กต. ยืนยันแรงงานไทยตายเพิ่มอีก 6 คน จากการสู้รบที่อิสราเอล

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.10.10
กรุงเทพฯ
กต. ยืนยันแรงงานไทยตายเพิ่มอีก 6 คน จากการสู้รบที่อิสราเอล ชาวปาเลสไตน์ค้นหาผู้รอดชีวิตหลังจากโดนกองทัพอากาศอิสราเอลโจมตีทางอากาศต่อค่ายผู้อพยพจาบาเลีย (Jabalia) ในฉนวนกาซา วันที่ 9 ตุลาคม 2566
มาฮ์มุด แฮมส์/เอเอฟพี

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในวันอังคารนี้ว่า มีแรงงานไทยเสียชีวิตจากการสู้รบในอิสราเอลเพิ่มอีก 6 ราย รวมเป็น 18 ราย และเชื่อกลุ่มหัวรุนแรงฮามาสจะไม่ทำร้ายตัวประกันชาวไทย 11 คน ที่ถูกควบคุมตัวไปหลังจากกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอล เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา 

ในการแถลงข่าวช่วงเช้าวันอังคารนี้ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า สถานการณ์การสู้รบยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามประสานงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยให้สามารถออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยได้ 

“ตัวเลขที่ได้รับรายงานล่าสุด ผู้เสียชีวิต เพิ่มขึ้นมาอีก 6 คน ก็จะเป็น 18 คน ซึ่งอันนี้เป็นการได้รับแจ้งจากนายจ้าง ผู้ได้รับบาดเจ็บ 9 ราย ข้อมูลผู้ได้รับการจับกุมพาตัวไปยังคงเป็น 11 รายเหมือนเดิม อิสราเอลได้ร่วมกับอพยพพลเรือนรวมทั้งแรงงานไทย ที่เสี่ยงภัยสูงสุดจากบริเวณ 4 กิโลเมตรรอบฉนวนกาซ่า ในรอบกลางคืนและเมื่อเช้า ที่ท่านทูตรายงานมา ได้หลายร้อยคนแล้วที่ไปยังพื้นที่ปลอดภัย” นางกาญจนา กล่าว 

“เท่าที่เราได้มีการหารือกับฝ่ายต่าง ๆ เท่าที่ทราบคือ กลุ่มฮามาส ไม่น่าจะทำร้ายคนต่างชาติ เพราะไม่ได้เป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง คงไม่อยากขยายด่านความขัดแย้ง” นางกาญจนา ระบุ 

นางกาญจนา กล่าวอีกว่า ทางสถานทูตไทยจะประสานการส่งตัวแรงงานกลุ่มแรก 15 คน กลับประเทศไทยได้ในเวลา 21.45 น. ของวันที่ 11 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ โดยจะถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 12 ตุลาคม และจะอพยพแรงงานอีก 80 คนกลับมาในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 โดยการคัดเลือกจากผู้ที่ลงทะเบียนขอกลับประเทศ ขึ้นอยู่กับลำดับความจำเป็น ซึ่งถึงปัจจุบันมีผู้ร้องขออพยพ 3,226 คน 

กระทรวงแรงงาน เปิดเผยอีกว่า ในศูนย์หลบภัยแรงงานของประเทศอิสราเอล ปัจจุบัน มีแรงงานไทยไปขออาศัยอยู่ 256 คน 

ด้าน น.ส. พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เปิดเผยว่า ทางการไทยได้พยายามประสานกับรัฐบาลอิสราเอลเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย และผู้ที่ติดอยู่ในการสู้รบ 

“พวกเรากำลังระดมสรรพกำลังทั้งหมด เพื่อจะติดต่อกับพี่น้องแรงงานไทยทุกท่าน แต่ตอนนี้ประเทศอยู่ภาวะสงคราม ตระหนักดีถึงความเดือดร้อน เราพยายามติดต่อกับทางการอิสราเอลว่ามีคนไทยติดอยู่ ขอให้ช่วยส่งกองกำลังเข้าไป เขาก็พยายามไปตามโซน ก็ต้องใช้เวลานิดนึง” น.ส. พรรณนภา กล่าวทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ 

น.ส. พรรณนภา กล่าวอีกว่า (แรงงานกลุ่มแรกจะออกจากอิสราเอลในวันที่ 11 (ตุลาคม 2566) อย่างแน่นอน โดยสถานทูตจะส่งรถไปรับหรือให้นายจ้างมาส่ง หรือติดต่อให้เขามีรถเหมามาเพื่อที่จะขึ้นเครื่อง 

“เราจะตั้งเคาท์เตอร์ เพื่อออกเอกสารให้ขึ้นเครื่องที่สนามบิน 15 ท่านแรกจะได้กลับแน่นอน ยกเว้นว่า สนามบินปิด” น.ส. พรรณนภา กล่าว 

ด้านนายสังวาลย์ (สงวนนามสกุล) แรงงานไทยในเมืองปริกาน (Pri Gan) อิสราเอล เปิดเผยว่า ตนกังวลกับสถานการณ์การสู้รบมากและต้องการได้รับการช่วยเหลือ 

“ตอนนี้ไม่ปลอดภัยเลย กลางคืนต้องนอนในหลุมหลบภัยทุกคืนเลย นายจ้างก็ยังไม่ออกเงินให้ นายจ้างอพยพไปแล้ว ทิ้งไว้แต่แรงงาน ไม่รู้จะอพยพไปที่ไหน พยายามติดต่อกรมแรงงานกับกรมกงสุลแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ ดูข่าวเพื่อนที่อิสราเอลในติ๊กต๊อกถูกฆ่าเมื่อสามวันก่อน แล้วใจไม่ค่อยดีเลย ผมต้องการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย” นายสังวาลย์ ขอความช่วยเหลือผ่านแอพปลิเคชันไลน์ 

ในวันนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อิสราเอลยังคงตัดน้ำ ไฟฟ้า และอาหารที่เคยส่งไปยังฉนวนกาซา และยังมีการโจมตีเป็นระยะ ๆ 

ผศ.ดร. มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ทัศนะว่าสถานการณ์มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเลวร้ายลง 

"วันนี้ ปัญหานี้ไม่ได้มีแค่อิสราเอลกับปาเลสไตน์ แต่ยังมีพันธมิตรของแต่ละฝ่าย สถานการณ์ที่จะพัฒนาไปมันจึงสุ่มเสี่ยง อิสราเอลได้ระดมทหารเข้าไปหลายแสนนาย เมื่อคืนมีการถล่มทางอากาศหนักมาก และเชื่อว่ามีการเตรียมการบุกเข้าไปภาคพื้นดิน ถ้าไม่เปลี่ยนใจ กลุ่มรอบนั้นกำลังรอดูพร้อมส่งสัญญาณว่า ถ้าอิสราเอลยึดครองดินแดนกาซา เขาก็จะกระโจนเข้าสู่สงครามนี้ด้วย ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีหลายกลุ่มหลายฝ่ายกระโจนเข้าสงครามด้วย" ผศ.ดร. มาโนชญ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

การสู้รบในอิสราเอล เริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 หรือ วันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) อันถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว ซึ่งประชาชนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน โดยกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงชาวปาเลสไตน์ เริ่มต้นยิงจรวดเข้าใส่ชายแดนภาคใต้ของอิสราเอลในช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น โดยเรียกว่า ปฏิบัติการ อัล-อักซา ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) โดยฮามาสอ้างว่า ใช้จรวดกว่า 5 พันลูก ขณะเดียวกันกองกำลังติดอาวุธได้บุกเข้าไปยังชายแดนโจมตีและจับประชาชนเป็นตัวประกัน

หลังจากอิสราเอลได้ส่งเครื่องบินไอพ่นและเฮลิคอปเตอร์ เข้าโจมตีเป้าหมายในฉนวนกาซา ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้นับพันคน โดยในฝั่งอิสราเอลประมาณ 700 คน และในฝั่งปาเลสไตน์ประมาณ 400 คน รวมทั้งเชื่อว่าฝ่ายฮามาสได้จับคนเป็นตัวประกันกว่าหนึ่งพันราย 

ปัจจุบัน มีคนไทยอยู่ในประเทศอิสราเอลประมาณ 3 หมื่นราย เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ใกล้ฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบประมาณ 5 พันราย 

เมื่อช่วงกลางปี 2564 เคยมีคนไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส โดยในครั้งนั้น กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่ามีคนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และบาดเจ็บ 8 คน จากแรงงานไทยทั้งหมดขณะนั้นที่มีกว่า 1.87 หมื่นคน ส่วนใหญ่คนไทยที่อยู่ในอิสราเอลเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ มีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 45,000-50,000 บาทต่อเดือน

ความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ย้อนหลังไปได้ถึงได้หลายทศวรรษ โดยที่หลังจากอังกฤษและฝ่ายพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว อังกฤษได้สัญญาที่จะหาที่ตั้งประเทศให้กับชาวยิว  

ในปี ค.ศ. 1947 องค์การสหประชาชาติ ได้มีมติตอบสนองความต้องการของอังกฤษ ซึ่งได้เลือกดินแดนของปาเลสไตน์ มีการแบ่งออกเป็นรัฐอาหรับและรัฐยิว แล้วก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นใน ปี ค.ศ. 1948  เหตุนี้ ทำให้เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล ซึ่งยุติในปีถัดมา ดินแดนดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ รัฐอิสราเอล (Israel หรือ Jewish State), ฉนวนกาซา (Gaza Strip) อยู่ติดกับอียิปต์ และเขตเวสต์แบงค์ (West Bank) หรือดินแดนทางทิศตะวักตกของแม่น้ำจอร์แดน   

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง