แหล่งอาศัย 2 ใน 3 ของช้างในเอเชียหายไป ในห้วงสามศตวรรษที่ผ่านมา
2023.04.27
งานวิจัยด้านระบบนิเวศในทวีปเอเชียพบว่า พื้นที่กว่า 64 เปอร์เซนต์ที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของช้างในเอเชียได้สูญหายไปในช่วง 3 ศตวรรษ
งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports เมื่อวันพฤหัสบดี โดยระบุว่าการสูญเสียที่อยู่อาศัยของช้าง ระหว่างปี 2243 ถึง 2558 มีจำนวนพื้นที่ 3.3 ล้านตารางกิโลเมตร (1.3 ล้านตารางไมล์) ใหญ่กว่าอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลกเพียงเล็กน้อย
เชอร์มิน เดอ ซิลวา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก หัวหน้าทีมวิจัย ระบุว่า ในช่วงศตวรรษที่ 16 ถึง 17 (ราวปี 2150 ถึง 2250) มีหลักฐานของการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างมาก ไม่ใช่แค่ในเอเชียเท่านั้น แต่รวมทั้งโลก
“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้” เดอ ซิลวา ระบุ
พื้นที่ทั่วโลกสำหรับที่อยู่อาศัยของช้างในเอเชียลดลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1700 (เชอร์มิน เดอ ซิลวา)
ในช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่ ๆ อยู่อาศัยของช้างโดยเฉลี่ยลดลง 83 เปอร์เซนต์ จาก 99,000 เหลือ 16,000 ตารางกิโลเมตร (38,224 เหลือ 6,178 ตารางไมล์) และพื้นที่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียจากที่เคยมีขนาด 4 ล้าน ตารางกิโลเมตร มีขนาดลดลงเหลือแค่ 54,000 ตารางกิโลเมตร (จาก 1.5 ล้าน เป็น 20,850 ตารางไมล์)
ในประเทศจีน แหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของช้างลดลงอย่างเห็นได้ชัดที่สุดที่ประมาณ 94 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการคาดการณ์ว่าพื้นที่ลดลงจาก 1 ล้านตารางกิโลเมตร ในปี 2243 เป็น 65,189 ตารางกิโลเมตร ในปี 2558 (จาก 386,102 เป็น 25,170 ตารางไมล์) แม้ว่าในปัจจุบัน ช้างในประเทศจีนจะได้รับการคุ้มครอง และจำนวนของช้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 200 ตัว เป็นมากกว่า 300 ตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้งานวิจัยที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา พบว่าอินเดียได้สูญเสียพื้นที่ ๆ เหมาะสมสำหรับช้างไป 86 เปอร์เซนต์ จาก 1.6 ล้าน เหลือน้อยกว่า 2.5 แสนตารางกิโลเมตร (จาก 617,763 เป็น 96,000 ตารางไมล์) ตามด้วยบังกลาเทศซึ่งพื้นที่ลดลงเกือบ 72 เปอร์เซนต์ จาก 44,046 เป็น 12,405 ตารางกิโลเมตร (จาก 17,006 เป็น 4,791 ตารางไมล์)
ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานวิจัยระบุถึงประเทศไทย ซึ่งพบการหายไปของแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมอย่างยิ่งในภาคกลาง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างปี 2493 ถึง 2533 โดยปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูก
พื้นที่ดังกล่าวในประเทศไทยลดลง 67 เปอร์เซนต์ จาก 480,413 เป็น 158,331 ตร.กม. (185,488 เป็น 61,132 ตร.ไมล์) งานวิจัยนี้สะท้อนว่าเป็นผลมาจากธุรกิจค้าไม้ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน และการขยายตัวของอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่เคยตกเป็นอาณานิคมก็ตาม
อย่างไรก็ดี แม้ว่าผืนป่าจะยังคงเหลืออยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา แต่ทั้งสองประเทศมีประชากรช้างโดยประมาณต่ำกว่าที่คาดไว้ หากประเมินจากพื้นที่ๆ เหมาะสมในการอยู่อาศัย ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะธุรกิจป่าไม้และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ขณะที่เมียนมามีการล่าผิวหนังช้างในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยนักวิจัยกล่าวว่าช้างที่อยู่ในการครอบครอง หรือช้างเลี้ยง ในสองประเทศนี้น่าจะมีจำนวนมากกว่าช้างป่า
อย่างไรก็ตาม จำนวนของช้างที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤตที่สุด 2 สายพันธุ์ ถูกพบในเกาะสุมาตราและเวียดนาม โดยแต่ละแห่งสูญเสียที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมไปมากกว่าครึ่ง สวนทางกับลาวและมาเลเซีย ซึ่งมีจำนวนช้างเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ ซึ่งไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเคยมีช้างอยู่อาศัยมาก่อน
ทั้งนี้ เกาะบอร์เนียวซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกและใหญ่ที่สุดในเอเชีย ยังคงมีพื้นที่ ๆ อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับช้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ของประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน บนกลุ่มเกาะมลายู
การปะทะระหว่างคนกับช้างอาจเพิ่มขึ้น
คณะวิจัยยืนยันว่า การปะทะกันระหว่างคนกับช้างในปัจจุบัน อาจเป็นผลมาจากที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับสัตว์ลดลงอย่างมาก และเรื่องราวอาจบานปลายมากขึ้น เนื่องจากประชากรช้างที่มีอยู่อาจประสบปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการใช้ที่ดินของมนุษย์
งานวิจัยระบุว่าในปี 2243 พื้นที่ทั้งหมดในระยะ 100 กิโลเมตรถือว่าเป็นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม จากที่อยู่อาศัยของช้างในปัจจุบันแต่ในปี 2558 สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือต่ำกว่า 50 เปอร์เซนต์
โขลงช้างป่าเอเชีย ในเขตเอ๋อซาน มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 (สำนักข่าวซินหัว/เอพี)
นอกจากนี้รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและกองทุนสัตว์ป่าโลกในปี 2564 ระบุเช่นเดียวกันว่า ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และสัตว์เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อการอยู่รอดในระยะยาวของสัตว์บางชนิด รวมถึงช้าง
เช่นเดียวกับข้อมูลขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ที่ระบุว่า ในอินเดีย มีคนราว 100 คน และมากถึง 300 คนในบางปี และช้างราว 40-50 ตัว ถูกฆ่าตายระหว่างการบุกทำลายพืชผลในแต่ละปี
การลดลงของแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกหลายชนิดเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้รับการบันทึกไว้อย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ซ้ำเติมการลดลงนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ผ่านมา
งานวิจัยระบุเพิ่มเติมว่า ความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน และกลยุทธ์การอนุรักษ์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ดังกล่าวให้ดีขึ้น
“เราใช้ช้างเป็นตัวชี้วัด เพื่อดูผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินต่อระบบนิเวศที่หลากหลายเหล่านี้ในระยะเวลาที่นานขึ้น” เดอ ซิลวา ระบุ
มีช้างเอเชียประมาณ 44,000 ตัวใน 13 ประเทศ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในอินเดีย มีน้ำหนักมากถึง 5,500 กิโลกรัม (12,000 ปอนด์) พวกมันเป็นสัตว์บกมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
สัตว์เหล่านี้ได้รับการระบุว่า ‘ใกล้สูญพันธุ์’ ใน ‘บัญชีแดง’ ของสัตว์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เนื่องจากการลดลงของประชากรช้างอย่างน้อย 50 เปอร์เซนต์ ในช่วงสามชั่วอายุคน
ช้างเอเชียอาศัยอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยต่าง ๆ รวมถึงทุ่งหญ้าและป่าฝนที่ครั้งหนึ่งเคยกินพื้นที่กว้างของทวีป ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างปลอดภัยก่อนปี 2243
การสูญเสียที่อยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวสอดคล้องกับการใช้ที่ดินในยุคอาณานิคม รวมถึงการทำป่าไม้และการเกษตรกรรมที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเอเชีย
คณะนักวิจัยประเมินการเปลี่ยนแปลงการแพร่กระจายและการกระจายตัวของระบบนิเวศของช้างเอเชียใน 13 ประเทศ ระหว่างปี 1393 ถึง 2558 ด้วยการใช้ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อคำนวณการเปลี่ยนแปลงเพื่อบ่งชี้ที่ดินซึ่งเหมาะสำหรับช้างเมื่อ 300 ปีก่อน
“เราใช้สถานที่ในปัจจุบันที่เรารู้ว่ามีช้างอยู่ ร่วมกับคุณลักษณะด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกันตามชุดข้อมูล เพื่ออนุมานว่าแหล่งที่อยู่อาศัยที่คล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อน” เดอ ซิลวากล่าว
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า พื้นที่คุ้มครองในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอสำหรับประชากรช้างที่จะเติบโต เนื่องจากในอดีตพวกมันเคยใช้ชีวิตในพื้นที่ขนาดใหญ่กว่ามาก
“การที่เราจะสร้างสังคมที่ยุติธรรมและยั่งยืนมากขึ้น เราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ว่าเรามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร การศึกษานี้เป็นขั้นตอนหนึ่งไปสู่ความเข้าใจนั้น” เดอ ซิลวา กล่าว
รายงานจัดทำโดย เรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์