ญาติ “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” ผิดหวังกรรมการสิทธิฯ ยุติการสอบสวน

กสม. ระบุไม่มีหลักฐานชี้ว่ามีผู้ใดกระทำต่อผู้เสียชีวิต
มารียัม อัฮหมัด
2021.07.26
ปัตตานี
ญาติ “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” ผิดหวังกรรมการสิทธิฯ ยุติการสอบสวน ญาติ ๆ และเพื่อนบ้านนำศพนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไปฝังที่กุโบร์บ้านเจาะกีแย ม.3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี วันที่ 25 สิงหาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ญาติของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่หมดสติภายในศูนย์ซักถามค่ายอิงคยุทธบริหารและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในเวลาต่อมาเมื่อปี 2562 กล่าวในวันจันทร์นี้ว่า ทางญาติมีความรู้สึกผิดหวังที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีจดหมายแจ้งให้ทราบว่า ได้ยุติการสอบสวนถึงสาเหตุการเสียชีวิตของอับดุลเลาะลงแล้ว  

นายโมฮำมัดรอฮมัด มามุ ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ในฐานะผู้ร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์ซักถามผู้ต้องสงสัยในค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี กล่าวว่าในวันจันทร์นี้ว่า ตนได้รับจดหมายแจ้งให้ทราบเรื่องรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีของนายอับดุลเลาะจากคณะกรรมการสิทธิฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้  

“ญาติ ๆ รู้สึกเสียใจ ผิดหวัง และหมดศรัทธาต่อองค์กรสิทธิฯ ชุดนี้ เป็นอย่างมาก มีสิทธิอะไรที่ให้ยุติเรื่องดังกล่าวทั้ง ๆ ที่ญาติยังไม่ได้รับความเป็นธรรมสักนิดเดียว” นายโมฮำมัดรอฮมัด กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ด้านนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความประจำมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า โดยสรุป ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ให้เหตุผลในการยุติการสอบสวนไว้สองประการ

“หนังสือที่ส่งมา เนื้อหาหลักคือ เขาจะยุติการสอบสวนเรื่องของอับดุลเลาะ เพราะเขาให้เหตุผลสรุปสั้น ๆ ว่า กรณีนี้ ได้รับการไต่สวนการเสียชีวิตในชั้นศาลแล้ว กสม. มองว่าไม่อยู่ในอำนาจแล้ว จึงควรยุติการไต่สวน... เขาไม่ได้ระบุว่าการเสียชีวิตเกิดจาก กอ.รมน.” นายอับดุลกอฮาร์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ ตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลงวันที่ 24 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิฯ ได้ลงพื้นที่ศูนย์ซักถามผู้ต้องสงสัย อย่างน้อย 3 ครั้ง และที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิฯ มีความเห็นให้ยุติการสองสวนลง ตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุผลว่า  

“ยังไม่ปรากฏหลักฐานทางการแพทย์ที่ระบุชัดเจนถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้ตายบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย และไม่มีพยานหลักฐานระบุได้แน่ชัดว่า มีผู้ใดทำให้ผู้ตายบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ประกอบกับในระหว่างการสอบสวนพบว่า พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสงขลาขอให้ไต่สวนการตายของผู้ตาย... กรณีตามประเด็นการร้องเรียน จึงเป็นประเด็นเดียวกันกับที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล”

ในเรื่องนี้ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ควรที่จะดำเนินสอบสวนต่อไป

“จริง ๆ แล้ว การไต่สวนการตายเป็นเรื่องสาเหตุการตายตามกฎหมายอาญา แต่ กสม. ก็มีหน้าที่ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน... เอกสารชุดนี้แสดงให้เห็นถึงการตีความแคบ ๆ ของ กสม. ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างที่ควรจะเป็น” นางสาวพรเพ็ญ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

การไต่สวน

นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 โดยแพทย์ระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากอาการปอดอักเสบ ติดเชื้อ และมีภาวะเป็นพิษจากการติดเชื้อ หลังจากที่พบว่าหมดสติอยู่ในห้องน้ำ ในศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อเวลาประมาณ 03.00 นาฬิกา ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ก่อนที่จะถูกนำส่งตัวไปรับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร แล้วถูกส่งไปรักษาตัวต่อ ณ อาคารผู้ป่วยวิกฤติ โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตามลำดับ

ทั้งนี้ นายอับดุลเลาะ ตกเป็นผู้ต้องสงสัย หลังจากที่นายอิบรอเฮงระ มะเซ็ง ซึ่งมีหมายจับคดีความมั่นคง 4 หมาย ให้การซัดทอดว่า นายอับดุลเลาะ เป็นผู้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี หลายครั้ง

ญาติของนายอับดุลเลาะ ได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองจิก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ด้วย และได้ร้องต่ออัยการจังหวัดสงขลา ให้เป็นผู้ร้องขอให้ศาลฯ ไต่สวนการตายของนายอับดุลเลาะ เพื่อประกอบการดำเนินคดีอาญา ตามคำข้อมูลที่นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต ได้กล่าวไว้

ในเรื่องนี้ ทนายความอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า ศาลได้เลื่อนการไต่สวนนัดที่กำหนดไว้ในเดือนมิถุนายนไปเป็นปลายเดือนสิงหาคม 2564 นี้ เพราะปัญหาโควิด โดยศาลจังหวัดสงขลา ได้เริ่มสอบปากคำนางสาวซูไมยะห์ มิงกะ (ภรรยาของผู้เสียชีวิต) นายจ้างของผู้เสียชีวิต หัวหน้าศูนย์ซักถามฯ เจ้าหน้าที่ทหารที่รับตัวนายอับดุลเลาะ ไปแล้ว

“ตอนนี้ พยานฝ่ายอัยการก็เหลือที่เป็นหมอ และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเขาพยายามจะยืนยันว่า การเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากการกระทำของคน ขณะที่ฝ่ายเราจะพยายามนำเสนอว่า การเสียชีวิตของอับดุลเลาะอาจเกิดจากการขาดออกซิเจน อาจเกิดจากการกระทำของบุคคล"

"เพราะก่อนอับดุลเลาะ ก็มีคดีอื่น ๆ มีกรณีที่มีการซ้อมทรมาน” ทนายความอับดุลกอฮาร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้

อนึ่ง เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ กรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงผลการตรวจของแพทย์ระบุว่า ไม่พบร่องรอยการถูกซ้อมทรมาน บนร่างกายของนายอับดุลเลาะ

“แพทย์ที่เกี่ยวข้องพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตมาจากอาการปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง และมีภาวะพิษจากการติดเชื้อ สาเหตุนำคือ ภาวะสมองขาดเลือด และขาดออกซิเจน การไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง อาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำอย่างที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการใช้ถุงคลุม การใช้ผ้าเปียกปิดหน้าแล้วเทน้ำใส่ หรือแม้กระทั่งตัวผู้ป่วยหมดสติ และมีภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร” นายอับดุลอซิซ กล่าว

“แพทย์ชี้ให้เห็นว่า หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น จะต้องมีการแสดงออกถึงจุดที่เลือดออกบ้าง เช่น จะแสดงออกได้ชัดเจนที่ตา คือเยื่อบุหลอดเลือดจะแตก และมีเลือดออกตามตา เหงือก ริมฝีปากคล้ำ เยื่อบุจะขาด ใบหน้าบวมคล้ำ ผู้ที่ขาดออกซิเจนจะแสดงให้เห็นได้ชัดเจนจากบริเวณริมฝีปาก ซึ่งในกรณีนายอับดุลเลาะไม่พบลักษณะดังกล่าว” นายอับดุลอซิซ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง