กต. เผยคนไทยในอิสราเอล เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 8 ราย จากภัยสู้รบ

แรงงานไทยในอิสราเอล หวังรัฐช่วยเจรจาย้ายไปทำงานห่างพื้นที่สู้รบ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.05.19
กรุงเทพฯ
กต. เผยคนไทยในอิสราเอล เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 8 ราย จากภัยสู้รบ เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบบ้านหลังถูกยิงด้วยจรวด จากฉนวนกาซา ในเมืองสดีโรท ประเทศอิสราเอล วันที่ 19 พฤษภาคม 2564
เอพี

ในวันพุธนี้ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า มีแรงงานไทยเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 8 ราย จากการที่กลุ่มหัวรุนแรงฮามาส ในฉนวนกาซา ยิงจรวดโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ก่อให้เกิดความเสียหายแก่แรงงานไทยมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ปัจจุบัน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ระบุว่า มีคนไทยที่อาศัยอยู่ในรัศมี 100 เมตร จากฉนวนกาซา ประมาณ 4 พันคน จำนวนแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในอิสราเอล ณ เดือนเมษายน 2564 จากกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 18,728 คน

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงสถานการณ์การสู้รบ ในประเทศอิสราเอลว่า คนไทยซึ่งอาศัยอยู่ห่างจากพื้นที่การสู้รบ 14 กิโลเมตร ได้รับลูกหลง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

“กรณีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย จากเหตุการโจมตีด้วยจรวดของกลุ่มฮามาสที่นิคมเกษตรกรรม (Moshav) โอฮาด (Ohad) ใกล้ฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยมากที่สุด นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน” นายธานี กล่าว

“สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนั้น มีอาการสาหัส 2 ราย และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 6 ราย ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลโซโรกา (Soroka) เมืองเบียเชว่า (Beer Sheva) บางส่วนอาการดีขึ้นมาก จึงได้รับการอนุญาตให้เดินทางกลับที่พักแล้ว ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้โทรศัพท์ไปหาผู้บาดเจ็บ และสามีของผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยแสดงความเสียใจที่ได้รับบาดเจ็บ และอวยพรให้ฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว พร้อมขอให้มีขวัญและกำลังใจ เพื่อผ่านอุปสรรคในครั้งนี้” นายธานี กล่าวเพิ่มเติม

หลังจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะได้ประสานครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อแจ้งกระบวนการส่งศพผู้เสียชีวิต ตลอดจนติดตามสิทธิประโยชน์ รวมทั้งเงินชดเชยที่ผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บพึงได้รับจากสถาบันประกันแห่งชาติอิสราเอล (National Insurance Institute) ของอิสราเอล ต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศ ยังได้ระบุว่า นายอะลอง ชูสเตอร์ (Alon Schuster) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร อิสราเอล รวมถึงนายกิลาร์ด โคเฮน (Gilard Cohen) รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อิสราเอล ได้โทรศัพท์ถึงเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตและบาดเจ็บของแรงงานไทย โดยทางการอิสราเอล พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมย้ำว่าทางการอิสราเอลใช้มาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยแก่คนต่างชาติเช่นเดียวกับชาวอิสราเอล

ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ กระทรวงแรงงาน ระบุว่า รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยการสู้รบในอิสราเอล

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตและห่วงใยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด และสั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งลงพื้นที่แจ้งความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้ญาติพี่น้องและครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทราบในทันที” นายสุชาติ ระบุ

กระทรวงแรงงานได้เปิดเผย รายชื่อผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย 1. นายวีรวัฒน์ การันบริรักษ์ อายุ 44 ปี ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ และ 2. นายสิขรินทร์ สงำรัมย์ อายุ 24 ปี ชาวจังหวัดบุรีรัมย์

ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสเข้ารับการผ่าตัดรักษาตัวในโรงพยาบาล คือ นายอัตรชัย ธรรมแก้ว อายุ 28 ปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี และผู้ได้รับบาดเจ็บรายอื่นคือ 1. นายณรงค์ศักดิ์ รอดชมพู อายุ 32 ปี 2. นายเชษฐา ผลาพรม อายุ 40 ปี 3. นายธนดล ขันธชัย อายุ 26 ปี มีทั้ง 3 คนเป็นชาวจังหวัดอุดรธานี 4. นายปรีชา แซ่ลี้ อายุ 32 ปี ชาวจังหวัดเชียงราย 5. นายสมศักดิ์ จันทร์ภักดี อายุ 26 ปี ชาวจังหวัดสุรินทร์ 6. นางสาวจรัสศรี กล้าแข็ง อายุ 39 ปี ชาวจังหวัดหนองคาย และ 7. นายจักรี รัตพลที อายุ 31 ปี มีชาวจังหวัดหนองบัวลำภู

กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า สถาบันประกันแห่งชาติอิสราเอล จะจ่ายค่าทดแทนกรณีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือพิการ 0-10% ไม่ได้รับค่าทดแทน นอกจากค่าจ้างในช่วงที่ทำงานไม่ได้เพราะบาดเจ็บ บาดเจ็บหรือพิการ 10-19% ได้รับเงินก้อนครั้งเดียว ไม่เกิน 150,000 เชคเกล (ประมาณ 1,500,000 บาท) บาดเจ็บหรือพิการ เกิน 20% ขึ้นไป จะได้รับค่าทดแทนเป็นรายเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต โดยคำนวณจากเปอร์เซ็นต์สูญเสีย หาก 100% จะได้รับเดือนละประมาณ 6,000 เชคเกล (ประมาณ 60,000 บาท)

กรณีเสียชีวิต ภรรยาและบุตรของผู้เสียชีวิตทุกคนจะได้รับเงินช่วยเหลือทุกเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ หรือลูกมีอายุครบ 18 ปี โดยภรรยาจะได้รับประมาณ 60% ของ 6,000 เชคเกลทุกเดือน (ประมาณ 36,000 บาท บุตร จะได้รับประมาณ 10-20% ของ 6,000 เชคเกลทุกเดือน (ประมาณ 6,000-12,000 บาท)

ขณะที่ กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จะจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง ไม่เกินคนละ 30,000 บาท กรณีสมาชิกเสียชีวิตในต่างประเทศจะได้เงินช่วยเหลือ จำนวน 80,000 บาท แบ่งออกเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 40,000 บาท ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดการศพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท

210519-TH-Isarael-thai-workers-1000.jpg

นายจ้างชาวอิสราเอลตรวจสอบเศษอาวุธที่ตกมายังแปลงเกษตร เมืองเทลมีโยเซฟ ที่คนงานไทยทำงานอยู่ วันที่ 16 พฤษภาคม 2564 (ภาพโดยกลุ่มแรงงานไทย)

ด้านแรงงานไทยในอิสราเอล เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ต้องการให้หน่วยงานรัฐบาลไทยประสานนายจ้าง เพื่อย้ายแรงงานไทยออกจากพื้นที่การสู้รบ เพื่อความปลอดภัย

ขณะเดียวกัน นายเอ้ (สงวนนามสกุล) แรงงานไทยอายุ 36 ปี เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ใกล้พื้นที่สู้รบต้องทำงานอย่างระแวดระวัง เนื่องจากไม่สามารถหยุดงานได้ แม้จะมีการปะทะกันในบริเวณดังกล่าว

“ที่มีคนไทยเสียชีวิตเรียกว่า โมชาฟโอฮาด ห่างจากที่เขารบกัน 14 กิโลฯ ที่ที่ผมอยู่เรียกว่า โมชาฟเทลมีโยเซฟ ใกล้กับปาเลสไตน์ มีฐานทหารอยู่ไม่ไกล ถีบจักรยานไปถึง บริเวณที่ผมอยู่มีคนไทยประมาณ 200 คน ผมทำงานในสวน ระหว่างที่มีการสู้รบ ทุกคนต้องระมัดระวัง คอยมองท้องฟ้า เพราะมีการยิงกันโดยตลอด เขายิงกันตอนกลางคืน ทำให้พวกผมนอนกันแทบไม่ได้เลย นายจ้างยังคงให้ทำงานตามปกติ เวลาทำงานเขายิงกันข้ามหัวพวกผม ถ้ามีระเบิดลงใกล้ ๆ ที่ทำงาน นายจ้างถึงจะให้หยุดชั่วคราว ให้ไปอยู่ในหลุมหลบภัย” นายเอ้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ผ่านโทรศัพท์

“ตอนนี้ นายจ้างยังไม่มีการพูดถึงค่าชดเชย ถ้าถูกลูกหลง ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สถานทูตฯ ได้เข้ามาดูคนที่ได้รับบาดเจ็บ แต่ยังไม่ได้มีการให้ความช่วยเหลืออะไรแรงงานไทย สิ่งที่แรงงานต้องการคือ ประสานกับนายจ้าง เพื่อย้ายพวกผมไปทำงานที่ภาคกลางซึ่งห่างไกลจากจุดที่เกิดสงครามกว่านี้ ผมยังกลับไม่ได้ หยุดงานไม่ได้ เพราะถ้าหยุดก็ไม่ได้เงิน เขาจ่ายเป็นรายวัน” นายเอ้ ระบุ

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับการจัดสรรโควตาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในภาคเกษตรประเทศอิสราเอล 5,099 คน ได้ดำเนินการจัดส่งไปแล้ว จำนวน 3,100 คน โดยรัฐอิสราเอลจะส่งเครื่องบินเหมาลำมารับทุกวันพฤหัสบดี เวลา 09.00 น. สัปดาห์ละประมาณ 250 คน สำหรับค่าใช้จ่ายเป็นค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ประมาณคนละ 50,000 บาท สัญญาจ้าง 3 ปี จากนั้นสามารถต่อได้อีก 2 ปี รวมเป็น 5 ปี มีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 45,000-50,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ ได้กำชับไม่ให้มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในพื้นที่ที่เสี่ยงภัย หรือเป็นอันตรายต่อแรงงานไทย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง