309 แรงงานไทย ลัดฟ้าไปอิสราเอลกลุ่มแรกในรอบ 8 เดือน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.06.25
กรุงเทพฯ
309 แรงงานไทย ลัดฟ้าไปอิสราเอลกลุ่มแรกในรอบ 8 เดือน แรงงานไทยชุดแรกจำนวน 309 คน เดินทางออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 25 มิถุนายน 2567 ถือเป็นกลุ่มแรงงานไทยชุดแรกที่เดินทางไปยังประเทศอิสราเอลในรอบ 8 เดือน
กรมการจัดหางาน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในวันอังคารนี้ว่า ไทยได้ส่งแรงงานกลุ่มแรกไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล หลังจากชะลอกระบวนการส่งออกแรงงาน 8 เดือน หลังการสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสทวีความรุนแรง โดยไทยตั้งเป้าจะส่งแรงงานให้ครบ 10,000 คน ภายในสิ้นปี 2567 

“กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของแรงงานไทยเป็นลำดับแรก โดยหลังจากกรมการจัดหางานประกาศ ยกเลิกการชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐอิสราเอล ทุกวิธีการเดินทาง ภายใต้เงื่อนไขว่าแรงงานไทยจะเดินทางไปทำงานในพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย ล่าสุดได้เตรียมจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมแล้ว จำนวน 540 คน” นายพิพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ แรงงานไทยกลุ่มแรก 309 คน จะเดินทางออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ในช่วงเย็นวันอังคาร และจะถึงท่าอากาศยานเบนกูเรียน กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล ในช่วงดึกตามเวลาท้องถิ่น โดยจะมีการทยอยเดินทางอีก ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 และวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2567 ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถส่งแรงงานไทยไปทำงานรัฐอิสราเอลตามเป้าหมาย 10,000 คน ภายในปีนี้ 

“จากการพูดคุยกับพี่น้องแรงงานไทยที่เข้ารับการอบรมก่อนเดินทางไปทำงานรัฐอิสราเอล ทราบว่าส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอุดรธานี เชียงราย นครพนม บุรีรัมย์ นครราชสีมา ซึ่งผมได้แสดงความยินดีกับทุกคน พร้อมกำชับทุกคนให้รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด อดทนเพื่อครอบครัวที่รออยู่ด้านหลัง วางแผนเก็บออม เพื่อมีทุนกลับมาต่อยอด สร้างอนาคตให้ตนเองและครอบครัว” นายพิพัฒน์ กล่าว

เรื่องการส่งแรงงานไทย น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ (M.W.R.N) ชี้ว่า รัฐบาลไทยต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยและสวัสดิภาพของแรงงานไทยในอิสราเอลเป็นลำดับแรก หากต้องการดำเนินโครงการนี้ต่อ

“เท่าที่ตามข่าว สงครามเองก็ยังไม่สงบดี รัฐบาลต้องสอดส่องดูข้อเท็จจริงว่า พื้นที่ที่แรงงานไปเป็นพื้นที่สีแดงหรือไม่ ถ้าอยากไปจริง ๆ ก็ต้องไปในพื้นที่ที่ปลอดภัย และรัฐบาลจะไปซัพพอร์ตแรงงานอย่างไร ในกรณีที่แรงงานกู้เงินเพื่อเดินทางไปทำงานในอิสราเอล เพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้สินมากนัก” น.ส. สุธาสินี กล่าว

“จริง ๆ แล้วรัฐบาลเองก็ทำหน้าที่ในการส่งแรงงานออกไป แต่มันไม่ได้มีแต่ประเทศอิสราเอลที่รับแรงงานไทยไปทำงาน ยังมีประเทศอื่นอีก ลองเช็คประเทศอื่นที่คนงานไปแล้วปลอดภัย มีสวัสดิการที่ดี ได้รับความคุ้มครองก็ส่งไปก็ได้ ทำไมต้องปักหลักไปอิสราเอล” น.ส. สุธาสินี กล่าวเพิ่มเติม

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า อิสราเอลนับเป็นประเทศแรก ๆ ที่แรงงานไทยอยากเดินทางไปทำงาน 

“อิสราเอลถือเป็นประเทศหนึ่งในห้าอันดับแรกร่วมกับ ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ที่แรงงานไทยมีความประสงค์ที่จะเดินทางไปทำงาน โดยทำงานภาคเกษตรเป็นลำดับแรก รองลงมา คือ ภาคบริการและร้านอาหาร ในตำแหน่ง หัวหน้าพ่อครัว และคนปรุงอาหาร ปัจจัยหลักส่วนหนึ่ง มาจากรายได้ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 5,880 เชคเกลอิสราเอล หรือ 50,000–55,000 บาทต่อเดือน ไม่รวมค่าล่วงเวลา” นายสมชาย กล่าว

นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การส่งแรงงานไทยเดินทางไปครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers - TIC) มีระยะเวลาการจ้างงาน 5 ปี 3 เดือน ซึ่งรัฐบาลได้เช่าเหมาลำพิเศษ สายการบิน แอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ เพื่อนำส่งแรงงานไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

การส่งแรงงานไทยไปยังอิสราเอลครั้งนี้ เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณกลางประจำปี 2567 เป็น 291 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอล โดยปัจจุบัน ยังมีแรงงานไทยที่ถูกกองกำลังฮามาสจับเป็นตัวประกัน และรอการช่วยเหลืออีก 6 ราย

การสู้รบในอิสราเอล เริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ตรงกับวันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) อันถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว ซึ่งประชาชนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน โดยกลุ่มฮามาสยิงจรวดเข้าใส่ชายแดนภาคใต้ของอิสราเอลและเป้าหมายพลเรือน ในช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น หลังจากนั้นอิสราเอลได้โจมตีตอบโต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายจำนวนหลายพันคน

กระทรวงแรงงาน ระบุว่า มีประชาชนไทยอาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอลประมาณ 3 หมื่นราย โดยมีแรงงานประมาณ 5 พันราย ทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคการเกษตรใกล้ฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบ กระทั่งเริ่มอพยพกลับประเทศหลังการสู้รบทวีความรุนแรงในปลายเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 กว่า 7 พันคน โดยระหว่างการสู้รบมีแรงงานไทยที่เสียชีวิตอย่างน้อย 41 คน

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง