สายด่วนรายงาน ไม่น่าเพียงพอในการต่อสู้มลพิษลุ่มแม่น้ำโขงช่วงฤดูแล้ง
2024.11.01
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อภาคเหนือของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในช่วงฤดูแล้งต่อไป แม้จะมีการแผนปฏิบัติการร่วมฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส ที่จัดตั้งให้มี “สายด่วน” กับเมียนมาและลาวเมื่อไม่นานนี้ก็ตาม
การเผาพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ถูกแปลงจากป่าเพื่อปลูกข้าวโพดสำหรับทำอาหารสัตว์ ทำให้เกิดมลพิษรุนแรงในภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 เช่นเดียวกับในลาวและรัฐฉานของเมียนมา
เมื่อฤดูแล้งใกล้เข้ามาอีกครั้ง รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ลาว และเมียนมา รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทย กล่าวในสัปดาห์นี้ว่า พวกเขามุ่งมั่นที่จะรับมือกับปัญหามลพิษทางอากาศ องค์การอนามัยโลกประเมินว่า คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี
“ผมมองสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าไว้ไม่ดีนัก แต่ถ้าเราเริ่มตอนนี้ ผมคิดว่าเราสามารถต่อยอดจากยุทธศาสตร์ฟ้าใสได้ ทุกคนรู้ว่านี่คือปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพของลูกหลานของพวกเรา” เอกพล เอกอัครรุณโรจน์ จากศูนย์เตรียมความพร้อมต่อภัยพิบัติในเอเชียกล่าว
“ผมคิดว่าเราจะได้เห็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นหลังจากนี้ไปอีก 5 ปี” เอกพล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศและการสร้างภาพเชิงภูมิศาสตร์ของศูนย์ฯ กล่าวในงานสัมมนาแก้ปัญหาหมอกควัน ในกรุงเทพฯ ที่รัฐมนตรีจากสามประเทศประกาศแผนการตั้งสายด่วนดังกล่าว
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็น จุดศูนย์รวมของมลพิษฝุ่นละอองและหมอกควันไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ข้ามแดน ซึ่งมีต้นตอมาจากการเผาพื้นที่เพื่อการเกษตรขนาดใหญ่
บริษัทต่าง ๆ เช่นในอินโดนีเซีย ได้ระบายน้ำออกจากพื้นที่ป่าพรุขนาดใหญ่เพื่อปลูกไม้เยื่อกระดาษและปาล์มน้ำมัน ทำให้พื้นที่นั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า การเกิดไฟครั้งใหญ่ในอินโดนีเซียในปี 2558 ส่งผลให้หมอกควันพัดเข้าไปถึงที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และพื้นที่ทางใต้ของไทย และจากการศึกษาร่วมของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากไฟไหม้ในภูมิภาคนี้ประมาณ 100,000 ราย จากผลกระทบทางมลพิษไฟป่า
ในงานที่จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประเทศไทย เมียนมา และลาว ได้ประกาศแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ฟ้าใส ซึ่งในระยะเริ่มแรกจะเน้นไปที่การจัดตั้งสายด่วน การพัฒนาแผนที่ความเสี่ยงจากไฟไหม้ และ “การพัฒนาขีดความสามารถ”
รัฐมนตรีของทั้งสามประเทศได้พร้อมกันวางมือบนวัสดุทรงกลมเรืองแสงขนาดใหญ่ในพิธีเปิดที่กรุงเทพฯ ทันใดภาพหมอกควันได้ปรากฏขึ้นบนหน้าจอขนาดใหญ่ด้านหลัง โดยกระจายตัวอย่างน่ากลัวเหนือแผนที่ทั่วภูมิภาค
“การเปิดแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ฟ้าใสนี้ดีต่อประเทศของเรา เพราะในอนาคตเราจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เราสามารถตั้งสายด่วน แบ่งปันความท้าทาย ปัญหา และโอกาสต่าง ๆ ได้” คิน หม่อง ยี รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของเมียนมา กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย
“ในขณะนี้ที่เมียนมา เรากำลังดำเนินการลดจุดความร้อนที่เกิดจากไฟ”
ข้าวโพดเพื่อเป็นอาหารสัตว์
กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ความพยายามของรัฐบาลขาดองค์ประกอบสำคัญ นั่นคือความรับผิดชอบของกลุ่มอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ของไทย
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะกล้าพอที่จะทำการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และร่วมปกป้องสุขภาพของประชาชนมาก่อนผลประโยชน์ทางการเงิน” รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและป่าไม้ กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย
“หากไม่มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้ความรับผิดชอบของธุรกิจเนื้อสัตว์และการเกษตร ความพยายามของรัฐบาล ก็จะไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาหมอกควันที่ต้นตอได้เลย” รัตนศิริกล่าว
ในช่วงที่เกิดปัญหาหมอกควันพิษในปี 2566 ผู้ป่วยนับพันต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยปัญหาทางระบบทางเดินหายใจ และในเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในเมืองที่มีระดับมลพิษสูงที่สุดในโลกในเวลานั้น ทางการได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ทำงานจากบ้าน และงดกิจกรรมกลางแจ้ง
สองสาเหตุหลักที่เป็นสาเหตุให้เกิดมลพิษในระดับอันตราย ซึ่งสูงกว่าระดับปกติถึง 16 เท่า ในบางพื้นที่ คือ ไฟป่า และการเผาตอซังข้าวโพดที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากการเก็บเกี่ยวในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับฤดูปลูกในเดือนพฤษภาคม
จากการวิจัยของกรีนพีซพบว่า ฝุ่นควันข้ามพรมแดนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างมากกว่า 40% เกิดจากไฟในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพื่อการเกษตรอุตสาหกรรมสำหรับอาหารสัตว์ ซึ่งมากกว่าไฟไหม้ที่เกิดจากไฟป่าและการทำเกษตรประเภทอื่น ๆ
จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของกรีนพีซ พบว่าการขยายตัวของการปลูกข้าวโพดเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์เป็นสาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าประมาณ 1.9 ล้านเฮกตาร์ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่างตั้งแต่ปี 2558-2566 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศลาว
เอกพล จากศูนย์เตรียมความพร้อมต่อภัยพิบัติ กล่าวว่า ในอนาคตการตรวจจับไฟจากดาวเทียมอาจรวมเข้ากับข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและบันทึกสุขภาพของโรงพยาบาล เพื่อคาดการณ์ไม่เพียงแค่ความเสี่ยงของหมอกควันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิตด้วย
“ในส่วนของรัฐบาล สิ่งที่จะทำให้พวกเขากระเตื้องได้ ก็คือเรื่องเงินและจำนวนผู้เสียชีวิต” เขากล่าว “นั่นจะทำให้รัฐบาลตื่นตัวขึ้นมาจริง ๆ”