เศรษฐาชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นลงทุนแลนด์บริดจ์ไทย
2023.12.18
กรุงเทพฯ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 2566 โดยเชิญชวนให้นักธุรกิจญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ในวันจันทร์นี้ หลังจากหารือทวิภาคีกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเพื่อหาทางขยายความร่วมมือด้านธุรกิจระหว่างสองประเทศ
“ผมถือว่าโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโอกาสทองในการลงทุนนะครับ เพราะเฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางหากนำมาผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะเวลา ลดต้นทุน และมีความปลอดภัย และด้วยที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของไทย ความพร้อมและการสนับสนุนของรัฐบาลไทย รวมทั้ง ธุรกิจของญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน ทำให้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นสนใจ” นายเศรษฐา ระบุผ่าน X
ในเช้าวันจันทร์นี้ นายเศรษฐา ได้เป็นประธานในการสัมมนา Thailand Landbridge Roadshow ที่โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว โดยเชิญนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเข้าร่วมฟัง เพื่อเชิญชวนให้นักธุรกิจลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย
นายกรัฐมนตรีชี้ว่า หากมีโครงการเกิดขึ้นจริงการขนส่งสินค้าผ่านช่องทางนี้จะลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความรวดเร็ว และปลอดภัยกว่าการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี หรือราว 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ
“เฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าวผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15 เปอร์เซ็นต์ ตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของแลนด์บริดจ์ จะอยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23 เปอร์เซ็นต์” นายเศรษฐา ระบุ
ปัจจุบัน ช่องแคบมะละกามีเรือเดินทางผ่าน 9 หมื่นลำ ขนส่งคอนเทนเนอร์ 70.4 ล้านตู้ต่อปี ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี 2573 ปริมาณเรือเดินสมุทรจะมากกว่าความจุของช่องแคบมะละกา
โดยเมื่อช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ได้หารือกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เกี่ยวกับความร่วมมือของภาคธุรกิจ เศรษฐกิจดิจิทัล โดยไทยหวังให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนด้านพลังงาน และอุตสาหกรรมในไทย โดยนายฟูมิโอะ เสนอให้จัดตั้งกลไก Energy and Industrial Dialogue ระหว่างสองประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือ และขอบคุณไทยที่ไทยยกเว้นวีซ่าสำหรับนักธุรกิจญี่ปุ่น
“รัฐบาลไทยได้ย้ำถึงความสำคัญการส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนให้กับทางญี่ปุ่น ซึ่งไทยจะออกมาตรการยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่นที่จะเข้ามาติดต่อธุรกิจระยะสั้น ผมได้หารือกับผู้ประกอบการยานยนต์รายใหญ่ 7 ราย เพื่อให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลไทยพร้อมดูแลอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปของญี่ปุ่นในไทยช่วงการเปลี่ยนผ่าน ไทยอยากร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้าน Soft Power” นายเศรษฐา ระบุผ่าน X
ต่อประเด็นดังกล่าว ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นนั้นเชื่อว่าจะนำประโยชน์มาสู่อุตสาหกรรมไทย แต่ในระยะยาวต้องระวังเรื่องการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับประเทศญี่ปุ่นมากเกินไป
“หากพึ่งพาการลงทุนจากญี่ปุ่นเพียงแหล่งเดียว อนาคตเราอาจถูกจำกัดความสามารถในการตัดสินใจที่เป็นอิสระและมีผลกระทบต่อความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างแย่ที่สุดคือ การเข้ามาของสินค้าและบริการจากญี่ปุ่นอาจมีผลให้ภาคการผลิตและธุรกิจในไทยต้องแข่งขันอย่างหนัก นำไปสู่การลดลงของการผลิตภายในประเทศ”
นอกจากการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และสัมมนาเรื่องแลนด์บริดจ์ นายเศรษฐายังได้พบกับผู้บริหารบริษัท Panasonic โดยเชิญชวนให้มาลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจแบตเตอรี่รถไฟฟ้าในไทย ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ไทยมุ่งเน้นเรื่องการลงทุน การท่องเที่ยว พลังงานสะอาด Digital Economy Connectivity โดยเน้นย้ำการเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ (heart to heart partnership)
ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2566 ประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศ 3.98 แสนล้านบาท โดยญี่ปุ่น นับเป็นประเทศลำดับที่ 3 ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุด คือ 4.31 หมื่นล้านบาท เป็นรองเพียงจีนที่ลงทุน 9.74 หมื่นล้านบาท และสิงคโปร์ 8.02 หมื่นล้านบาท