เศรษฐาชู 5 นโยบายเร่งด่วนฟื้นเศรษฐกิจ และแก้ รธน.
2023.09.11
กรุงเทพฯ
ในวันจันทร์นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยเน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่ สส. ฝ่ายค้าน และ สว. อภิปราย นโยบายของรัฐบาลว่าไม่มีความทะเยอทะยานมากพอในการที่จะแก้ต้นตอของปัญหา รวมทั้งปัญหาชายแดนภาคใต้และปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ
นายเศรษฐา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรกในรอบกว่า 9 ปี เริ่มการแถลงนโยบายในเช้าวันนี้ โดยระบุว่า มี 5 นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการทันที คือ 1. การเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 2. การแก้ปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 3. การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน 4. การผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยว และ 5. การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“การเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศไทยให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ การดำเนินนโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ให้กับประเทศเป็นการเตรียมพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่” นายเศรษฐา กล่าวต่อรัฐสภา
ในเรื่องความขัดแย้งทางด้านการเมือง นายเศรษฐา กล่าวเพิ่มเติม “เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือในการทำประชามติ ที่ให้ความสำคัญในการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วน มีส่วนรูปออกแบบกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับร่วมกัน”
อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐา ไม่ได้บรรจุเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องขบวนการก่อความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ไว้ในนโยบาย แต่ได้พูดต่อไปถึงการขึ้นเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำ การปรับปรุงการทำงานภาครัฐสู่ระบบดิจิทัล การปราบปรามยาเสพติด แก้ปัญหาฝุ่น พีเอ็ม 2.5 เป็นต้น
ด้าน น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายการแถลงนโยบายว่าละเลยที่จะแก้ปัญหาที่ต้นตอ
“การแถลงนี้ ยังเป็นการแถลงที่ปราศจากความทะเยอทะยานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใด ๆ หลับตาข้างหนึ่งแล้วก้าวข้ามความขัดแย้งเหมือนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง สามจังหวัดชายแดนใต้ การลดความเหลื่อมล้ำ ไม่กล้าแตะเรื่องยากที่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ ทั้งที่ตอนหาเสียงท่านกล้าหาญกว่านี้มาก” น.ส. ศิริกัญญา กล่าว
ส่วน นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เห็นว่ารัฐบาลยังไม่ได้แสดงทิศทางชัดเจนถึงการแก้ไขปัญหาการผูกขาดการค้าของกลุ่มนายทุนเดิม
“ถ้าหากรัฐบาลชุดนี้ยังคงไม่กล้าที่จะยกเลิกกฎหมายที่ทำให้เกิดการผูกขาดโอกาสของคนไทยที่จะลืมตาอ้าปาก มีกินมีใช้ก็จะไม่เกิดขึ้นครับ และเป็นการเสียโอกาสและเวลาของประเทศไทยอย่างมาก ถ้าประเทศไทยสามารถเปลี่ยนเป็นรัฐบาลพลเรือนได้ทั้งที แต่อำนาจทางเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาดเบื้องหลังกลุ่มเดิม ๆ ครับ” นายวรภพ กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา
นอกจากนั้น นายวรภพ เสนอให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายที่ผูกขาดทางการค้า เช่น ในกลุ่มสุรา การค้าข้าว และการนำเข้าปุ๋ย เป็นต้น รวมทั้งรื้อกฎหมายที่ล้าสมัยประมาณ 955 ฉบับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการธุรกิจของรายย่อย
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. แสดงความกังวลถึงแหล่งเงินที่รัฐบาลจะมาดำเนินนโยบาย เช่น หากจะดำเนินการนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ให้กับประชาชนทุกคนที่อายุ 16 ปี ต้องใช้เงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท เป็นจำนวนงบประมาณที่สูงเท่างบลงทุนในหนึ่งปี
อย่างไรก็ตาม หากใช้จ่ายเงินงบประมาณ ปี 2567 จะไม่เพียงพอเนื่องจากมีงบประมาณที่สามารถใช้ได้เพียง 4 แสนล้านบาทเท่านั้น
ขณะเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่านโยบายของรัฐบาลเศรษฐามีรายละเอียดที่แตกต่างจากที่พรรคเพื่อไทยเคยให้คำสัญญาไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เช่น ไม่มีเรื่องนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน, นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำทันที, เลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่พร้อม เป็นต้น
สำหรับการแถลงนโยบาย ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า เพื่อไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธาที่ต้องกู้คืน
“แต่สิ่งที่ต้องชี้แจงให้ชัดคือ การแจกจ่ายและใช้เงินดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นอย่างไร และนโยบายนี้จะเพิ่มภาระหนี้ให้ประเทศหรือไม่ จะจัดสรรเงินจากส่วนไหน ซึ่งมีความท้าทายมากในการสนับสนุนและการดำเนินการ แต่ก็เชื่อว่าอาจจะพอทำได้จริง” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าว
“นโยบายที่ควรได้รับความสนใจอย่างเร่งด่วนคือ การปรับปรุงระบบการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และยังเพื่อปลดปล่อยศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในประเทศ ผมคิดว่าเรื่องการศึกษาถูกมองข้ามจากรัฐบาลชุดนี้มาก ๆ” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
การแถลงนโยบายจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 11–12 กันยายน 2566 โดยใช้เวลา 30 ชั่วโมง แบ่งเป็น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชี้แจง 5 ชั่วโมง สว. 5 ชั่วโมง สส. พรรคร่วมรัฐบาล 5 ชั่วโมง และ สส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง โดยแต่ละวันประชุมไม่เกินเวลาเที่ยงคืน
หลังการแถลงนโยบาย ในวันที่ 13 กันยายน 2566 ครม. ชุดใหม่ ซึ่งมีรัฐมนตรี 34 คนก็จะประชุม ครม. ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ โดยนับเป็นการเริ่มปฏิบัติงานจริง หลังใช้เวลาร่วม 4 เดือนนับตั้งแต่เลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ในการจัดตั้งรัฐบาล
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน