จำคุกทันที 24 ปี อาย กันต์ฤทัย จากคดีโพสต์เฟซบุ๊กผิด ม. 112
2024.08.27
กรุงเทพฯ
น.ส. กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน หรืออาย ผู้ชุมนุมทางการเมืองอายุ 33 ปี ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 24 ปี จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการเขียนข้อความ โพสต์ภาพ และคลิปวิดีโอบนเฟซบุ๊ก 8 โพสต์ในปี 2565 ซึ่งขัดต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไรก็ตามเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 8 ปี 48 เดือน หรือราว 12 ปี แต่ไม่รอลงอาญา
“ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ตามที่โจทก์ฟ้อง จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 8 กรรม จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี 48 เดือน หรือราว 12 ปี ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผย
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ทนายความได้ยื่นขอประกันตัว น.ส. กันต์ฤทัย ด้วยหลักทรัพย์ 6 แสนบาท ระหว่างการต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลยังไม่มีคำสั่งปล่อยตัว ซึ่งจะทำให้ น.ส. กันต์ฤทัย ถูกนำตัวไปควบคุมที่ทัณฑสถานหญิงกลางฯ
อาย เป็นประชาชนที่ร่วมชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่ได้เป็นแกนนำการปราศรัย สำนักข่าวประชาไท รายงานว่า ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในปี 2565 อายเคยถูกกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็นตำรวจสันติบาล 8 คน พาตัวไปทิ้งไว้ที่ สน.ลาดพร้าว และหลังจากนั้นยังถูกกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ 6 คนเข้าตรวจค้นห้องพัก ยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และสอบถามข้อมูลบัญชีธนาคาร
กระทั่งวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 น.ส. พรทิพย์ บุตรภักดิ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 ขณะนั้นได้ สั่งฟ้องอายในข้อหากระทำการที่อาจขัดต่อ ม. 112 และ พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการเขียนข้อความ โพสต์รูป และวิดีโอ 8 โพสต์ ระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ - 1 เมษายน 2565
“โพสต์ที่มีลักษณะดูหมิ่น ล้อเลียนเสียดสี ล่วงละเมิด เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นการกระทํามิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกินดูหมิ่น หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท” ตอนหนึ่งของ คำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.1262/2566
ก่อนหน้านี้ในชั้นสอบสวน อายเคยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่เมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล อายตัดสินใจถอนคำให้การเดิม และรับสารภาพ ศาลจึงสั่งให้สืบเสาะประวัติจำเลย และนัดอ่านคำพิพากษาในวันอังคารนี้
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน ในจำนวน 1,299 คดี ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 272 คน จาก 304 คดี นำมาซึ่งการเรียกร้องให้ ยกเลิก หรือแก้ไข ม. 112
ในปี 2567 มีคดี ม. 112 จำนวนมากเกิดขึ้น เช่น เดือนมกราคม นายมงคล ถิระโคตร หรือบัสบาส พ่อค้าเสื้อผ้าและนักกิจกรรมชาวเชียงราย ถูกตัดสินจำคุก 50 ปี จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว 27 โพสต์ นับเป็นการตัดสินโทษจำคุกคดี ม. 112 ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
สิงหาคม 2567 นายทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น ถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก 6 ปี จากการโพสต์รูปตัวเองใส่เสื้อยืดที่มีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” บนเฟซบุ๊กส่วนตัว และ น.ส. จตุพร แซ่อึง หรือนิว นักกิจกรรมการเมือง ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ฐานแต่งกายเลียนแบบพระราชินี
“ปัจจุบัน น่าตั้งคำถามว่า มาตรา 112 เข้าข่ายเป็นกฎหมายละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของบางกลุ่มบางฝ่ายหรือไม่ และความเย็นชาหรือการที่รัฐบาลเพิกเฉยเรื่องนี้ มันก็แสดงให้เห็นจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์