รัฐเร่งเพิ่มไฟลท์ 32 เที่ยวอพยพแรงงานไทยจากอิสราเอล
2023.10.16
กรุงเทพฯ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลวางแผนจะเพิ่มเที่ยวบินจากอิสราเอลกลับมายังประเทศไทยอย่างน้อย 32 เที่ยวภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ เพื่อรองรับแรงงานไทยที่ต้องการกลับประเทศหนีภัยการสู้รบอิสราเอล-ฮามาส 5.7 พันคน โดยล่าสุด มีคนไทยในอิสราเอลเสียชีวิตแล้ว 29 คน บาดเจ็บ 16 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 17 คน
นายเศรษฐา เปิดเผยในวันจันทร์นี้ว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการนำคนไทยในอิสราเอลกลับประเทศ และพร้อมจะเจรจากับหลายประเทศเพื่อช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล
“เรื่องการอพยพก็พยายามเต็มที่ให้เร็วที่สุด เที่ยวบินอย่างน้อยต้องมีมากกว่า 32 เที่ยว…” นายเศรษฐา กล่าว และระบุว่า ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ต้องอาศัยการทูตทั้งทางที่ไม่เป็นทางการและเป็นทางการ
“ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ผู้นำทุกประเทศให้ความสำคัญ และเป็นห่วงเป็นใยจริง ๆ อยากให้ทุกอย่างจบได้ด้วยดี” นายเศรษฐากล่าว
ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยในอิสราเอล เสียชีวิต 29 ราย บาดเจ็บ 16 ราย และถูกจับเป็นตัวประกัน 17 ราย
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลได้ประสานกับการบินไทย, นกแอร์, สไปซ์แอร์ และแอร์อิสราเอล ให้มีเที่ยวบินจากอิสราเอลมาไทยอย่างน้อย 32 เที่ยวบิน ภายในเดือนตุลาคม 2566 นี้ ซึ่งจะรองรับแรงงานไทยได้ 5,700 คน ขณะที่มีผู้ต้องการกลับประเทศมากกว่า 7,000 คนแล้วในขณะนี้
“เรื่องตัวประกัน 17 คน ใช้ 4 ช่องทางในการติดต่อประสานให้ปลอดภัย ทางการทูต ข่าวกรอง การทหาร และภาคประชาสังคม ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อขอรับคนไทยกลับมาเร็วที่สุด นายกรัฐมนตรียอมรับว่าสถานการณ์ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจแต่รัฐบาลโดยทุกหน่วยงานให้ความสำคัญสูงสุด และพยายามหาช่องทางเพิ่มเติมโดยจะนำคนไทยกลับมาให้หมดภายในสิ้นเดือนนี้” นายชัย ระบุ
ปัจจุบัน มีคนไทยในอิสราเอลได้กลับประเทศแล้ว 324 คน จากผู้แจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับไทยทั้งสิ้นราว 7,540 คน โดยคนไทยกลุ่มแรกกลับมาถึงไทยในวันที่ 12 ตุลาคม 2566 รวม 41 คน โดยสายการบินแอร์อิสราเอล กลุ่มที่สองถึงประเทศไทยในวันที่ 13 ตุลาคม 2566 รวม 56 คน กลุ่มที่สามถึงประเทศไทยในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 รวม 90 คน และกลุ่มที่สี่ถึงประเทศไทยโดยเที่ยวบินของกองทัพอากาศ 137 คนในวันที่ 16 ตุลาคม 2566
ต่อประเด็นการนำแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยกำลังพยายามเจรจากับประเทศใกล้เคียงอิสราเอล เพื่อให้ใช้เป็นทางผ่านในการดำเนินการนำแรงงานไทยกลับประเทศ
“สิ้นเดือนตุลาคมนี้จะมีคนไทยอพยพออกมาประมาณ 6,000 คน แต่ตอนนี้กำลังคิดวิธีการอื่น ๆ หากมีวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติมก็อาจจะได้มากกว่า 6,000 คน รัฐบาลกำลังคิดแผนใหม่อยู่ว่าจะเอาเครื่องบิน ซี-130 ที่บินไกลไม่ได้ ไปลำเลียงแรงงานจากอิสราเอลไปไว้ประเทศที่สาม เช่น จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย ดูไบ ไซปรัส นอกจากนี้คิดว่าถ้าจำเป็นอาจจะต้องเสริมด้วยทางเรือ โดยทางกองทัพเรือเอาเรือไปจอดรับ แต่ตอนนี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นนั้น” นายสุทิน กล่าว
แรงงานชาวไทยที่อพยพหนีการสู้รบในอิสราเอล โบกมือทักทายผู้มาต้อนรับหลังเดินทางถึงสนามบิน บน. 6 วันที่ 16 ตุลาคม 2566 (กองทัพอากาศไทย)
เฉียดฉิวความตาย
นายโชคชัย ยงโพธิ์ อายุ 33 ปี ชาวกาฬสินธุ์ แรงงานไทยที่เดินทางกลับมาในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ตนเองเซ็นสัญญาไปทำงานเกษตรกรรมที่อิสราเอลด้วยสัญญา 5 ปี แต่เพิ่งไปได้แค่ 1 เดือน ก็ต้องขอเดินทางกลับเพราะเจอสถานการณ์การบุกโจมตีของกลุ่มฮามาส
“ผมอยู่เมืองมิฟเตอร์คิมจะห่างจากฉนวนกาซาไม่เยอะไม่ถึง 10 กิโล นาทีที่กลุ่มฮามาส บุกเข้าไปที่แคมป์พวกผม เขายิงกราดเข้าไป พวกผมได้แต่หลบอยู่ในห้องเงียบ ๆ ถ้าเขาเข้าไปได้ถึงผมก็ไม่รู้จะได้มีชีวิตอยู่ถึงตอนนี้ไหม คืนวันที่ 7-8 (ตุลาคม 2566) เราต้องปิดไฟทั้งแคมป์แล้วล็อกห้องอยู่เงียบ ๆ แล้วตามข่าว 2 วันแรกแทบไม่ได้นอน เพราะคิดถึงหน้าพ่อหน้าแม่ มันคือนาทีชีวิตที่พูดยาก ผมดีใจมาก ๆ วันนี้ คุยกับครอบครัวแล้วไม่น่าจะกลับไปอีก เพราะสภาพจิตใจค่อนข้างแย่” นายโชคชัยกล่าว
ด้าน นายคคนภูมิ ฤาชา อายุ 39 ปี ชาวชัยภูมิ แรงงานไทยในอิสราเอล ได้เปิดเผยประสบการณ์ที่เลวร้ายว่า
“เขา (ฮามาส) มายิงที่หน้าประตูแคมป์ของพวกผม แล้วก็บุกเข้ามา 100 กว่าคน ยิง รปภ. ที่เฝ้าอยู่เสียชีวิตไป 2 นาย พวกผมก็วิ่งไปที่ห้องหลบภัย 11 คน มีคน (ฮามาส) เข้ามา 3 คนจะเข้ามาที่ห้องหลบภัย ผมต้องจับตัวล็อกไว้ เขายิงเข้ามา แล้วก็มีทหารอิสราเอลเข้ามาช่วย ถ้าไม่ช่วยก็ไม่น่ารอดเหมือนกัน ดีใจมากที่ได้กลับมาครับ”
การสู้รบในอิสราเอล เริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ตรงกับวันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) อันถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว ซึ่งประชาชนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน โดยกลุ่มฮามาสยิงจรวดเข้าใส่ชายแดนภาคใต้ของอิสราเอลและเป้าหมายพลเรือน ในช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น หลังจากนั้นอิสราเอลได้โจมตีตอบโต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายจำนวนหลายพันคน
ทางการไทยระบุว่า มีประชาชนไทยอาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอลประมาณ 3 หมื่นราย โดยมีแรงงานทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคการเกษตร ใกล้ฉนวนกาซาซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบประมาณ 5 พันราย
เมื่อช่วงกลางปี 2564 เคยมีคนไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส โดยในครั้งนั้น กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า มีคนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และบาดเจ็บ 8 คน จากแรงงานไทยทั้งหมดขณะนั้นที่มีกว่า 1.87 หมื่นคน ส่วนใหญ่คนไทยที่อยู่ในอิสราเอลเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ มีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 45,000-50,000 บาทต่อเดือน
ความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ย้อนหลังไปหลายทศวรรษ โดยหลังจากที่อังกฤษและฝ่ายพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว อังกฤษได้สัญญาที่จะหาที่ตั้งประเทศให้กับชาวยิว ในปี ค.ศ. 1947 องค์การสหประชาชาติ ได้มีมติตอบสนองความต้องการของอังกฤษ ซึ่งได้เลือกดินแดนของปาเลสไตน์ มีการแบ่งออกเป็นรัฐอาหรับและรัฐยิว แล้วก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นในปี ค.ศ. 1948 เหตุนี้ทำให้เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล ซึ่งยุติในปีถัดมา ดินแดนดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ รัฐอิสราเอล (Israel หรือ Jewish State), ฉนวนกาซา (Gaza Strip) อยู่ติดกับอียิปต์ และเขตเวสต์แบงค์ (West Bank) หรือดินแดนทางทิศตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน