ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 3 ปี สมาชิก 'สหพันธรัฐไท'

นับเป็นคดีแรกที่ศาลลงความผิดฐาน 'อั้งยี่' เพราะกฤษณะ-วรรณภา แจกเสื้อที่มีลิงก์กลุ่มปลุกระดม
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.11.30
กรุงเทพฯ
ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 3 ปี สมาชิก 'สหพันธรัฐไท' กลุ่มสนับสนุนสหพันธรัฐไทแขวนป้ายผ้าบนทางเดินลอยฟ้า ใกล้ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง วันที่ 5 ธันวาคม 2561
ภาพจากออนไลน์

ในวันพุธนี้ ศาลฎีกาพิพากษายืนให้จำคุกนายกฤษณะ (สงวนนามสกุล) และนางวรรณภา (สงวนนามสกุล) เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานกระทำผิดเป็นอั้งยี่จากการแจกใบปลิว-ขายเสื้อ “สหพันธรัฐไท”

ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ในเช้าวันนี้ โดยในคดีนี้จำเลยถูกอัยการฟ้องว่ามีความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 “อั้งยี่” จากการแจกใบปลิวและขายเสื้อสีดำซึ่งมีสัญลักษณ์ของสหพันธรัฐไท ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุเกิดเมื่อปี 2561

ฎีกามีเรื่องต้องพิเคราะห์ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานอั้งยี่หรือไม่ ศาลเห็นว่า ถ้อยคำในใบปลิวและเสื้อถึงแม้จะไม่มีความผิด แต่ได้ระบุลิงก์ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท ซึ่งปลุกระดม ถือว่ามีความมุ่งหมายผิดกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 ใช้เฟซบุ๊กกล่าวโจมตีรัฐบาล และเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์สหพันธรัฐไท จำเลยที่ 2 ร่วมกันแจกใบปลิว และจำเลยที่ 4 ร่วมแจกจ่ายเสื้อ และใบปลิว แสดงให้เห็นว่าเป็นสมาชิก และมีส่วนร่วมกับสหพันธรัฐไท ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามชั้นอุทธรณ์” ผู้พิพากษาระบุในการอ่านคำพิพากษา

หลังฟังคำพิพากษา นางวรรณภา ได้เดินเอาแหวนมาใส่มือของลูกชายอายุ 18 ปี และทั้งคู่ก็ร้องไห้ โดยนางวรรณภากล่าวกับลูกว่า “แม่ไปแล้วลูก ไม่ต้องร้อง มันจะได้จบ ๆ ใช้ชีวิตตามปกติ”

ด้านนายกฤษณะ ซึ่งไม่ได้มีญาติมาฟังคำพิพากษาด้วย มีสีหน้าเรียบเฉย โดยหลังจากเสร็จกระบวนการในชั้นศาล จำเลยทั้ง 2 คน ถูกเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์พาไปควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางทันที

ในเริ่มต้น คดีมีจำเลยรวม 5 คน ได้แก่ นายกฤษณะ, นายเทอดศักดิ์ (หนีคดีเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565), นางวรรณภา, นางจินดา (หนีคดีตั้งแต่ต้น) และ นางประพันธ์ รับโทษครบแล้วหลังศาลชั้นต้นได้ตัดสินคดี เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563

ด้านนางภาวิณี ชุมศรี ทนายความของนางวรรณภา จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ทนายความพยายามต่อสู้ว่าจำเลยทั้งหมดไม่ใช่สมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท แต่ไม่สำเร็จ

ฎีกาว่าการกระทำไม่ใช่อั้งยี่ เพราะเขาไม่ใช่สมาชิกกลุ่ม โดยเฉพาะวรรณภานี่ไม่รู้เรื่องสหพันธรัฐไทเลย เพราะเขาถูกวานให้ซื้อเสื้อและเอาไปแจกเท่านั้นเอง เราพยายามยืนยันว่าไม่มีหลักฐานในการเป็นสมาชิก เพราะไม่มีการประชุมวางแผน แต่ละคนต่างทำตามความเชื่อของตัวเอง ข้อความบนใบปลิวกับเสื้อก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่มีแปะลิงก์ช่องยูทูบ ศาลมองว่าทำแบบนั้นเป็นสมาชิกอั้งยี่แล้ว”​ นางภาวิณีกล่าวกับเบนาร์นิวส์

สหพันธรัฐไท

คดีนี้ สืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมตัว นายกฤษณะ (สงวนนามสกุล) นายเทอดศักดิ์ (นามสมมุติ) นางวรรณภา (สงวนนามสกุล) และ น.ส.ประพันธ์ (สงวนนามสกุล) ในช่วงเดือนกันยายน 2561 จากการที่คนทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการแจกใบปลิวและจำหน่ายเสื้อ ซึ่งมีธงสัญลักษณ์ของสหพันธรัฐไทและระบุลิงก์ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน 2561 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า องค์กรที่ถูกเรียกว่า “สหพันธรัฐไท” ปรากฏในรายงานของฝ่ายความมั่นคงช่วงปี 2561 ว่าเป็นกลุ่มต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสถาบันกษัตริย์ มีแกนนำเช่น นายชูชีพ, นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋, นายสยาม ธีรวุฒิ หรือ สหายข้าวเหนียวมะม่วง, นายกฤษณะ ทัพไทย หรือ สหายยังบลัด ซึ่งทั้งหมดกลายเป็นบุคคลสาบสูญขณะลี้ภัยใน สปป. ลาว ขณะที่แกนนำอีกคน คือ นายวัฒน์ วรรลยางกูร เสียชีวิตขณะลี้ภัยในฝรั่งเศส

ในเดือนกันยายน 2561-กันยายน 2562 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากความเกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไทอย่างน้อย 21 ราย จาก 10 คดี มีการใช้ข้อหา ม. 116, ม. 209 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ศาลอาญาพิพากษา ยกฟ้องคดี ม. 116 และ ม. 209 ของจำเลย 6 คน (คนละกลุ่มกับจำเลยในคดีนี้) จากการใส่เสื้อและชูป้ายสหพันธรัฐไท ที่หน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561

สำหรับคดีของ นายกฤษณะ และนางวรรณภา นับเป็นคดีแรกที่ศาลตัดสินลงโทษในความผิดฐานอั้งยี่ 

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติการถูกจับกุมและดำเนินคดี หลังจาก คสช. ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ระบุว่า มีประชาชนถูกเรียกไปรายงานตัวและเยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,349 คน มีผู้ถูกจับกุมโดย คสช. อย่างน้อย 625 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 99 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 117 คน มีผู้ถูกตั้งข้อชุมนุมเกินห้าคน อย่างน้อย 421 คน และมีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง