สี่วันหลังอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่ม เจ้าหน้าที่มั่นใจใกล้พบผู้รอดชีวิตคนแรก
2024.08.28
กรุงเทพฯ
แม้ว่าผ่านมาแล้วกว่าสี่วัน นับตั้งแต่เกิดเหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่ม บริเวณช่วงคลองขนานจิต ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีวิศวกรชาวจีนสองคน และคนงานชาวเมียนมาหนึ่งคนติดอยู่ภายใน
แต่ข้อมูลล่าสุดจากปากคำของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม เมื่อวันพุธ เวลา 18.30 น. เผยว่า ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังเข้าใกล้จุดที่เชื่อว่าผู้รอดชีวิตรายแรกติดในอุโมงค์แล้ว และเจ้าหน้าที่กำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือให้ออกมาได้อย่างปลอดภัย
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า จากรายงานล่าสุด ทีมกู้ภัยสามารถเข้าใกล้จุดที่เชื่อว่าผู้รอดชีวิตรายแรก ที่คาดว่าเป็นแรงงานชาวเมียนมา ที่ติดอยู่ในรถแบ็กโฮ ราว 1.2 เมตร โดยจุดที่คาดว่าผู้รอดชีวิตติดอยู่ อยู่ลึกลงไปอีก 1.8 เมตร และคาดว่ามีหินขนาดใหญ่ขวางไว้อยู่
เหตุอุโมงค์ถล่มดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันเสาร์ที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา ในอุโมงค์ซึ่งมีขนาดความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ในพื้นที่ ต.จันทึก อ.ปากช่อง จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากปากอุโมงค์ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร
มีผู้ประสบภัยสามคนประกอบด้วย 1. นายหู เสียง หมิ่น วิศวกรผู้ควบคุมงาน ชาวจีน 2. นายตง ชิ่น หลิน คนขับรถขุด ชาวจีน และ 3. คนขับรถบรรทุกชาวเมียนมาเพศชาย (ยังไม่ทราบชื่อและนามสกุล)
“มั่นใจว่าข้างในมันเป็นโพรงที่คาดว่าน่าจะพบรถแบ็กโฮอยู่ วิศวกรค่อนข้างมั่นใจว่า สามารถใช้เครื่องเจาะหินเพื่อขุดเข้าไปยังโพรงดังกล่าวได้ หลังจากเจาะโพรงแล้วจะสอดกล้องเข้าไปสำรวจว่าในโพรงมีอะไร เพื่อที่จะช่วยเหลือเบื้องต้น หากพบผู้ที่ติดอยู่ภายใน” นายชัยวัฒน์ กล่าว
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเวลาเวลา 15.00 น. ของวันพุธ ทีมช่วยเหลือระบุว่า มีเสียงเคาะตอบกลับจากพนักงานโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงซึ่งติดอยู่ในอุโมงค์ที่ถล่มช่วงคลองขนานจิต ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยหลังจากนี้จะได้มีการส่งอาหารและเครื่องดื่มเข้าไป ระหว่างรอการนำตัวออกมา
“ได้ฟังนักธรณีวิทยา วิศวกร และทีมนักกู้ภัยทั้งไทยและจีน ทุกฝ่ายมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ข้างใน วิศวกรมีจุดหมายในการสร้างความปลอดภัย เพื่อจะให้นักกู้ภัย ทีมแพทย์และพยาบาล ทำงานได้อย่างปลอดภัย นักธรณีวิทยาให้ข้อมูลว่าชั้นสภาพดินเป็นอย่างไร สามารถทำอะไรได้ หรือไม่ได้ เมื่อทั้งสามวิชาชีพประสานงานกัน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจว่ามาถูกทาง” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “เท่าที่ได้รับรายงาน มีการเคาะผนังไป ก็มีเสียงตอบรับกลับมา แล้วก็พยายามส่งนมเข้าไปให้ มีเสียงเคาะแสดงว่าคนอยู่ตรงนั้น น่าจะเป็นตรงรถแบ็กโฮ ที่เป็นคนพม่า ส่วนที่จะต้องนำตัวคนออกมา ก็ต้องใช้เวลา เราก็หวังว่าฝนฟ้าจะไม่ตก เพราะกลัวจะเกิดเหตุการณ์ถล่มลง”
โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน โดยไทยออกงบประมาณก่อสร้าง 1.79 แสนล้านบาท เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2560 ปัจจุบัน ภาพรวมของโครงการคืบหน้าไปแล้วประมาณ 32.31 % โดยคาดว่าจะก่อสร้างสำเร็จ และเปิดให้บริการได้ในปี 2571
โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน โดยไทยออกงบประมาณก่อสร้าง 1.79 แสนล้านบาท เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2560 โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เส้นทางและสายแถบ (One Belt, One Road) ของจีน มีเป้าหมายเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงของลาว
การก่อสร้างแบ่งเป็น 4 ช่วง 1. กลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. 2. ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม. 3. แก่งคอย-โคราช 138.5 กม. และ 4. กรุงเทพฯ-แก่งคอย 133 กม. เบื้องต้น คาดให้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 แต่มีความล่าช้าในการก่อสร้าง สำหรับโครงการช่วงที่มีการถล่ม เป็นส่วนรับผิดชอบของ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน)