รัฐบาลอนุญาต 93 ชาติ เข้าไทยไม่ต้องขอวีซ่า หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.05.28
กรุงเทพฯ
รัฐบาลอนุญาต 93 ชาติ เข้าไทยไม่ต้องขอวีซ่า หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวชาวจีนถ่ายรูปเซลฟี่กับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ หลังนักท่องเที่ยวชาวจีนได้รับสิทธิฟรีวีซ่าเข้าประเทศ วันที่ 25 กันยายน 2566
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ปรับมาตรการอนุญาตให้ชาวต่างชาติจาก 93 ประเทศ เดินทางเข้าราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยเชื่อว่า มาตรการนี้จะทำให้ไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8 แสนล้านบาท ด้านนักวิชาการแนะ ไทยควรสร้างภาพลักษณ์เพื่อดึงดูดต่างชาติในระยะยาวควบคู่ไปด้วย

“ครม. ได้เห็นชอบมาตรการและแนวทางการตรวจลงตราเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เช่น การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทย ไม่เกิน 60 วัน” นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. ในวันอังคาร

มาตรการดังกล่าวจะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 โดยให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน เป็นมาตรการฝ่ายเดียวของไทย ประกอบด้วย ประเทศที่ได้รับสิทธิเดิม 57 ประเทศ/ดินแดน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และ เพิ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ ใหม่ 36 ประเทศ/ดินแดน รวมเป็น 93 ประเทศ/ดินแดน เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มาตรการใหม่ดังกล่าวนี้ มีขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกปี 2567 ไทยเติบโตเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ 

“รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่จะให้ผลตอบแทนอย่างรวดเร็วทันที แก้ปัญหาระยะสั้นได้  ปี 2566 รายได้จากการท่องเที่ยวเราโต กว่าปี 2565 เพิ่มมาถึงประมาณ 7 แสนล้านบาท และจากรายได้จากปี 2566 ประมาณ 2.2 ล้านล้าน ปี 2567 ปีนี้นโยบายรัฐบาลจะเร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้าน” นายชัย กล่าวในการแถลงข่าว

นายชัย ยังเปิดเผยว่า ไทยได้เพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) สำหรับคนต่างด้าวที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล (Remote worker หรือ Digital nomad) ซึ่งประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน โดยมีนายจ้างและลูกค้าอยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับคนต่างด้าวที่ต้องการทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและใช้บริการทางการแพทย์

ครม. ยังมีมาตรการระยะกลาง และยาวด้วย คือ การพัฒนาระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) เพื่อคัดกรองผู้ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนมิถุนายน 2568 และมาตรการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พำนักชั่วคราว และกลุ่มผู้สูงอายุที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย โดยจะเริ่มในเดือนกันยายน 2567 

ด้าน น.ส. พัชรีย์ เอี่ยมรอด ไกด์นำเที่ยวชี้ว่า แม้รัฐพยายามปรับมาตรการ แต่ก็อาจมีปัจจัยเสี่ยงที่มองไม่เห็น 

“การปราบทัวร์ศูนย์เหรียญอาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่เยอะเท่าเดิม ขณะที่ นักท่องเที่ยวจีนก็มาเที่ยวด้วยจตัวเองไม่เยอะ การท่องเที่ยวไทยก็ต้นทุนแพงขึ้น ต้องมีงบประมาณถึงจะมาได้ เพราะหลังจากปิดช่วงโควิด-19 มีการปรับต้นทุนขึ้น สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม เปิดใหม่ ๆ หรือมีการปรับปรุงรีโนเวท อาจทำให้มีการขึ้นราคา ทำให้การท่องเที่ยวอาจยังไม่คึกคักเท่าที่ควร” น.ส. พัชรีย์ กล่าว

ต่อมาตรการดังกล่าว ดร. เหงียน ตู อัญ อาจารย์ประจำสาขาวารสารศาสตร์ระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชี้ว่า มาตรการของรัฐบาลจะมีประสิทธิภาพในระยะสั้น แต่ระยะยาวไทยจำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติมากขึ้น

"มาตรการยกเว้นวีซ่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวในไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งมีทั้งผลดีในแง่การสร้างรายได้ระยะสั้น แต่ก็มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องจัดการให้ดี หากนักท่องเที่ยวใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น ก็จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและภาษีกลับคืนมาได้เช่นกัน” ดร. เหงียน ตู อัญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“อย่าลืมว่าภาพความขัดแย้งทางการเมือง การใช้ความรุนแรงกับผู้เห็นต่าง อาจทำให้ไทยไม่ใช่จุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย รัฐบาลไม่ควรเน้นแค่มาตรการระยะสั้นอย่างการยกเว้นวีซ่าเพียงอย่างเดียว แต่ต้องกล้าลงทุนแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศด้วย เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวโลกในระยะยาว” ดร. เหงียน ตู อัญ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ประเมินว่า การยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 60 วันเป็นกรณีพิเศษ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 12,300 ล้านบาทต่อปี จากค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราแบบ Visa on Arrival และ ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง