องค์กรสิทธิระบุ ไทยไม่คืบในการต่อต้านการค้ามนุษย์

สุเบล ราย บันดารี และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.04.07
กรุงเทพฯ
องค์กรสิทธิระบุ ไทยไม่คืบในการต่อต้านการค้ามนุษย์ แรงงานชาวพม่ายืนมองนอกตาข่าย หลังกักตัวมากว่า 12 วัน เนื่องจากตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด ในหอพักของเขา ในกรุงเทพมหานคร วันที่ 22 พฤษภาคม 2564
รอยเตอร์

คณะทำงานด้านอาหารทะเล เปิดเผยรายงานสรุปข้อค้นพบจากการตรวจสอบอุตสาหกรรมประมง ในวันพฤหัสบดีนี้ พบว่าในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้แสดงถึงความพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในแรงงานข้ามชาติ

ในปี 2564 รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี (Trafficking in Persons TIP report) ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลดอันดับประเทศไทยจากอันดับ 2 ให้เป็นอันดับ 2 เฝ้าระวัง (Tier 2 Watch list) ซึ่งอยู่สูงกว่าอันดับ 3 ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุด เพียงอันดันดับเดียว เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่ได้แสดงให้เห็นความพยายามมากขึ้น แม้ว่าปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีปัญหาการค้ามนุษย์ลดลงก็ตาม

คณะทำงานด้านอาหารทะเล (Seafood Working Group - SWG) ระบุในรายงานว่า “เหมาะสมแล้วที่ประเทศไทยถูกลดอันดับลงในปี 2564” และควรจะคงอยู่ในอันดับ 2 เฝ้าระวังอีกในปี 2565 คณะทำงานนี้ประกอบด้วยองค์กรไทยและต่างประเทศที่ร่วมกันทำงานเพื่อยุติการแสวงประโยชน์จากแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก  

รายงานระบุว่า “การวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า มีหลายปัจจัยที่ประเทศไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ในอันดับเดิมเลย” และรายงานยังระบุอีกว่า “มีหลักฐานไม่เพียงพอว่ารัฐบาลไทยกำลังแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการค้าแรงงาน

รายงานฉบับนี้ยังระบุอีกว่า การค้ามนุษย์และแรงงานบังคับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลมากที่สุดในโลก กฎหมายที่มีการกีดกันและนโยบายของประเทศไทยไม่สามารถปกป้องสิทธิของแรงงานที่มีความเปราะบางได้

นอกจากนี้คณะทำงานด้านอาหารทะเล ชี้ให้เห็นข้อค้นพบในการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2565 ว่าประเทศไทยไม่ได้เพิ่มความพยายามในการแก้ปัญหาแรงงานบังคับถึงระดับที่น่าพึงพอใจ

ไทยยังคงมีนโยบายที่ทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการจัดการแรงงานระยะสั้นและเฉพาะกิจ รวมถึงรัฐบาลไม่สามารถตรวจสอบเรือประมงและโรงงานผลิตอาหารทะเลได้อย่างสม่ำเสมอ และอย่างมีประสิทธิภาพรายงานระบุ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ได้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสอบถามถึงประเด็นดังกล่าว แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ

สถานการณ์แรงงานประมงดีขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

ด้าน นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า สถานการณ์แรงงานประมงนั้นมีการพัฒนาขึ้น แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่ได้ลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง พร้อมวิจารณ์ด้วยว่า ระเบียบข้อกำหนดของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์นั้น ไม่เหมาะกับบริบทของประเทศไทย

ปัญหาแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศไทยไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่เท่าเมื่อก่อน เนื่องจากกฎหมายที่เข้มขึ้น และจำนวนของเรือประมงลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากกฎที่ออกใหม่นั้นทำให้การว่าจ้างแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องยากมาก แทบเป็นไปไม่ได้เลยนายมงคล ระบุ

นายมงคล ยังกล่าวอีกว่า บทลงโทษของกฎนี้มีความรุนแรงและไม่เหมาะกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท้องถิ่นอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบให้มีเรือจำนวนมากที่ไม่สามารถออกทะเลได้ เนื่องจากข้อจำกัดที่ออกโดยรัฐบาลสหรัฐฯ

ผมคิดว่า ถ้าสหรัฐฟังแต่ข้อมูลจากเอ็นจีโอ ไทยอาจจะถูกจัดอันดับอยู่ในเทียร์ 3 ด้วยซ้ำ เนื่องจากปัญหาเหล่านี้มีความรุนแรง เช่นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเอาเปรียบแรงงาน ผมต้องการให้รัฐบาลไทยเห็นปัญหาและพยายามแก้ไขปัญหาให้อุตสาหกรรมอาหารทะเล และไม่ปล่อยให้เอ็นจีโอ และรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้นายมงคล กล่าวทิ้งท้าย

โควิด-19 ทำให้ปัญหาแรงงานแย่ลง

รายงานสรุปข้อค้นพบจากการตรวจสอบอุตสาหกรรมประมงฉบับนี้ ระบุด้วยว่านโยบายเพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาทำให้แรงงานข้ามชาติเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์และถูกเอาเปรียบมากขึ้น

นโยบายเหล่านี้ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีวิตพื้นฐาน ทำให้ต้องพึ่งพานายหน้าและมีหนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับการเยียวยาจากโครงการรัฐบาล” 

ในเดือนมิถุนายน 2564 ระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา คนงานก่อสร้างราว 80,000 คน ถูกสั่งให้กักตัวในประเทศไทย โดยกรณีศึกษาหนึ่งของคณะทำงาน พบทางการสั่งปิดการเข้า-ออกที่พักอาศัยที่มีแรงงานอยู่อย่างหนาแน่น โดยที่รัฐบาลไม่ได้เสนอความช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้น ขณะที่แรงงานไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากที่พัก แม้เพื่อจะออกมาหาซื้ออาหารหรือสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ ก็ตาม

รายงานระบุอีกว่า รัฐบาลยังได้กำหนด “นโยบายกักกันอย่างเข้มงวดสำหรับแรงงานประมง บังคับให้หลายคนต้องอยู่บนเรือประมง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19”

ในอีกหนึ่งกรณีศึกษา คณะทำงานกล่าวว่า มีคนงาน 24 คน ในนั้นเป็นชาวพม่า 19 คน “ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าฝั่ง… เป็นเวลาหกเดือน” ในเวลาเดียวกัน คนงานต้องทำงานทุกวันโดยไม่ได้พัก ถึงแม้จะมีคนงานบางส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ

รัฐบาลไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอเพื่อจัดการกับการละเมิดสิทธิแรงงาน และดูแลแรงงานในภาคการประมงและอาหารทะเลอย่างเป็นระบบ เช่น การเก็บรักษาเอกสารแสดงตน สภาพแวดล้อมการทำงาน และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการข่มขู่และคุกคาม ความรุนแรงทางกายภาพ การทำงานล่วงเวลา และการไม่ได้รับค่าจ้างรายงานระบุ

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง