คนไทย 15 คนสุดท้ายติดในเขตเศรษฐกิจพิเศษลาว ได้รับการช่วยเหลือแล้ว

รายงานพิเศษสำหรับเบนาร์นิวส์
2022.03.16
คนไทย 15 คนสุดท้ายติดในเขตเศรษฐกิจพิเศษลาว ได้รับการช่วยเหลือแล้ว สามเหลี่ยมทองคำ เขตเศรษฐกิจพิเศษ
เรดิโอฟรีเอเชีย

เรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า คนไทยกลุ่มสุดท้าย จากทั้งหมด 15 คนที่ถูกหลอกให้รับงานผิดกฎหมาย ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำของลาว ได้เดินทางกลับถึงไทยแล้ว

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นายหน้าหางานให้ชาวไทย 15 คน ให้สัญญาว่าพวกเขาจะได้งานที่ดีในเขตเศรษฐกิจพิเศษใน สปป.ลาว ที่ดำเนินการควบคุมอย่างไม่เป็นทางการโดยจีน เพื่อแลกกับเงินค่าจ้างคนละ 15,000 บาท (หรือ 450 เหรียญสหรัฐ)

ดังนั้นในเดือนมกราคม พวกเขาจึงได้นั่งเรือเล็กข้ามพรมแดนทางแม่น้ำโขง ช่วงระหว่างจังหวัดเชียงรายและจังหวัดบ่อแก้วของลาว มาถึงอำเภอต้นผึ้ง ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในลาว

เมื่อไปถึงที่นั่น พวกเขาเริ่มทำงานโดยเป็นคนแชทออนไลน์ ในการขายหุ้นของหลายบริษัทที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้กับนักท่องเที่ยว พวกเขารู้ในทันทีว่า งานนี้ไม่ใช่งานที่มีการคุยกันไว้ตามสัญญา

แรงงานไทย 5 คนในกลุ่มนั้น สามารถหลบหนีออกมาได้เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้จ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อให้ส่งพวกเขากลับไทย จากนั้นในต้นเดือนมีนาคม อีก 6 คน ก็หนีออกมาในลักษณะเดียวกัน และ 4 คนสุดท้ายเพิ่งได้รับการช่วยเหลือ ออกเดินทางกลับมากรุงเทพฯ เมื่อวันอังคารนี้

คนแรกที่หลบหนีออกมา คือชายชาวจังหวัดเชียงราย เขาเล่าให้เชียงใหม่นิวส์ฟังว่า ตอนแรกเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงลาว ก็มีคนมารับและนำพวกเขาไปเข้าที่กักตัวในอาคารนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ

“จากนั้นเราถูกนำตัวไปที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และกักตัวที่นั่นต่ออีก 14 วัน แล้วจึงถูกนำตัวไปที่ชั้น 9 ของตึกสีฟ้าที่มีการป้องกันอย่างเข้มงวด” เขากล่าว

“ในวันแรกของการทำงาน เราถูกพาไปที่ห้องขนาดใหญ่ที่มีโต๊ะจำนวนมาก เราแต่ละคนได้รับสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต มีคนงานประมาณ 50 คนในห้องนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและลาว และมีพวกเรา 15 คน”

ผู้หญิงหนึ่งในกลุ่มห้าคนแรกที่หนีออกมา บอกกับนักข่าวไทยว่า งานแรกของพวกเขาคือการสร้างเฟซบุ๊กเพจ และบัญชีอินสตาแกรม โดยใช้ชื่อและรูปถ่ายปลอม

“พวกนั้นบอกเราว่า เรากำลังทำงานเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ของ คิงส์ โรมัน คาสิโน... ต่อมาเราได้รับคำสั่งให้ปลอมตัวในบัญชีโซเชียลมีเดียปลอม พยายามโน้มน้าวให้มีคนมาลงทุนหรือซื้อหุ้นของบริษัท” เธอกล่าว

มาถึงจุดนี้ เราได้พูดกับหัวหน้าชาวจีนว่า เราอยากกลับบ้าน แต่หัวหน้าบอกว่าเราต้องจ่ายบริษัท 100,000 บาท ($3,000)” เธอกล่าว

คนทำงานชทออนไลน์ทั้งหมดได้รับการบอกกล่าวว่า จะต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง แต่จริง ๆ แล้วทำงานประมาณ 16 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ผู้หญิงไทยอีกรายหนึ่งจากกลุ่ม 5 คนแรกที่หนีออกมา บอกกับนักข่าวไทยคนเดิม  

“หลังจากเราทำงานมาสามวัน เรารู้ว่า เราไม่ได้ทำงานตามที่ตกลงกันไว้จริง ๆ เราจึงต้องการเลิกทำงานในวันที่สี่ แต่หัวหน้ายืนยันว่าเราต้องทำงานต่อ มิฉะนั้นเราจะถูกขายไปเป็นโสเภณี” เธอกล่าว

ชายอีกรายหนึ่งในกลุ่มเล่าว่า มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และเป้าหมายในการขายที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรลุผล

“เราไม่เคยได้รับค่าจ้างเลย เรานอนรวมกันในห้องเดียว และได้รับอาหารสองมื้อต่อวัน แต่ถ้าเราทำไม่ถึงเป้า พวกเขาขู่ว่าจะขายเราให้บริษัทอื่น เพราะเรายังใหม่ เราทำอะไรไม่ได้มาก” เขาบอก และตอนนั้นเองที่ทั้งหมดรู้ว่า พวกเขาถูกหลอก

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เราได้ติดต่อสำนักงานผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและสถานเอกอัครราชทูตไทยในลาว ซึ่งแนะนำเราไม่ให้เซ็นสัญญาและให้รอ เพราะกำลังดำเนินการให้ความช่วยเหลืออยู่” เขากล่าว

นายภาสกร บุญญลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ส่งจดหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดบ่อแก้ว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ โดยขอให้ทางการลาวช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ในวันต่อมา กลุ่มแรงงานไทยห้าคนแรกตัดสินใจหนีกลับบ้านเกิดที่จังหวัดเชียงราย

“ผมกับเพื่อนสี่คน (ชายสามคนและหญิงสองคน) หลบหนีออกมาได้ ต้องขอบคุณผู้หญิงลาวที่ทำงานที่ศูนย์กักตัวแห่งแรก” ชายรายที่สองบอก

“เราถามผู้หญิงคนนี้ ว่ามีวิธีใดบ้างที่เราจะหนีได้ เธอบอกเราว่ามีผู้ชายลาวคนหนึ่งที่ช่วยเราได้ แต่เราต้องจ่าย 30,500 บาท ($911) ต่อคนเพื่อหลบหนี และ 14,000 บาท (418 ดอลลาร์) ต่อคนสำหรับการนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขง เราโทรหาครอบครัวของเรา และก็มีครอบครัวหนึ่งได้นำบ้านไปจำนองเพื่อแลกกับอิสรภาพของลูกชาย” เขาบอก

ชายไทยรายที่สาม บอกว่าเขาชื่อ นายซี กล่าวว่า เขาได้รับมอบหมายให้ขายหุ้นให้กับลูกค้าชาวยุโรป เนื่องจากทักษะภาษาอังกฤษของเขา

ผมรู้ว่างานนี้ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม ดังนั้นผมจึงเกลี้ยกล่อมอีกสี่คนให้หนีออกมาด้วยกัน เราออกจากตึกสีฟ้าเวลา 19.30 น. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ทิ้งข้าวของทั้งหมดไว้ในห้องพัก เราแต่งตัวด้วยชุดสีเข้ม แล้ววิ่งหลบเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปที่ด้านหลังของตึกสีฟ้า” เขากล่าว

“เราเดินต่อไปเกือบชั่วโมง เมื่อเราไปถึงหมู่บ้าน ก็มีรถมารับเรา ผมจำไม่ได้ว่านานแค่ไหนและไกลแค่ไหน จนมาถึงแม่น้ำโขง ที่นั่นมีผู้ชายลาวรออยู่พร้อมเรือลำเล็ก” นายซี บอก

เมื่อพวกเขากลับมาถึงไทย พวกเขาถูกพาไปที่สวนยางแห่งหนึ่ง มีผู้ชายไทยคนหนึ่งจับพวกเขาไว้ จนกระทั่งเมื่อชายผู้นั้นได้รับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากชายชาวลาว ชายไทยผู้นี้จึงนำพวกเขาไปส่งที่ตลาดในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

“ประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ผมได้ข่าวว่า มีคนไทยอีกหกคนหลบหนีออกมาแบบเดียวกับที่เราทำ หนึ่งในหกคนนั้น ได้จ่ายเงินในการหลบหนีสูงถึง 90,000 บาท ($3,000) ตอนนี้ ยังคงเหลืออีกสี่คนในกลุ่มของเราทั้งหมดที่ยังติดอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และทั้งสี่คนนั้นได้ถูกส่งตัวต่อไปให้แก๊งมิจฉาชีพแก๊งอื่นแล้ว ผมจึงอยากจะขอให้ทางการช่วยเหลือพวกเขาและคนไทยอีกหลายคนในเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเร็วที่สุด” นายซี กล่าว

เจ้าหน้าที่ลาวรายหนึ่งในจังหวัดบ่อแก้ว บอกกับเรดิโอฟรีเอเชียเมื่อวันจันทร์ว่า ทางการได้ช่วยเหลือ 4 คนสุดท้ายให้กลับบ้านแล้ว

“หลังจากที่เราได้รับคำขอจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เราได้เขียนจดหมายขอให้ผู้บริหารเขตพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำตรวจสอบอาคารทุกหลังว่ามีแรงงานไทยอยู่ที่นั่นหรือไม่” เจ้าหน้าที่กล่าวโดยไม่เปิดเผยชื่อ

และในวันจันทร์นั้น แรงงานกลุ่มแรกที่หนีออกมาได้พากันเดินทางไปที่สถานีตำรวจ จังหวัดเชียงราย เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในกระบวนการบสวน พวกเขายังได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวไทยที่เหลืออีกสี่คน รวมทั้งชาวไทยคนอื่น ๆ ที่อาจติดอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษลาว

พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ว่า คดีนี้คล้ายกับคดีค้ามนุษย์ครั้งก่อน

“เราเชื่อว่ากรณีนี้ไม่แตกต่างกัน อาจมีแรงงานไทยอีกหลายกลุ่มในฝั่งลาว” พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ กล่าว

สื่อไทยรายงานเมื่อวันอังคารว่า คนไทยที่เหลืออีกสี่คนบินกลับประเทศไทยในเช้าวันนั้น หนึ่งในสี่บอกว่า การช่วยเหลือของพวกเขาเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน

มีคนบอกให้เราเก็บเสื้อผ้าและของใช้อื่น ของเรามา จากนั้นเราก็ขึ้นเครื่องบินกลับประเทศไทย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายชายรายหนึ่งบอก

หนึ่งในผู้หลบหนีกลุ่มแรก บอกกับเรดิโอฟรีเอเชียโดยขอสงวนนามว่า มีคนไทยจำนวนมากที่ยังคงติดอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

“เพื่อนคนไทยคนหนึ่งบอกผมว่า มีคนไทยอย่างน้อย 90 คนที่ทำงานในบริษัทของเธอ” ชายรายเดิมบอกต่อ

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ดำเนินการโดย จ้าว เหว่ย (Zhao Wei) ประธานกลุ่มดอกงิ้วคำ (Dok Ngiew Kham) โดยบริษัทของ จ้าว เหว่ย ถือหุ้นร้อยละ 80 และรัฐบาลลาวถือหุ้นร้อยละ 20

สามเหลี่ยมทองคำ เป็นพื้นที่รอยต่ออยู่ในระหว่าง 3 ประเทศ คือไทย ลาว และเมียนมา มาบรรจบกัน เมื่อห้าสิบปีก่อนเคยเป็นแหล่งผลิตเฮโรอีนแหล่งใหญ่ และการค้ามนุษย์ จึงเป็นที่มาของชื่อนี้

ในปี 2561 กระทรวงการคลังสหรัฐได้ประกาศเครือข่ายธุรกิจของ จ้าว เหว่ย ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ คิงส์ โรมัน คาสิโน เป็น “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” และแซงก์ชั่น จ้าว เหว่ย รวมถึงบุคคลและบริษัทอื่น ๆ อีกสามแห่งทั่วประเทศลาว ไทย และฮ่องกง

ธุรกิจของ เหว่ย “ใช้ประโยชน์จากภูมิภาคนี้ด้วยการค้ายาเสพติด, การค้ามนุษย์, การฟอกเงิน, การติดสินบน และการค้าสัตว์ป่า ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการอำนวยความสะดวกผ่าน คิงส์ โรมัน คาสิโน ที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ คำแถลงของกระทรวงการคลังกล่าว

ลาว ซึ่งอยู่ภายใต้แรงกดดันของสหรัฐฯ มานานหลายปีให้ดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ ปีที่แล้วยังคงอยู่ที่ระดับ 2 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประจำปี รายงานปี 2564 ระบุว่า ลาว เพิ่มความพยายามโดยรวมในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ แต่ยังขาดขั้นตอนในการระบุตัวเหยื่อและคัดกรอง และล้มเหลวในการตรวจสอบผู้ต้องสงสัยไม่เพียงพอ ว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทางเพศ

เรดิโอฟรีเอเชีย รายงานในเดือนธันวาคมว่า ผู้หญิงลาวจำนวนมากเป็นหนี้ จากการทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะในฐานะ “สาวแชท” ในลักษณะงานเหมือนกับชาวไทยทั้ง 15 คน แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า การตั้งเป้าในการขายแชทออนไลน์สูงมาก จนแทบเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นคนงานหญิงที่ไม่สามารถทำเป้าได้ตามข้อตกลงดังกล่าว บริษัทก็สามารถขายพวกเธอในการค้าประเวณีได้ง่ายขึ้น

เรดิโอฟรีเอเชีย หน่วยงานในเครือของเบนาร์นิวส์ รายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง