‘Hazibition’ ชี้นิ้วกล่าวโทษกลุ่มบริษัทเหตุสร้างปัญหาฝุ่นควัน

สุเบล ราย บันดารี
2023.05.24
กรุงเทพฯ
‘Hazibition’ ชี้นิ้วกล่าวโทษกลุ่มบริษัทเหตุสร้างปัญหาฝุ่นควัน ประชาชนผู้สนใจร่วมชมนิทรรศการ 'Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่นควัน' ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 23 พฤษภาคม 2566
สุเบล ราย บันดารี/เรดิโอฟรีเอเชีย

ผู้รณรงค์ด้านอากาศสะอาดได้จัดแสดงนิทรรศการในกรุงเทพฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการผลิตข้าวโพดเชิงพาณิชย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำโขงอย่างไร   

กลุ่มกรีนพีซได้จัดงาน “Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่นควัน” ในระหว่างวันที่ 23 ถึง 28 พฤษภาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยผู้จัดมีวัตถุประสงค์ในการเปิดเผยให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาฝุ่นควัน ซึ่งกลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อสุขภาพของผู้คนในภูมิภาค

“เราต้องการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในภูมิภาคแม่โขงตอนล่าง และการเพาะปลูกข้าวโพดเชิงพาณิชย์ที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์” รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ องค์กรกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย

“เราได้ประสบปัญหามากว่า 15 ปี โดยไม่มีการลงมือแก้ไขปัญหาใด ๆ จากทางรัฐบาล ดังนั้นเราไม่ต้องการให้ปีนี้เป็นปีแห่งความทรมานอีกต่อไป”

ในเดือนมีนาคม และเมษายน หลายจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย รวมทั้งจังหวัดอื่น ๆ ที่มีพื้นที่ติดกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเมียนมา ได้รับผลกระทบจากควันพิษที่ร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปี

จังหวัดเชียงใหม่ ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษสูงที่สุดในโลกนานอยู่หลายสัปดาห์ ซึ่งในบางพื้นที่ของจังหวัดมีระดับมลพิษสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 16 เท่า โดยกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า มีผู้ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพเพราะฝุ่นควันพิษมากกว่าสองล้านคน

นักกิจกรรมและนักวิทยาศาสตร์กล่าวโทษการเผาป่าและการเผาเศษซากผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการเกษตรที่เกษตรกรต้องหารายได้ยังชีพจากการเพาะปลูกพืชพันธุ์เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และมีการเผาตอซังพืชพันธุ์หลังเก็บเกี่ยวจนเกิดฝุ่นควันอย่างกว้างขวางในระดับที่มี “ความรุนแรงมากที่สุดในรอบยี่สิบปี” ตามที่กรีนพีซระบุ

 230524-bangkok-haze-exhibition-mekong2.jpeg

หญิงผู้หนึ่งนั่งอ่านสมุดบันทึก ขณะควันไฟป่าพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ในจังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ 700 กิโลเมตร วันที่ 12 มีนาคม 2550 (รอยเตอร์)

รัตนศิริ กล่าวว่าพวกเขายังทำการรวบรวมข้อมูลฝุ่นควันพิษของปีนี้ เพื่อที่จะสามารถยืนยันได้ว่าการเพาะปลูกข้าวโพดมีสัดส่วนในการสร้างมลพิษมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่าน ๆ มา การเพาะปลูกข้าวโพดเพื่อทำอาหารสัตว์มีสัดส่วนหนึ่งในสามของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน

“เราอยากให้ผู้คนปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนะ และเรื่องราวเหล่านี้ ผ่านทางการแสดงนิทรรศการ ชาวไร่ข้าวโพดยังยากจนอยู่ และยังคงได้รับความทุกข์ยากจากฝุ่นควัน ในขณะที่บริษัทที่รับซื้อข้าวโพดต่างร่ำรวยยิ่งขึ้น” รัตนศิริกล่าว

สั่งสมมา 50 ปี

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศผู้ผลิตอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ และเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสุกรและสัตว์ปีกที่มีขนาดใหญ่ของโลก ข้าวโพดเป็นส่วนผสมสำคัญของการผลิตอาหารสัตว์โดยมีสัดส่วนมากถึงหนึ่งในสาม

กรีนพีซระบุว่า พื้นที่ป่าในประเทศไทยกว่า 10.6 ล้านไร่ หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์ ถูกแผ้วถางเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด สำหรับทำอาหารสัตว์ในลุ่มน้ำแม่โขงตอนล่างในระหว่าง ปี 2558 ถึง 2562

พื้นที่ป่าของประเทศไทยลดลงจาก 48 ล้านไร่ เหลือเพียง 37 ล้านไร่ในช่วงเวลาสองศตวรรษ ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นจากเดิมสี่เท่าเป็น 2.4 ล้านไร่ กรีนพีซ ระบุ

“ปัญหาเรื่องฝุ่นควันบ่มเพาะมานาน 50 ปีแล้ว รัฐบาลสนับสนุนนโยบายที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ให้ขยายตัวได้ และมีอิทธิพลเหนือพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง นี่คือสาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่า” รัตนศิริกล่าว

“เราต้องการรัฐบาลที่ลงมือจัดการกับปัญหาให้เห็นผลในทางปฏิบัติ และเราต้องการให้ประชาชนกดดันรัฐบาลให้หาตัวผู้กระทำผิด บริษัทเจ้าใหญ่ ๆ ที่รับผิดชอบในการเพาะปลูกข้าวโพด” รัตนศิริ กล่าวเพิ่มเติม

กรีนพีซ กล่าวว่า หนึ่งในก้าวย่างอันดับต้น ๆ คือ รัฐบาลต้องแก้กฎหมายให้บริษัท และผู้ลงมือปฏิบัติต้องรับผิดชอบทางกฎหมายหากว่าเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและกระทบสุขภาพของประชาชนจากการเผาตอซังพืชพันธุ์จนเกิดฝุ่นควันพิษ

ในครั้งนี้ กรีนพีซ จัด“Hazibition : นิทรรศการใต้ฝุ่นควัน” ระหว่างวันที่ 23-28 พฤษภาคม 2566 โดยได้แสดงไทม์ไลน์ของการเริ่มต้นนโยบายอุตสาหกรรมการเกษตรในปี 2504 ซึ่งเป็นการให้กำเนิดการเกษตรแบบพันธสัญญา หรือ contract farming และการทำไร่ข้าวโพดในระดับอุตสาหกรรมในปี 2530 ซึ่งถือเป็นพืชการเกษตรที่สร้างรายได้ที่สำคัญและทำให้มีการแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตรแบบพันธสัญญาในปี 2543

ในปีต่อ ๆ มา รัฐบาลได้ออกนโยบายสนับสนุนเรื่องการเกษตรแบบพันธสัญญาข้ามฝั่งไปยัง สปป. ลาว และเมียนมา โดยยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับข้าวโพด ทั้งยังประกันราคาและประกันสินค้าให้กับริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำการค้าขายข้าวโพด การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับชาวไร่ข้าวโพด ซึ่งนโยบายนี้ยังคงมีมาถึงปัจจุบัน

ในปี 2565 ประเทศไทยนำเข้าข้าวโพดเพื่อการผลิตอาหารสัตว์มากกว่า 13,200 ล้านบาท มีมูลค่านำเข้าเป็นที่สองรองลงมาจากไฟฟ้า ในการวิเคราะห์ของกรีนพีซในปีเดียวกันนั้น มลพิษทางอากาศเป็นฆาตรกรสังหารประชาชนในประเทศไทย 29,000 ราย สูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน การเสพยาเสพติด และฆาตกรรมรวมกัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง