ศาลรับฟ้องธรรมเกษตรกล่าวหา 'อังคณา นีละไพจิตร' หมิ่นประมาท

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.08.16
กรุงเทพฯ
ศาลรับฟ้องธรรมเกษตรกล่าวหา 'อังคณา นีละไพจิตร' หมิ่นประมาท นาง อังคณา นีละไพจิตร ผู้ได้รับรางวัลรามอน แม็กไซไซ ร่วมงานแถลงข่าวกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฟิลิปปินส์ ในกรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562
เอเอฟพี

ในวันจันทร์นี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ รับฟ้องคดีที่บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด กล่าวหาว่านางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ จากประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 2562 ว่าได้กระทำการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา สาเหตุมาจากการที่นางอังคณาแชร์ข้อความทางทวิตเตอร์ที่มีเนื้อหาพาดพิงว่า บริษัท ธรรมเกษตร ละเมิดสิทธิแรงงานต่างด้าว เหตุเกิดเมื่อสามปีก่อน

ในปี พ.ศ. 2561 และ 2562 นางอังคณา นีละไพจิตร ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวจำนวนสองข้อความ เพื่อให้กำลังใจ น.ส. สุธารี วรรณศิริ และ น.ส. งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต่างถูกแยกฟ้องร้องจากการเผยแพร่ข้อความในกรณีการละเมิดสิทธิแรงงาน ในบริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งทำธุรกิจฟาร์มไก่ ในจังหวัดลพบุรี 

ตามข้อมูลของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งติดตามคดีนี้ ระบุว่า บริษัท ธรรมเกษตร ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 พร้อมขอให้จำเลยทำลายข้อความหมิ่นประมาท และให้ประกาศขอโทษลงหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลาย

นายชาญชัย เพิ่มพล เจ้าของและผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ธรรมเกษตร เป็นโจทก์ฟ้องคดีกล่าวว่า ตนต้องปกป้องตนเอง

“การฟ้องครั้งนี้ ผมเพียงแค่ต้องการปกป้องสิทธิและชื่อเสียงของผมที่สร้างมาด้วยความยากลำบาก เพราะธุรกิจผมต้องมาพังพินาศจากผู้มีความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ผมได้รับความเสียหายจากการทำงานของนักปกป้องสิทธิ” นายชาญชัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ด้าน นางอังคณา กล่าวว่า ตนไม่ได้มีเจตนาในการหมิ่นประมาทบริษัทฯ ใด ๆ

ทวีตนั้นเราไม่ได้กล่าวหาอะไรบริษัท เราเพียงทวีตข้อความ พร้อมทั้งระบุว่า เราสนับสนุนนักปกป้องสิทธิ 2 คน คือ คุณสุธารี วรรณศิริ และอาจารย์งามศุกร์ รัตนเสถียร” นางอังคณา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ด้วยความเคารพต่อศาล ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลครั้งนี้ เพราะคดีนี้ตัวดิฉันเองเป็นอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน แล้วก็เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษชน เพียงแค่แสดงความคิดเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจที่จะปกป้องนักปกป้องสิทธิ ไม่ควรเป็นความผิดอาญา หรือถูกฟ้อง” นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติม และระบุว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดเริ่มการพิจารณาคดี ในวันที่ 26 ตุลาคม ศกนี้

สำหรับเนื้อความในสองข้อความที่นางอังคณาโพสต์นั้น มีว่า "Stand by Kratik @SuthareeW #DropDefamation #NonReprisal #SLAPP #BizHRs" พร้อมโพสต์หรือเผยแพร่ลิงค์ โพสต์ทวิตเตอร์ของผู้ใช้บัญชี "Kingsley Abbott หรือ @AbbottKingsley" และ "#JudicialHarrassment #BizHRs Criminal defamation against Prof. Ngamsuk lecturer @ Institue of Human Rights and Peace, Mahidol University" พร้อมโพสต์หรือเผยแพร่แนบลิงค์บทความองค์กรฟอร์ติฟายไรท์

ซึ่งทั้งสองข้อความนั้น บริษัท ธรรมเกษตร เห็นว่ามีไฮเปอร์ลิงค์ไปยังภาพยนตร์ความยาว 107 วินาที ขององค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) ซึ่งมีเนื้อหาให้บริษัทยุติการฟ้องร้องคนงานเมียนมา 14 คน โดยในภาพยนตร์แรงงานพม่า รวมทั้ง นายนาน วินได้ให้สัมภาษณ์ถึงการที่บริษัทฯ ได้ทำการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยภาพยนตร์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2560

ธรรมเกษตรฟ้องนักปกป้องสิทธิหลายคดี

เมื่อ พ.ศ. 2559 แรงงานชาวเมียนมา 14 คน ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนต่างชาติและองค์กรสิทธิแรงงานหลายแห่งว่า บริษัท ธรรมเกษตร บังคับให้ทำงาน 20 กว่าชั่วโมงต่อวัน ถูกยึดเอกสารประจำตัว และถูกหักเงินเดือน จากนั้น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี ตัดสินว่าไม่มีการยึดพาสปอร์ต แต่นายจ้างทำผิดเรื่องค่าจ้างและให้ชดเชยแรงงาน 1.7 ล้านบาท

หลังจากนั้น บริษัท ธรรมเกษตร ได้แจ้งความดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 22 คน ในการกล่าวโทษร้องทุกข์ 37 ครั้ง โดยส่วนใหญ่แล้ว ศาลไม่รับฟ้องหรือยกฟ้อง ตามข้อมูลขององค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ซึ่งเป็นเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนประเทศสหรัฐอเมริกา

คดีทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากการที่ บริษัท ธรรมเกษตร ฟ้องร้องอดีตคนงานชาวเมียนมา 14 คน ที่ศาลแขวงดอนเมือง โดยกล่าวหาว่า แรงงานทั้งสิบสี่คนใช้ข้อความอันเป็นเท็จร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และได้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน เมื่อปี 2559 ว่าสภาพการจ้างงานในฟาร์มไก่ของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายแรงงาน และมีการละเมิดสิทธิแรงงาน แต่ศาลได้ตัดสินยกฟ้องแรงงานทั้ง 14 คน โดยเห็นว่าการร้อง กสม. ของจำเลยทั้งหมดเป็นความจริง และจำเลยใช้สิทธิโดยสุจริตในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน

นางเอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การรับฟ้องคดีหมิ่นประมาทของนางอังคณา เกิดขึ้นในขณะที่คดีต้นเหตุยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งคือคดีที่ บริษัท ธรรมเกษตร ฟ้องหมิ่นประมาทนางสาว สุธารี วรรณศิริ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวไทย และนายนาน วิน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวเมียนมา ในเดือนธันวาคม 2561 จากการที่ทั้งสองคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ทางยูทูบ ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์แรงงานรวมทั้งนายนาน วิน ความยาว 107 วินาที ของฟอร์ติฟายไรท์

ทั้งนี้ หากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง นายนาน วิน จะได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสี่ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท ขณะที่ น.ส. สุธารี วรรณศิริ ได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินหกปี และปรับไม่เกิน 600,000 บาท นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาทจาก น.ส. สุธารี แต่ในคดีนี้คู่กรณียอมความไปเรียบร้อยแล้ว นางเอมี กล่าว

ในขณะนี้ บริษัท ธรรมเกษตร ยังได้ขอให้ศาลฎีการับฟ้องคดี กรณีที่ น.ส. งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทบริษัทฯ ด้วยการแชร์แถลงการณ์ของฟอร์ติฟายไรท์ที่มีการเชื่อมไฮเปอร์ลิงค์ไปสู่วิดีโอ 107 วินาที ซึ่งทางศาลอาญากรุงเทพได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งไม่รับฟ้องในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ โดยคดีเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2562 อิงตามข้อมูลของสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และองค์กรฟอร์ติฟายไรท์

“ทางการไทยมีหน้าที่ต้องป้องกัน ไม่ให้บริษัทธุรกิจใช้กระบวนการทางกฎหมายคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คดีความเหล่านี้สร้างภาระและความกดดันที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นให้แก่คนทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชน” นางเอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง