วงร็อครัสเซีย Bi-2 ถูกปล่อยตัวจากไทยมุ่งหน้าอิสราเอลแล้ว
2024.02.01
กรุงเทพฯ
Bi-2 วงร็อครัสเซีย เดินทางออกจากประเทศไทยอย่างปลอดภัยแล้วในวันพฤหัสบดีนี้ โดยมุ่งหน้าไปยังประเทศอิสราเอล หลังจากถูกคุมตัวที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ด้วยข้อหาใช้วีซ่าผิดประเภท
ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนกังวลว่า สมาชิกวงทั้ง 7 คน อาจถูกส่งตัวไปยังรัสเซีย และได้รับอันตราย เนื่องจากสมาชิกวงแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลรัสเซียที่ทำสงครามกับยูเครน ด้านนักสิทธิมนุษยชนชี้ แม้สมาชิกวงจะปลอดภัย แต่รัฐบาลไทยควรตรวจสอบการคุมตัวครั้งนี้
“สมาชิกวงทุกคนของ Bi-2 เดินทางออกจากประเทศไทยอย่างปลอดภัยแล้ว โดยมุ่งหน้าไปยังเทล อาวีฟ” เฟซบุ๊กเพจของวงระบุในช่วงเที่ยงคืนวันพุธต่อเนื่องวันพฤหัสบดี
ขณะที่ พล.ต.ต. พันธนะ นุชนารถ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รอง ผบช.สตม.) ได้ยืนยันข้อมูลดังกล่าวเช่นกัน
“ได้รับรายงานมาว่า เขาอยากจะไปอิสราเอล เราก็พร้อมผลักดันเขาไป แล้วอิสราเอลเขาก็พร้อมรับตัว เราก็ไปตามที่เขาอยากไป การจับกุมตัวครั้งนี้ เราจับกุมด้วยเหตุผล เรื่องเวิร์คเพอร์มิตอย่างเดียว ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง” พล.ต.ต. พันธนะ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์
ด้าน ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในวันนี้ว่า
“ความกังวลด้านสิทธิมนุษยชนก็หมดไป เมื่อไทยตัดสินใจให้สมาชิกวง Bi-2 ทุกคนเดินทางออกจากไทยไปยังที่ปลอดภัย คืออิสราเอล ไทยทำถูกต้องที่ปฏิเสธการร้องขอของรัสเซียที่ให้ส่งศิลปินนักเคลื่อนไหวเหล่านี้กลับไปเผชิญกับการถูกคุกคามเอาชีวิตและเลวร้ายกว่านั้นในรัสเซีย แต่ในขณะที่แผนการปราบปรามข้ามชาติของรัสเซียครั้งนี้ล้มเหลว แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า พวกเผด็จการเถลิงอำนาจละเมิดสิทธิของรัสเซียจะต้องพยายามปิดปากนักวิจารณ์ชาวรัสเซียที่หนีมาอยู่นอกประเทศ เท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าด้วยแง่หรือด้วยกล”
กรณีที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจาก Bi-2 วงร็อครัสเซีย เดินทางมาเล่นคอนเสิร์ตในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา แสดงคอนเสิร์ตในสถานบันเทิงที่พัทยา และ 24 มกราคม มีกำหนดการแสดงคอนเสิร์ตในสถานบันเทิงที่ภูเก็ต ทั้งนี้ วงมีแผนที่จะเดินทางไปเล่นที่ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 29 มกราคม อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม วันที่ 24 มกราคม สมาชิกของวงทั้งหมดถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดภูเก็ต ด้วยข้อหาทำงานในประเทศไทยโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการใช้วีซ่าผิดประเภทขัดต่อกฎหมายไทย ทำให้สมาชิกทั้งหมดถูกส่งตัวจากภูเก็ตไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพฯ และถูกคุมตัวร่วม 7 วัน
ต่อการจับกุมสมาชิกวง VPI Event บริษัทผู้จัดคอนเสิร์ตของวง Bi-2 ชี้ว่า การควบคุมตัวครั้งนี้มีข้อน่าสังเกต
“บริษัทฯ ยืนยันว่า ความรับผิดชอบในการขอวีซ่าตามเงื่อนไขสัญญานั้นเป็นของบริษัทฯ แต่เพียงผู้เดียว วง Bi-2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับความผิดพลาด โดยปกติหากเกิดข้อผิดพลาดเรื่องวีซ่า จะมีเพียงการปรับผู้จัดงาน ไม่เคยมีการจับกุมศิลปินมาก่อน ที่ผ่านมาบริษัทฯ กำลังพยายามหาทางปล่อยตัวศิลปิน แต่ยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก” VPI Event ระบุผ่านเฟซบุ๊กเพจ
VPI Event ยังระบุว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 สถานกงสุลรัสเซียในไทยพยายามกดดันให้ศิลปินรัสเซียหลายรายยกเลิกการจัดคอนเสิร์ตทั้งที่พัทยา และภูเก็ต
การควบคุมตัวสมาชิกวงดังกล่าว สร้างความกังวลให้แก่องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายอิกอร์ บอร์ทนิค นักร้องนำของวง Bi-2 เคยวิพากษ์-วิจารณ์นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และคัดค้านการทำสงครามรัสเซีย-ยูเครน
“หากพวกเขาถูกเนรเทศกลับไปรัสเซีย อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างแท้จริงของการควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบบังคับของฝ่ายบริหาร และต้องถูกดำเนินคดีอาญาที่ปราศจากมูลความจริง และอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานาน ทางการไทยต้องยึดมั่นตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตน และอนุญาตให้สมาชิกวง Bi-2 เดินทางออกไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ปลอดภัยได้” นายเดนิส ครีโวชีฟ รองผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในแถลงการณ์
ด้าน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ยินดีที่ไทยไม่ส่งตัวสมาชิกวงไปยังรัสเซีย
“เป็นเรื่องดีที่ไทยไม่ส่งตัวสมาชิกวงไปยังรัสเซีย แต่แม้ว่าเขาจะปลอดภัยแล้ว รัฐบาลไทยก็ยังต้องตรวจสอบการจับกุมตัวพวกเขาว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะนี่เป็นการควบคุมตัวบุคคลที่ไม่ควรต้องอยู่ในห้องกักแม้แต่นาทีเดียว เพราะการเข้าเมืองของเขามาอย่างถูกกฎหมาย เขาไม่ใช่อาชญากร การคุมตัวเขา การส่งเขาจากภูเก็ตไปกรุงเทพฯ คุมตัวเขา 6-7 วัน เป็นไปตาม พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายหรือไม่” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวผ่านโทรศัพท์
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ประกาศปฏิบัติการทางทหารในยูเครน โดยมีการนำทหารและอาวุธสงครามเข้าโจมตีหลายเมืองในยูเครน ซึ่งชนวนของการสู้รบครั้งนี้ สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกเชื่อว่า เกิดจากการที่ยูเครนพยายามใกล้ชิดองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization - NATO) ที่รัสเซียเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก
หลังจากที่รัสเซียได้นำกำลังทหารบุกเข้าไปในยูเครน นานาชาติได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรรูปแบบต่าง ๆ เช่น การหยุดซื้อเชื้อเพลิงจากรัสเซีย, ยกเลิกเที่ยวบินเข้าไปในรัสเซีย รวมถึงยุติการทำธุรกรรมทางการเงินกับรัสเซีย ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ไทยก็เป็นหนึ่งใน 141 ประเทศ ของสมัชชาสหประชาชาติที่ร่วมประณามการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติรัสเซีย ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566-30 เมษายน 2567 โดยให้อยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน 90 วัน โดยเป็นมาตรการชั่วคราวในลักษณะที่ไทยให้สิทธิฝ่ายเดียว จากเดิมที่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้เพียง 30 วันเท่านั้น
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน