.ส. แพทองธาร ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่ถามว่าพร้อมสำหรับการลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่

จนถึงปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อที่จะเสนอชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ แต่ยืนยันว่าจะเสนอ 3 รายชื่อแน่นอน ซึ่งสื่อมวลชนได้คาดการณ์ว่า น.ส. แพทองธาร และ นายเศรษฐา จะเป็น 2 รายชื่อที่พรรคนำเสนอ ขณะที่ชื่อสุดท้ายยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็นนายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยหรือไม่

“ผมคิดว่าความเข้มข้นของการมีส่วนร่วมทางการเมืองจากทหารจะมากขึ้นด้วยซ้ำนะ ยิ่งในกรณีที่ฝ่ายประชาธิปไตยชนะคะแนนในการเลือกตั้ง และพยายามจะจัดตั้งการร่วมพรรครัฐบาล” นายปิยะพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“อย่าประเมินความเป็นไปได้ของการเกิดรัฐประหารต่ำเกินไป ผมคิดว่าการเมืองเปลี่ยนแน่ แต่ไม่คิดว่ากองทัพจะหมดอำนาจง่าย ๆ เอาแค่ว่าหากพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่หลายพรรค ยังมีกลุ่มอำนาจที่เป็นกองทัพ” นายปิยะพงษ์ กล่าว

สำหรับพันธมิตรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย ผู้สังเกตการณ์และสื่อมวลชนเชื่อว่า มีโอกาสสูงที่จะเป็นพรรคก้าวไกล ในฐานะพันธมิตรปัจจุบัน และอาจรวมถึงพรรคประชาชาติ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะตัวแทนของชาวมุสลิมมลายู

ในปี 2554 แม้ว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย จะสามารถชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลได้แต่ให้หลังเพียง 3 ปี ทหารก็กลับมาอีกครั้ง ด้วยการทำรัฐประหารของ พล.อ. ประยุทธ์ และการทำรัฐประหารครั้งนี้ ทำให้ฝ่ายทหารอยู่ในอำนาจจนถึงปัจจจุบัน

ฝ่ายนายทักษิณ แม้ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่เขายังมีบทบาททางการเมืองและแสดงออกอย่างสม่ำเสมอว่าต้องการจะกลับมายังประเทศไทย ด้วยข้ออ้างว่า “ต้องการกลับมาเลี้ยงหลาน”

230210-th-politics-pre-election1.jpg

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา โบกมือทักทายประชาชนระหว่างลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

ผลคะแนนนิยมในการเลือกตั้งปีนี้   

ตามกฎหมายการเลือกตั้ง ในปี 2566 นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ จาก 150 ที่นั่งเมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อนเป็น 100 ที่นั่ง และ ส.ส. เขต เพิ่มจาก 350 ที่นั่งเป็น 400 ที่นั่ง โดยแยกบัตรลงคะแนนเป็น 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส. เขต และใบหนึ่งเลือกบัญชีรายชื่อพรรค นักวิเคราะห์เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นทำให้พรรคขนาดใหญ่ได้เปรียบพรรคขนาดเล็กในการเลือกแย่งชิงที่นั่ง ส.ส.

ปัจจุบัน ยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน แต่เชื่อว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะยุบสภาก่อนครบวาระ 4 ปี เพื่อเปิดทางให้ ส.ส. ที่ต้องการจะย้ายพรรคสามารถย้ายได้โดยไม่ขัดเงื่อนไขของกฎหมาย คือเป็นสมาชิกพรรคใหม่อย่างน้อย 30 วัน

ในเดือนธันวาคม 2565 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า - NIDA) ได้ทำการสำรวจความนิยมของนักการเมืองที่เชื่อว่าจะชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น.ส. แพทองธาร พรรคเพื่อไทย ได้รับความนิยมอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 34 เปอร์เซ็นต์ ทิ้งห่าง พล.อ. ประยุทธ์ ตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ได้รับเพียง 14 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่อันดับ 3 เป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล 13.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนายอนุทิน จากพรรคภูมิใจไทย ได้รับความนิยมเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ รั้งอันดับ 7 แม้ว่าตัวนายอนุทินเอง เป็นคนที่สื่อมวลชนมองว่าเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ติดสิบอันดับแรก

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 3,740 ตัวอย่าง ในเดือนมกราคม 2566 ของซุปเปอร์โพล ทั้งพรรคภูมิใจไทยและนายอนุทินได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ในการสำรวจความนิยมของพรรคและตัวแทนพรรค เป็นรองแต่เพียงพรรคเพื่อไทย และ น.ส. แพทองธาร

ขณะเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตลอดหลังรัฐประหาร ปี 2557 ยังคงพยายามหาทางอยู่ในอำนาจต่อด้วยการลงชิงตำแหน่งอีกครั้ง ในนามพรรคใหม่ที่ชื่อว่า “รวมไทยสร้างชาติ” แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดแล้วว่า อดีต ผบ.ทบ. คนนี้จะสามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงแค่เดือนเมษายน 2568 เท่านั้น

อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยเป็นตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งปี 2562 แต่หลังจากมีข่าวลือว่าขัดแย้งกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ย้ายมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการกับพรรคใหม่เมื่อเดือนที่แล้ว

“ผมเคยกล่าวไว้ว่า 3 ป. Forever มาวันนี้ ผมก็ยังมีความรู้สึกเช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง พี่น้องก็เป็นเรื่องของพี่น้อง ไม่มีปัญหาอะไร เราก็ยังรักกันเหมือนเดิม ไม่มีความขัดแย้งกัน แข่งก็เป็นทางการเมือง ทางการเมืองใครดีกว่า คนนั้นก็เอาไป เท่านั้นเอง” พล.อ. ประวิตร กล่าวหลังการย้ายพรรคของน้องรักอย่าง พล.อ. ประยุทธ์

230210-th-politics-pre-election3.jpg

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สวดมนต์ให้ถวายพระพรให้องค์ภาฯ วันที่ 27 ธันวาคม 2565 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

พล.อ. ประวิตร (บิ๊กป้อม) พล.อ. ประยุทธ์ (บิ๊กตู่) และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา (บิ๊กป๊อก) รมว. มหาดไทย หรือ 3 ป. คือ สามพี่น้องคนสนิทจากกองทัพบก ซึ่งร่วมบริหารประเทศ นับตั้งแต่ คสช. ทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่รอยร้าวในความสัมพันธ์ 3 ป. ถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อมีข่าวระแคะระคายว่า พล.อ. ประวิตร ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกฯ แทน พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งฝ่ายหลังได้ตัดสินใจหันหลังให้พรรคพลังประชารัฐ

“การร่วมรัฐบาลของแต่ละพรรคนี่ผมคิดว่าเดาไม่ยาก ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทหาร และผู้นิยมสถาบันพระมหากษัตริย์ จะเป็นพวกเดิม หรือไม่ก็สมาชิกเดิมที่ไปตั้งพรรคใหม่” นายปิยพงษ์ เชื่อว่า แม้จะแยกทางเดินของอดีตนายทหารใหญ่ แต่หลังเลือกตั้งน่าจะร่วมกันทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ถึงปัจจุบัน พรรคการเมืองแต่ละพรรคยังไม่ได้เปิดเผยว่าจะจับมือกันอย่างไร มีเพียงหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. สาธารณสุข เท่านั้น ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้วว่า ภูมิใจไทยจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่พยายามแก้ไข กฎหมายอาญา ม.112

ส่วนตัวพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะได้รับความนิยมเป็นอันดับ 6 แต่ตัว พล.อ. ประยุทธ์ ตัวแทนของพรรคซึ่งอยู่ในอันดับแรกของปาร์ตี้ลิสต์ยังได้รับความนิยมส่วนตัวเป็นอันดับ 3

นายอามัน (สงวนนามสกุล) อายุ 38 ปี อาชีพขายของเก่าในจังหวัดยะลา กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการตอนนี้ ต้องการเปลี่ยนรัฐบาล เพื่อให้ทหารออกจากพื้นที่

“เมื่อทหารออก เอางบประมาณออก ความไม่สงบจะดีขึ้นทันที และสิ่งที่ต้องการหลังจากนั้น ทำให้ประชาชน มีกินมีใช้... ที่สำคัญราคายางต้องแพง น้ำมันต้องถูก แค่นี้ชาวบ้านก็อยู่ได้” นายอามันกล่าว

ส่วนนายดนุวัฒน์ (สงวนนามสกุลเพื่อความเป็นส่วนตัว) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า  ตนยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกใคร

“แต่รู้อย่างเดียวว่าเลือกตั้งครั้งนี้จะทำยังไงก็ได้ให้พวกทหารมันออกไปซะที เพราะเบื่อทหารแล้ว คิดว่าเอาคนอื่นเข้ามาน่าจะทำให้ชีวิตพวกผมดีขึ้น ถึง ส.ว. อาจจะเป็นปัญหาสำคัญ”

“แต่ที่แน่ ๆ พอแล้ว ไม่เลือกแน่ ประวิตร ประยุทธ์” นายดนุวัฒน์กล่าว

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง