นายกฯ ยันจะไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาชาวบ้านบางกลอย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.02.23
กรุงเทพฯ
นายกฯ ยันจะไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาชาวบ้านบางกลอย กลุ่มผู้ประท้วงถือป้าย "saveบางกลอย" ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนแถวรักษาการณ์ ระหว่างการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิในที่ทำกิน ของชุมชนพื้นเมืองกะเหรี่ยง นอกทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
เอเอฟพี

ในวันอังคารนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันกับสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านเชื้อสายกะเหรี่ยงอย่างในอดีตที่ผ่านมา หลังจากกรมอุทยานแห่งชาติพยายามผลักดันชาวกะเหรี่ยงดังกล่าวออกจากบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิด “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ใช้เฮลิคอปเตอร์ตรวจสอบ และใช้กำลังนำตัวชาวบ้านออกจากพื้นที่บางกลอยบน โดยอ้างว่าชาวกระเหรี่ยง 36 ครอบครัว ประมาณ 80 คน ได้เข้าถางและเผาป่ากว่า 120 ไร่ รวมถึงล่าสัตว์ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงจากบ้านบางกลอยกว่า 50 คน เดินทางไปยังหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ 10 หรือ ห้วยแม่สะเลียง เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการใช้กำลัง เพราะอ้างว่ารัฐกับชาวบ้านได้ตกลงให้ชาวกะเหรี่ยงใช้พื้นที่ป่าทำกินแล้ว เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งมีรัฐมนตรี 2 คนร่วมลงนาม

นอกจากนั้น ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทำให้เกิดการประท้วง #Saveบางกลอย หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

หลังการประชุม ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันอังคารนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลจะพยายามแก้ปัญหาโดยทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากทราบดีว่าประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย

“การแก้ปัญหาชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ท่านเป็นห่วงเรื่องปัญหาชาติพันธุ์ เราเป็นห่วงมาโดยตลอด ทุกรัฐบาลเป็นห่วงเรื่องนี้มา ก็ดูแลอย่างเต็มที่ วันนี้ยืนยันว่า จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเหมือนในอดีต จะว่าด้วยกฎหมาย ด้วยพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง จะดูแลชาวบางกลอยที่มีที่อาศัยที่ทำกินให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อวันจันทร์นี้ นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัวว่า ได้รับมอบหมายจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ติดตาม “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อดำเนินการกับผู้บุกรุกป่าบางกลอยบน ซึ่งห่างจากบางกลอยล่าง ประมาณ 13 กิโลเมตร

“มีการถางและเผาป่าหลายพื้นที่ จากเดิมในวันที่ 23 มกราคม 2564 ที่ทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ บินสำรวจ พบป่าถูกถางและเผาเพียง 10 แปลง 34 ไร่ แต่ล่าสุดที่กรมอุทยานฯขึ้นบินสำรวจ พบผืนป่าถูกถางและเผาไม่น้อยกว่า 120 ไร่… กว่า 1 เดือน มีการเจรจาและทำความเข้าใจหลายฝ่ายแล้ว รวมถึงการทำ MOU ระหว่างภาครัฐและประชาชนด้วย แต่ล่าสุดเมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมา ยังพบผู้บุกรุก” นายยุทธพลกล่าว

ในเย็นวันจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปลด รมว.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

“ขอประณามการกระทำเสมือนกับชาวบางกลอยมิใช่คนอย่างไร้มนุษยธรรม มานานกว่า 25 ปี และขอให้รัฐบาลสั่งการปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่รับฟังเสียงทุกข์ยากของชาวบางกลอย และหูเบารับฟังเพียงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐเพียงฝ่ายเดียว” แถลงการณ์ ระบุ

ทั้งนี้ ปฏิบัติการนำชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่บางกลอยบน ยังคงดำเนินต่อในวันอังคาร โดย นายพชร คำชำนาญ นักสิทธิชุมชนที่ติดตามกรณีนี้ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่สามารถพาชาวกะเหรี่ยงกลับลงมาจากบางกลอยบนได้แล้ว 13 คน

ด้าน นายวุฒิ บุญเลิศ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพยายามเข้าพูดคุยกับชาวกะเหรี่ยง เพื่อให้อพยพลงมาจากพื้นที่บางกลอยบน แต่ไม่เป็นผล ชาวบ้านบางส่วนยืนยันที่จะทำกินในพื้นที่บางกลอยบนต่อไป

“นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย และนางสาวเนตรสภา งามเนตร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ลงมาจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดินแล้ว ขณะนี้ยังไม่ได้ออกมาพูดคุยกับชาวบ้านที่ปักหลักอยู่นอกศาลาประชุม… นายหน่อแอะ มีมิ บุตรชายของปู่คออี้ลงมาด้วย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ เผยว่า นายหน่อแอะยืนยันจะไม่กลับลงมา ขณะนี้กำลังใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงเจ้าหน้าที่ลงมาทั้งหมด แล้วกลับไปคุยกันที่หน่วยงานอีกครั้ง” นายวุฒิ กล่าว

หลังจากการกลับไปทำกินในพื้นที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 จนเกิดการพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับชาวกะเหรี่ยงซึ่งมี นายพงศักดิ์ ต้นน้ำเพชร เป็นตัวแทน เพื่อยุติข้อพิพาทดังกล่าว โดยมีข้อตกลงให้ 1. ชาวบ้านกลับไปทำกิน และอาศัยในพื้นที่ดินบรรพบุรุษ 2. เจ้าหน้าที่จะยุติการใช้กำลังกับชาวกะเหรี่ยง 3. เจ้าหน้าที่จะยุติการขนส่งของและอาหารของชาวบ้าน 4. ให้รัฐบาลดำเนินการตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ในการฟื้นฟูที่ทำกินชาวกะเหรี่ยง 5. ให้รัฐจัดสรรพื้นที่ทำกินให้กับชาวบ้านที่ประสงค์จะทำกินในบ้านบางกลอยล่าง และ 6. รัฐต้องยุติการตั้งด่านและเข้าตรวจ ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวกะเหรี่ยง

ตามคำบอกเล่าของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เมื่อครั้งผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ลงพื้นที่ ในปี 2560 เปิดเผยว่า ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “บ้านใจแผ่นดิน” และ “บางกลอยบน” มาเกิน 100 ปี โดยมีอาชีพเกษตรกรรมลักษณะไร่หมุนเวียน หาของป่า และล่าสัตว์ โดยมีเอกสารเป็นหลักฐานราชการต่าง ๆ เช่น แผนที่ทหาร ปี 2455 ต่อมาในปี 2524 ได้มีการประกาศพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

กระทั่งปี 2538 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เจรจาขอให้ชาวกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน อพยพลงมาอยู่ในพื้นที่ด้านล่าง ซึ่งรัฐสัญญาว่าจะจัดสรรพื้นที่ปลูกบ้านและทำกสิกรรมให้ พื้นที่ดังกล่าวถูกเรียกว่า “บ้านโป่งลึก-บางกลอย” (หรือบางกลอยล่าง) แต่ชาวบ้านบางส่วนยังกลับไปใช้พื้นที่ทำกินที่บางกลอยบนและใจแผ่นดินอยู่ เพราะเห็นว่าพื้นที่บางกลอยล่างเป็นหินทำเกษตรไม่ได้

ต่อมาปี 2553-2554 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะนั้น เริ่ม “ยุทธการตะนาวศรี” เข้าไปจับกุมชาวกะเหรี่ยงที่ขึ้นไปทำกิน และอาศัยในพื้นที่บางกลอยบน และใจแผ่นดิน โดยมีการเผาทำลายบ้าน และยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงดำเนินการฟ้องร้อง นายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

ระหว่างการต่อสู้คดี นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ในฐานะพยาน หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังจากที่ออกไปเก็บน้ำผึ้ง ต่อมานางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายพอละจี ได้ยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายพอละจี เพราะนายชัยวัฒน์เป็นคนจับตัวนายพอละจีก่อนการหายตัว แต่ศาลจังหวัดเพชรบุรีมีคำพิพากษา ในเดือนกรกฎาคม 2557 ให้ยกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ สำหรับคดีเผาทำลายบ้าน มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวกระเหรี่ยง 6 คน เป็นเงินราว 2.9 แสนบาท

ต่อมากันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยืนยันว่า พบชิ้นส่วนกะโหลกของนายพอละจี ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  และเป็นการเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรม นำมาสู่การยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ในฐานะผู้ต้องสงสัยอีกครั้ง แต่มกราคม 2563 อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์และพวก เพราะการตรวจดีเอ็นเอด้วยไมโตคอนเดรีย สามารถระบุได้เพียงสายสัมพันธ์กับมารดาเท่านั้น ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ชัด

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงานข่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง