เกาะกูด กลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งไทย-กัมพูชาเรื่องก๊าซธรรมชาติได้อย่างไร

ภิมุข รักขนาม สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.11.05
เกาะกูด กลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งไทย-กัมพูชาเรื่องก๊าซธรรมชาติได้อย่างไร ผู้คนบนชายหาดเกาะกูด จังหวัดตราด วันที่ 27 ตุลาคม 2561
จอร์จ ซิลวา/รอยเตอร์

ไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ์ในพื้นที่กว่า 27,000 ตารางกิโลเมตร (10,425 ตารางไมล์) ในอ่าวไทยมาหลายทศวรรษ ที่เชื่อว่าอุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นแรงส่งให้ทั้งสองฝ่ายแก้ไขข้อพิพาทและแบ่งทรัพยากรตามที่ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การอ้างสิทธิ์ของกัมพูชาในพื้นที่ส่วนหนึ่งของเกาะกูดของไทย นับเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา และกำลังสร้างความโกรธแค้นแก่กลุ่มชาตินิยมโดยเฉพาะในประเทศไทย อีกทั้งเกาะแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ที่กองทัพเรือใช้ซ้อมรบอยู่เป็นประจำ

มีส่วนได้-เสียอะไรบ้าง  

ข้อพิพาทดังกล่าวมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณพื้นที่อ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนในอ่าวไทย ซึ่งอาจมีก๊าซธรรมชาติมากถึง 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (311,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต) ตามรายงานของหน่วยงานด้านพลังงานไทย อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีการสำรวจใด ๆ เนื่องมาจากข้อพิพาทดังกล่าว ในขณะนี้ความต้องการด้านพลังงานของทั้งสองประเทศกำลังมีเพิ่มมากขึ้น และสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) กำลังผลักดันให้มีการเจรจากันมากขึ้นเรื่องการแบ่งปันก๊าซธรรมชาติ

โดยเกาะกูดตั้งอยู่บริเวณชายแดนด้านเหนือของพื้นที่อ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area - OCA)

ข้อมูลของเกาะกูด

เกาะกูดเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 25 กิโลเมตร (15 ไมล์) และกว้าง 10 กิโลเมตร (6 ไมล์) ประชากรที่อยู่อาศัยบนเกาะ ประกอบอาชีพโดยการทำการประมงและทำการเกษตรมาโดยตลอด โดยไม่นานมานี้เกาะกูดได้ผันตัวเองมาเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน โดยมีผู้คนราว 300,000 คนต่อปี เดินทางมาเพื่อสัมผัสกับชายหาดอันเงียบสงบและดำน้ำดูปะการัง ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาที่เกาะโดยทางเรือจากแผ่นดินที่อยู่ด้านเหนือของเกาะ

ประวัติศาสตร์

ประเทศไทยระบุว่า ในปี 2447 ฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมในอินโดจีน ได้ยกเกาะกูดให้กับสยามที่เป็นประเทศเอกราช เขตแดนระหว่างประเทศไทยและอินโดจีนที่ปกครองโดยฝรั่งเศสได้ถูกกำหนดขึ้น โดยสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ในปี 2450 โดยมีสาระสำคัญหลักคือ การคืนพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือให้กับกัมพูชา ซึ่งรวมถึงกลุ่มปราสาทนครวัดด้วย แต่เขตแดนทางทะเลไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน ในปี 2515 กัมพูชากล่าวอ้างตามสนธิสัญญาในปี 2450 ถึงเขตแดนทางทะเลว่า ควรนับจากเส้นแบ่งจากจุดสิ้นสุดของเขตแดนทางบกบนชายฝั่งไปจนถึงจุดสูงสุดบนเกาะกูด ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกประมาณ 35 กิโลเมตร (22 ไมล์) โดยอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ครึ่งหนึ่งที่อยู่ทางตอนใต้ของเกาะกูด

ประเทศไทยระบุว่า เกาะกูดทั้งหมดเป็นของประเทศไทยตามข้อตกลงกับฝรั่งเศส เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวอ้างของกัมพูชา ในปี 2516 ไทยได้อ้างสิทธิเหนือเกาะกูดและพื้นที่ส่วนใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอ่าวไทย

การเมืองไทย

ในปี 2544 รัฐบาลไทยที่นำโดย นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีแนวทางในการสนับสนุนธุรกิจ ในขณะดำรงตำแหน่ง ได้ทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกันหรือ “MOU 44ซึ่งกำหนดให้มีการหารือเกี่ยวกับการแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรควบคู่ไปกับการเจรจาเพื่อกำหนดเขตแดนของพื้นที่ OCA

กลุ่มชาตินิยมที่ต่อต้านทักษิณกังวลว่า กัมพูชาได้ผลประโยชน์จากการเจรจามากเกินไป และไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจที่ทำไป ความขัดแย้งระหว่างทักษิณและกลุ่มชาตินิยมยังคงเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน น.. แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของทักษิณ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีไทย

การเรียกร้องให้เริ่มการเจรจาเพื่อแบ่งปันก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง ได้สร้างความกังวลให้กับกลุ่มผู้รักชาติของไทยอีกครั้ง ซึ่งแสดงความไม่พอใจในโลกออนไลน์โดยกล่าวว่า ราชอาณาจักรไทยไม่ควรยอมให้กัมพูชาในเรื่องดินแดนหรือทรัพยากร

การเรียกร้องให้กลับมาเจรจาเรื่องการแบ่งปันก๊าซนอกชายฝั่งอีกครั้ง ทำให้กลุ่มชาตินิยมรู้สึกวิตกกังวลอีกครั้ง โดยได้การระบายความโกรธแค้นผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมกล่าวว่า ราชอาณาจักรไทยไม่ควรอ่อนข้อต่อเรื่องดินแดนหรือทรัพยากรให้กับกัมพูชา

จะก้าวผ่านจุดนี้ไปอย่างไร

ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็มีความต้องการในการใช้พลังงานที่มาจากพื้นที่ OCA มากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมบางราย กล่าวว่า ทางออกที่ดูเป็นไปได้ที่สุดคือ การทำข้อตกลงเกี่ยวกับพื้นที่ที่พัฒนาร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองและเดินหน้าสำรวจต่อไป

ขณะนี้ รัฐบาลไทยกำลังเสนอแนวทางสำหรับการเจรจา

“การเจรจาจะไม่มีเรื่องข้อเรียกร้องเรื่องอาณาเขตของทั้งสองฝ่ายมาเกี่ยวข้อง” นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

“ไม่ได้หมายความว่าเราจะสูญเสียเกาะกูด เนื่องจากภายใต้สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เกาะกูดเป็นของไทย” นางสุพรรณวษากล่าว “มันชัดเจนอยู่แล้ว”

บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ในกรุงเทพฯ CLC Asia อ้างอิงคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ไทยที่ไม่ออกนาม ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้วว่า การหารือเกี่ยวกับพื้นที่ OCA “จะไม่เกิดขึ้น เว้นแต่กัมพูชาจะยุติการอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของเกาะกูด”

พล.ท. นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ เห็นด้วยว่าการที่กัมพูชายอมที่จะไม่ลากเส้นเขตแดนพาดผ่านเกาะกูดจะช่วยคลายข้อสงสัยของไทยได้

ถ้ากัมพูชาหยุดอ้างสิทธิ์ในเกาะกูด การเจรจาก็จะง่ายขึ้น จะมีการต่อต้านน้อยลง” พล.ท. นันทเดช กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง