อดีตนักเคลื่อนไหวลาว 'คูคำ แก้วมะนีวง' ได้รับประกันตัวเป็นอิสรภาพ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.02.01
กรุงเทพฯ
อดีตนักเคลื่อนไหวลาว 'คูคำ แก้วมะนีวง' ได้รับประกันตัวเป็นอิสรภาพ นักเคลื่อนไหวชาวลาว คูคำ แก้วมะนีวง ภาพที่ไม่ระบุวันที่
คูคำ แก้วมะนีวง

นายคูคำ แก้วมะนีวง อดีตนักเคลื่อนไหวกลุ่มลาวเสรี ได้รับการปล่อยตัวแล้วในวันอังคารนี้ หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ทุ่งสองห้อง จับกุมตัวในวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเปิดเผยว่า การถูกควบคุมตัวครั้งนี้ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะอาศัยอยู่ในประเทศไทย

นายคูคำ ซึ่งมีผู้มีสถานะผู้ลี้ภัยโดยการรับรองของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยว่า ได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรสิทธิมนุษยชน จึงสามารถประกันตัวออกมาจากห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลูได้ ในวันอังคารนี้

“ได้รับการปล่อยตัว เมื่อประมาณ 5 โมงครึ่ง เหตุการณ์ตอนนั้น เราก็ตกใจ เราไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ เราก็รู้ตัวว่าเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการคุ้มครองจากยูเอ็น ก็มีนอกเครื่องแบบมาจับ แล้วบอกว่าเป็นตำรวจ แต่เขาดูแลผมดีนะ ไม่ได้ทำร้ายผม” นายคูคำ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“เรารู้สึกไม่ปลอดภัยถ้าอยู่ในประเทศไทย เราก็คงหาวิธีหาทางไปที่อื่น ถ้ามีประเทศที่รองรับ แต่ก่อนผมก็พูดเรื่องการเมืองลาวเยอะ ตอนอ๊อด ไซยะวง หายตัวไปในประเทศไทย ทำให้เรารู้สึกตกใจ ก็เลยเลิกพูดเรื่องการเมืองมา 2-3 ปีแล้ว ตอนนี้ เราได้ประกัน เราก็ต้องพักในที่ที่ให้สัญญากับเขา และรายงานตัวกับ ตม. ทุก 15 วัน ไม่สามารถไปค้างที่อื่นได้” นายคูคำ ระบุ

นายคูคำ ให้ข้อมูลว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัว ขณะร่วมดูการแข่งขันตะกร้อที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ถูกนำตัวไปคุมขังใน สน. ทุ่งสองห้อง จากการอยู่ในประเทศไทยเกินกำหนด ก่อนถูกพาตัวไปขึ้นศาลในวันจันทร์ ซึ่งตัวนายคูคำให้การรับสารภาพ

“ศาลสั่งลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 6 พันบาท รับสารภาพ ลดกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา โทษปรับเหลือ 3 พันบาท ถูกส่งไป ตม. สวนพลู เพื่อดำเนินการผลักดัน มาพบภายหลังว่า เขาเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ” ร.ต.อ. ชัยรัตน์ ธรรมสีหา รองสารวัตรสอบสวน สน. ทุ่งสองห้อง เจ้าของคดี เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์

นายคูคำเปิดเผยว่า ถูกนำตัวไปยัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู เพื่อรอการผลักดันกลับประเทศ ก่อนที่เขาจะได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรสิทธิมนุษยชน กระทั่งได้รับการประกันตัวเป็นอิสรภาพในเย็นวันอังคารนี้

เบนาร์นิวส์ ได้ติดต่อไปหา พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษก และรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รอง ผบช.สตม.) เพื่อขอคำยืนยันเรื่องนี้ แต่ได้รับคำตอบว่า กำลังตรวจสอบข้อมูล

ทั้งนี้ นายคูคำ อายุ 38 ปี เป็นชาวแขวงจำปาสัก ประเทศลาว เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2545 เป็นอดีตผู้จัดการสหพันธ์กรรมกรลาว และสมาชิกกลุ่มลาวเสรี ที่ผ่านมามีบทบาทเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศลาว โดยจัดกิจกรรมหลายครั้งที่กรุงเทพฯ รวมถึงเคยร่วมประท้วงที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทยด้วย

นายคูคำ เปิดเผยว่า หนังสือเดินทางและวีซ่า หมดอายุตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากไม่กล้าเดินทางกลับไปต่ออายุในประเทศลาว เพราะกลัวได้รับอันตราย ที่ผ่านมาในประเทศไทย เขาไม่ได้ทำงานประจำ แต่เป็นนักตะกร้อสมัครเล่น และทำกิจกรรมเกี่ยวกับการแข่งขันตะกร้อ เช่น พากย์ตะกร้อ หรือลงแข่งขัน

เนื่องจาก กระบวนการส่งตัวไปยังประเทศที่สามของยูเอ็นเอชซีอาร์ค่อนข้างล่าช้า ข้อเสนอแนะคือ รัฐบาลควรมีระบบคัดกรองชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย เพื่อคัดกรองผู้ที่หลบหนีคดีแยกออกจากผู้ที่ลี้ภัยจริง ๆ ที่กลับประเทศไม่ได้ เพราะกลัวได้รับอันตราย และให้คนเหล่านี้ อยู่ในประเทศไทยได้อย่างมีศักดิ์ศรี ให้เขาสามารถทำงานได้ อยู่ได้อย่างปลอดภัย ระหว่างที่รอการเดินทางไปยังประเทศที่สาม เจ้าหน้าที่ก็ไม่ควรไปจับเขา หากเขาไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย” อังคณา นีละไพจิตร กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ก่อนหน้านี้ ในเดือนมีนาคม 2562 นายอ๊อด ไซยะวง นักเคลื่อนไหวกลุ่มลาวเสรี หายตัวไปขณะลี้ภัยอยู่ในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน ยังไม่มีใครทราบชะตากรรม และมีข่าวลือว่า ปัจจุบัน นายอ๊อดอาจจะเสียชีวิตแล้ว

เมื่อปลายปี 2564 มีนักเคลื่อนไหว และอดีตนักการเมืองชาวกัมพูชา อย่างน้อย 6 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่ในประเทศไทย และถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศกัมพูชา และมีการเปิดเผยข้อมูลในภายหลังว่า เมื่อถึงกัมพูชาบางรายถูกนำตัวไปควบคุมในเรือนจำ เพราะเป็นผู้เห็นต่างจากรัฐบาลของนายฮุนเซน และในเดือนธันวาคม 2564 มีพระนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชารูปหนึ่งถูกควบคุมตัว และบังคับให้สึกในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามอดีตพระคนดังกล่าวได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา จึงไม่ถูกส่งตัวกลับประเทศ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง