ไทยห่วงบุหรี่ไฟฟ้ากลิ่นหอมหวานล่อลวงเยาวชน

จิตต์สิรี ทองน้อย
2024.04.19
กรุงเทพฯ
ไทยห่วงบุหรี่ไฟฟ้ากลิ่นหอมหวานล่อลวงเยาวชน ชายหนุ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะ ซึ่งพบเห็นได้ตามปกติในกรุงเทพฯ แม้ว่าจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย วันที่ 11 เมษายน 2567
นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์

แคทเป็นหญิงสาวชาวไทยที่สูบบุหรี่จัดมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น แต่ปัจจุบันแคทหวังว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยให้เธอเลิกสูบบุหรี่ได้

“สูบบุหรี่สองซองต่อวันตั้งแต่อายุ 18” แคทเริ่มต้นบทสนทนา “จนตอนนี้อายุ 38 แล้ว”

“การใช้บุหรี่ไฟฟ้า คือการส่งสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ติดบุหรี่ เข้าสู่ร่างกาย ตอนนี้กำลังพยายามลดปริมาณนิโคติน ทำให้นิโคตินอยู่ในจุดที่โอเค ก็ใช้บุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 3 คำต่อหนึ่งชั่วโมง ไม่ได้คิดว่าจะอยากติดจนวันตาย”

แคทเปิดเผยเพียงชื่อเดียวเท่านั้น เนื่องจากต้องการรักษาความเป็นส่วนตัว ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย การใช้ การครอบครองและการโฆษณาถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งสิ้น

อย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับแคทแล้ว การหาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าบนท้องถนนของกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องยากเลย 

“แถวสุขุมวิทก็มี ถือว่าเป็นการตรวจสอบอำนาจตำรวจไปด้วย เพราะถ้าเดินไม่ต้องถึงกลางซอยก็ซื้อได้แล้ว ก็ถือว่ารอด”

แคทเป็นหนึ่งในผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาประเทศไทยเห็นการปราบปรามจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนกลายเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบที่หาซื้อได้ง่ายในปัจจุบันมีการออกแบบเพื่อจูงใจเด็กและมีอันตรายยิ่งกว่าบุหรี่ธรรมดา นอกจากนั้น การซื้อขายทางช่องทางออนไลน์ทำให้เยาวชนกลายเป็นลูกค้าใหม่ได้มากและง่ายขึ้น ส่งผลให้เลิกเสพนิโคตินยากขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

240417_vape_03.JPG
สื่อมวลชนบันทึกภาพของกลางซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรนำมาแถลงข่าวยึดสินค้ามูลค่าประมาณ 500,000 บาท ในกรุงเทพฯ โดยมีเซ็กซ์ทอย บุหรี่ไฟฟ้า และงาช้าง ที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 (รอยเตอร์)

ผศ.ดร.นพ. วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า“ความร้ายแรงคือมันลงไปถึงเด็กระดับประถม หากสูบตั้งแต่อายุยังน้อยโอกาสเลิกแค่ 30% เพราะมีความอยากอยู่ตลอด”

ไม่ใช่ของเล่น

บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบแท่ง และมีพื้นที่ใส่น้ำยาที่มีส่วนผสมของนิโคติน ที่เมื่อโดนความร้อนแล้วจะกลายเป็นควันออกมา โดยมีทั้งแบบเปลี่ยนน้ำยาใช้ได้หลายครั้ง ซึ่งจะมาพร้อมกับแบตเตอรี่ หรือเป็นแบบใช้แล้วทิ้งก็มี

จากการลงพื้นตรวจจับของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมา รูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้าได้ถูกทำให้ดูคล้ายตุ๊กตาให้เด็กเล่น

“ที่เด็กสุดที่เห็นมาคือ เด็กอยู่ชั้นประถมหนึ่ง เขาไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมันดูเหมือนตุ๊กตา เขาคิดว่าเป็นของเล่นที่ดูดแล้วมีควัน รายนี้อยู่ที่จังหวัดอำนาจเจริญ เพราะพ่อแม่โพสต์ลงติ๊กต๊อก เราก็เลยส่งทีมสอบสวนไปดู” พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย องค์กรรณรงค์ด้านเด็กและเยาวชนในประเทศไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นพ. วิชช์ อธิบายว่าเนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีส่วนผสมของยาสูบ ดังนั้นสารนิโคตินที่มีจึงเป็นสารสังเคราะห์ ซึ่งอาจมีจำนวนสูงจนเป็นอันตรายมากกว่าบุหรี่ปกติ รวมไปถึงสารเพิ่มกลิ่นหอมหรือสารที่เป็นอันตรายอื่น ๆ ได้ด้วย

ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention - CDC) กล่าวว่าควันของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเจือปนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น นิโคติน อนุภาคที่มีขนาดเล็กสามารถแทรกซึมเข้าปอดได้ สารสังเคราะห์แต่งกลิ่นที่สามารถทำให้เกิดโรคปอดอักเสบร้ายแรง และโลหะหนัก เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว

240417_vape_04.jpg
ของกลางที่ถูกยึดไว้โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมากก่อนที่จะถูกขายสู่ท้องตลาด วันที่ 29 มีนาคม 2567 (สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย)

ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ามักพุ่งเป้าไปยังลูกค้าที่เป็นเยาวชน “เนื่องจากเขาต้องการลูกค้ารายใหม่ ซึ่งจะเป็นลูกค้าชั้นดีตลอดชีวิต” นพ. วิชช์ กล่าว

นพ. วิชช์ กล่าวว่าเครือข่ายผู้ปกครองในหลายรัฐของสหรัฐฯ ได้รวมตัวกันฟ้องร้องบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทผลิตบุหรี่ไฟฟ้าของสหรัฐฯ อย่าง Juul Labs Inc. ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมในการฟ้องร้องด้วยข้อหาในการใช้กลยุทธ์การขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบ “หลอกลวง” เยาวชน ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฏหมายในบางรัฐของสหรัฐฯ

เด็กลงเรื่อย ๆ

ในประเทศไทย การปราบปรามเน้นไปที่การตรวจจับยึดของกลางของผู้ค้า โดยพบว่ามีร้านค้ามากมายตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษาหลายแห่ง

พ.ต.อ. ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่ากฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจครอบคลุมการปราบปราบผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ผู้ใช้ อาจต้องใช้กฏหมายศุลกากรบังคับในการเอาผิด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย

พ.ต.อ. ประทีป กล่าวว่าปัญหาการเก็บผลประโยชน์ของตำรวจเอง ทำให้การปราบปรามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องยากขึ้น

“ตำรวจไม่ให้ความร่วมมือกับเรา มีเรื่องการเก็บผลประโยชน์

ตำรวจเก็บส่วย เอาเด็กมาขายเอง สร้างรายได้สูง หากขายได้วันละหนึ่งหมื่นบาทก็ได้กำไรถึง 30%-40% หายากที่ธุรกิจใดจะกำไรขนาดนี้” พ.ต.อ. ประทีป กล่าวกับเบนาร์นิวส์

อย่างไรก็แล้วแต่ ช่องทางการขายบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ยังมีให้เห็น แม้ว่าในเดือนกุมภาพันธ์รัฐบาลตั้งเป้าปราบปรามช่องทางออนไลน์กว่า 1,300 ช่องทางแล้วก็ตาม

240417_vape_05.jpg
สายคล้องคอห้อยบุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นภาพปกติที่เห็นกันทั่วไป สำหรับสิงห์อมควันในกรุงเทพฯ วันที่ 29 มีนาคม 2567 (สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย)

จากผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนในประเทศไทย หรือ Global School-based Student Health Survey พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กนักเรียนไทยอายุระหว่าง 13-15 ปี เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 8.1% ในปี 2564

พชรพรรษ์ จากสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า บุหรี่ไฟฟ้าแพร่ระบาดหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เนื่องจากผู้ปกครองซื้อแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือสำหรับการเรียนออนไลน์ ซึ่งประจวบกับการแพร่ระบาดอย่างหนักของบุหรี่ไฟฟ้าในช่วงสองสามปีหลัง

นอกจากนั้นแล้ว สถาบันยุวทัศน์ฯ ยังพบว่ามีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้ามากมายตั้งอยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร รอบสถานศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บางร้านยังมีที่นั่งให้สูบภายในร้านด้วย

แคท ผู้ต้องการเลิกบุหรี่ด้วยการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าควรทำให้ถูกกฏหมายเพื่อให้การควบคุมส่วนผสมการแต่งกลิ่นเพื่อดึงดูดเยาวชนเป็นเรื่องง่ายขึ้น

แคทกล่าวว่า ประเทศในเอเชียเองมีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าแตกต่างกันไป ในประเทศญี่ปุ่น การใช้บุหรี่ไฟฟ้าต้องใช้ตามแพทย์สั่ง แต่ในสิงคโปร์เองมีการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกับไทย

“เราไม่ได้เป็นคนชอบกลิ่นหวาน ๆ เลย เช่น กลิ่นสตรอว์เบอร์รี คืออยากได้กลิ่นเหมือนบุหรี่ธรรมดา แต่หายากกว่าอีก” แคทกล่าว

“แต่ตั้งแต่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เรื่องรูปลักษณ์ เช่น สีของริมฝีปาก ฟัน เล็บมือหรือเหงือกที่คล้ำไปเพราะบุหรี่ ตอนนี้ไม่มีแล้ว แล้วก็ไอน้อยลง”

ในปี 2546 เภสัชกรชาวจีนชื่อนายฮัน ลิก (Hon Lik) ได้คิดค้นบุหรี่ไฟฟ้าขึ้น ก่อนวางจำหน่ายในปีถัดมา ได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีนว่าเป็นอุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่ หรือเป็นผลิตภัณฑ์บุหรี่ทางเลือกชนิดหนึ่ง

“ธุรกิจบุหรี่เป็นยุคอัสดงแล้ว แต่บุหรี่ไฟฟ้านี่น่ากังวล ผู้หญิงที่แต่ก่อนไม่สูบบุหรี่เพราะเหม็นหรือระคายคอก็มาเริ่มสูบ เพราะมีการปรับรูปลักษณ์ให้สวยงาม ปรับสูตรให้หอม นี่คือจุดตายของบุหรี่ไฟฟ้า” นพ. วิชช์ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง