เริ่มแล้ว กระบวนการพิจารณาสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงอีกแห่งในลาว

ชาวบ้านหวั่นไม่มีส่วนในโครงการเขื่อนภูงอย ที่คาดว่าจะเสร็จปี 72
รายงานพิเศษสำหรับเบนาร์นิวส์
2022.04.28
เริ่มแล้ว กระบวนการพิจารณาสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงอีกแห่งในลาว เรือประมงแล่นผ่านใกล้พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ไม่ไกลจากชายแดนกัมพูชา-ลาว ในเมืองสตึงแตรง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559
เอพี

อีกไม่นาน ทางการลาวจะส่งแผนการสร้างเขื่อนภูงอย และโรงไฟฟ้าพลังน้ำให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงพิจารณา แต่ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนี้ เกรงว่าจะไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณานี้

เขื่อนภูงอยในแขวงจำปาสักทางตอนใต้ของลาว จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 728 เมกะวัตต์ และจะเป็นเขื่อนแห่งที่เจ็ดจากทั้งหมดเก้าแห่งของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างไปแล้ว หรือจะสร้างบนลำน้ำโขงสายหลัก บริษัท เจริญเอ็นเนอร์ยี แอนด์ วอเทอร์ เอเชีย จำกัด ของไทยเป็นผู้ดำเนินการหลักของโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ มูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แห่งนี้ กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้แก่ประเทศไทย

เราบอกคุณไม่ได้ว่าจะพิจารณาวันไหนหรือเมื่อไหร่” เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ที่กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่กล่าว “เราคิดว่าจะพิจารณาราวปลายปีนี้ ตอนนี้ เรากำลังเตรียมเอกสารกันอยู่”

สองบริษัทสัญชาติเกาหลีคือ บริษัท Korea Western Power และบริษัท Doosan Heavy Industries & Construction จะเป็นผู้ก่อสร้างเขื่อนนี้ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปี 2572 ขณะนี้ ยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้ากัน

รัฐบาลลาวเชื่อว่าโครงการนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้มาก และจะทำให้ลาวกลายเป็นขุมพลังงานแห่งเอเชียอาคเนย์ โดยการขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นจากเขื่อนตามแม่น้ำโขงให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหล่านี้บอกว่า ไม่ได้รับค่าชดเชยอย่างเป็นธรรมจากการถูกบังคับให้ย้ายออกพื้นที่สร้างเขื่อน

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) เป็นองค์กรร่วมมือระหว่างรัฐบาล กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม เพื่อร่วมกันจัดการแม่น้ำโขง

เขื่อนภูงอยจะตั้งอยู่ห่างจากปากเซ เมืองหลวงของแขวงจำปาสัก ไปทางตอนเหนือประมาณ 18 กิโลเมตร และ 50 กิโลเมตรจากจุดบรรจบของแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล ซึ่งไหลผ่านภาคเหนือของไทยและเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง

ในระหว่างการพิจารณาของ MRC รัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่น ๆ จะร่วมกันหารือกันและพิจารณาข้อดีและข้อเสียของโครงการใช้น้ำหลายโครงการที่เสนอเข้ามา ซึ่งอาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการไหลของน้ำในแม่น้ำโขง คุณภาพน้ำ และก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสังคมอื่น ๆ อีกมากมายในประเทศอื่น

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บอกเรดิโอฟรีเอเชียว่า การพิจารณาโครงการนี้ขึ้นอยู่กับสมาชิกทั้งหมดของ MRC

สำหรับไทยแล้ว ตอนนี้ เรากำลังศึกษาเอกสารมากมายเกี่ยวกับโครงการเขื่อนภูงอยนี้” นายสุรสีห์กล่าว

เรากำลังพยายามอย่างดีที่สุดที่จะปกป้องผลประโยชน์ของเรา” เขาบอกกับสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

 220428-Laos-Mekongdams-PhouNgoy-thai3.jpg

แผนที่แสดงเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอยู่และวางโครงการไว้ตามลำน้ำโขง ในประเทศลาว (เรดิโอฟรีเอเชีย)

ชาวบ้านในพื้นที่ ก็คือคนที่เสียเปรียบ

ผู้แทนของกลุ่มรักษ์เชียงของ องค์กรพัฒนาเอกชนของไทย ได้แสดงความกังวลว่า ผู้ลงทุนในโครงการและรัฐบาลลาวจะไม่ยอมให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนนี้ มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณา

รัฐบาลลาวผลักดันโครงการมากมายอยู่เรื่อย ๆ และผู้ลงทุนก็คอยมองหาผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลา คนที่เสียเปรียบก็คือชาวบ้านในพื้นที่” แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว

เขากล่าวว่า ผู้ลงทุนในโครงการและรัฐบาลลาวไม่สนใจผลการศึกษาผลกระทบของโครงการนี้ และไม่ยอมให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

การสร้างเขื่อนภูงอยไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่ แต่เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุน” แหล่งข่าวคนนั้นกล่าว “เขื่อนขนาดใหญ่นี้จะกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านหลายประเทศ และจะทำลายการทำมาหากินของเรา งานของเรา และระบบนิเวศของเรา”

เจ้าหน้าที่ที่กระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของลาว กล่าวว่า เขาเป็นห่วงมากว่าเขื่อนนี้จะกระทบปราสาทหินวัดพู โบราณสถาณเก่าแก่สถาปัตยกรรมเขมรและฮินดูที่ตั้งอยู่เชิงเขา ห่างจากแม่น้ำโขงในแขวงจำปาสักประมาณ 6 กิโลเมตร องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนปราสาทแห่งนี้ให้เป็นมรดกโลก

แม้เขื่อนภูงอยจะห่างจากปากเซ เมืองหลวงของแขวงจำปาสัก มากกว่า 30 กิโลเมตร แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภูผาพิน ที่อยู่ใกล้ปราสาทหินวัดพู เขากล่าว

ถ้ารัฐบาลลาวและผู้พัฒนาโครงการเขื่อนภูงอย อยากจะสร้างเขื่อนนี้จริง ๆ ล่ะก็ จะต้องทำการประเมินผลกระทบต่อมรดกโลก เหมือนกับที่ทำกับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ที่ได้ส่งเรื่องไปให้ยูเนสโกพิจารณา” เจ้าหน้าที่กล่าว

ชาวบ้านในหมู่บ้านขอนเคน แขวงจำปาสัก ยังกังวลเกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อนภูงอยและโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้ด้วย ชาวบ้านเกรงว่าอาจไม่ได้รับค่าชดเชยอย่างเป็นธรรมจากรัฐบาลลาวและผู้พัฒนาโครงการนี้ ที่ตนต้องสูญเสียที่ดินและย้ายไปอยู่ที่อื่น

โครงการนี้จะกระทบหมู่บ้าน 88 แห่ง โดย 57 แห่งอยู่เหนือเขื่อน และ 31 แห่งอยู่ใต้เขื่อน

คาดว่าชาวบ้านประมาณ 800 คนในกว่า 140 ครัวเรือนในหมู่บ้านขอนเคน จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโครงการนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาทำไร่และเลี้ยงสัตว์ ส่วนที่เหลือทำธุรกิจเล็ก ๆ เช่น ร้านอาหาร และเกสต์เฮาส์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนมากขึ้นที่มาเที่ยวพื้นที่นั้น

ชาวบ้านรายหนึ่งบอกเรดิโอฟรีเอเชีย เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของลาวและผู้พัฒนาโครงการได้ทำการสอบถามชาวบ้านเกี่ยวกับทรัพย์สิน ร้านค้า และไม้ผลของชาวบ้าน แต่หลังจากนั้นแล้ว ชาวบ้านไม่รู้อะไรเพิ่มเติมเลยเกี่ยวกับการย้ายออกจากพื้นที่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

เราไม่อยากถูกย้าย” ชาวบ้านบอก “เราไม่รู้ว่าจะย้ายไปที่ไหน เราอยู่ที่นี่มานานแล้ว และเราเชื่อว่าที่นี่เป็นบ้านถาวรของเรา”

ชาวบ้านอีกคนบอกว่า เขาอยากให้รัฐบาลลาวทบทวนการสร้างเขื่อนนี้

เรารู้ว่ารัฐบาลสร้างเขื่อนเพื่อหารายได้ แต่เขื่อนนี้จะทำลายความงามตามธรรมชาติ และทรัพย์สินของเรา”

บันทึกความเข้าใจสำหรับเขื่อนปากแบง

ขณะเดียวกัน ผู้ลงทุนสองรายในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำอีกโครงการหนึ่งบนแม่น้ำโขงสายหลัก ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) สำหรับเขื่อนปากแบง หนังสือพิมพ์ เวียงจันทน์ไทม์ รายงานเมื่อวันพุธ

บริษัท China Datang Overseas Investment และบริษัท Gulf Energy Development Public ผู้สนับสนุนโครงการนี้ ได้เซ็นสัญญากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์

เขื่อนปากแบงที่จีนให้การสนับสนุน จะได้รับการสร้างขึ้นในเขตปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของลาว เรดิโอฟรีเอเชียรายงานเมื่อวันที่ 13 เมษายน ว่า บริษัท China Datang Overseas Investment ได้เริ่มนำเครื่องจักรเข้าไปยังสถานที่ก่อสร้างและสร้างที่พักคนงานแล้ว ขณะรอให้ กฟผ.เซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแห่งนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง