เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ ทันทีตามคำสั่งศาล

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.05.19
กรุงเทพฯ
Share on WhatsApp
Share on WhatsApp
เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ ทันทีตามคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัว พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ อดีตผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 26 สิงหาคม 2564
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

ในวันศุกร์นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุจะเร่งดำเนินการตามคำสั่งศาลที่มีคำวินิจฉัยในสัปดาห์นี้ ให้บังคับใช้โดยทันที พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ ที่ในบางมาตรากำหนดให้เจ้าหน้าที่ถ่ายวิดีโอคลิปในขณะจับกุมและควบคุมตัวไว้เพื่อเป็นหลักฐาน

พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ ถึงคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ทันที

คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ที่ออก ซึ่งหลังจากนี้ เราก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ ที่ออกมา ปัจจุบันเรามีกล้องอยู่แสนกว่าตัว หลังจากนี้ ก็จะมีการจัดซื้อเข้ามาดำเนินการ โดยจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือนน่าจะทัน” พล.ต.ต. อาชยน กล่าว

ตอนนี้ถ้ามีเหตุฉุกเฉิน ท่าน ผบ.ตร. ก็ได้สั่งการให้บริหารจัดการกล้องที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ที่สุด ต้องมีการหมุนเวียนกันใช้ในส่วนต่าง ๆ และถ้าสุดวิสัยจริง ๆ ก็จะสามารถใช้อุปกรณ์ส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นบอดี้แคม หรือโทรศัพท์มือถือ ดำเนินการไปก่อน รวมถึงใช้อุปกรณ์ส่วนตัวในการจัดเก็บไฟล์ภาพด้วย” พล.ต.ต. อาชยน กล่าวเพิ่มเติม

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวันพฤหัสบดีนี้ มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง ว่าพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 (พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ) ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้ พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ จะมีผลบังคับใช้ทันที 

การที่ ครม. มีมติเห็นชอบให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ มาตรา 22-25 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ถ่ายวิดีโอคลิปในขณะจับกุมและควบคุมตัวไว้เพื่อเป็นหลักฐานออกไป เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ส่งหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน โดยอ้างเหตุผลว่า มีความไม่พร้อมด้านต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามกฎหมาย

อนึ่ง พ.ร.บ. ป้องกันอุ้มหายฯ ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จริง 120 วันหลังจากนั้น ซึ่งตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

สำหรับ มาตรา 22 ระบุว่า การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว และมาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว และมาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวมีสาระสำคัญประกอบด้วย 1. กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผย จะกระทำไม่ได้ 5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย คุ้มครองพยาน และเยียวยาญาติ และ 6. กำหนดให้การร้องเรียนในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่นใด

สองเดือนก่อนหน้าที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวจะมีการประกาศใช้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย รวมถึง พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ ในข้อหาซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวและสอบปากคำเมื่อปี 2564 ซึ่งปรากฏภาพผู้ต้องสงสัยใส่กุญแจมือ และมีถุงพลาสติกคลุมศีรษะ ในวิดีโอที่มีคนแอบบันทึกไว้ และมีผู้นำไปเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย

ในขณะที่ ศาลจังหวัดสงขลา มีคำสั่งเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2565 ว่าผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในอาการโคม่าและเสียชีวิต ในขณะที่ถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหารจริงเมื่อเกือบสามปีก่อน ไม่ได้เสียชีวิตจากการถูกทรมาน

โดยนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เสียชีวิตลงในปี 2562 ด้วยวัย 34 ปี ภรรยาและญาติของเขาได้ดำเนินการทางกฎหมายเรียกร้องความเป็นธรรมมาตลอด 2 ปี ขอให้ศาลไต่สวนยืนยันถึงการชันสูตรศพ นายอับดุลเลาะอีกครั้ง ว่ามีการทรมานหรือไม่ และความหวังของครอบครัวก็ทลายลงเมื่อศาลมีคำสั่งออกมา

นักสิทธิมนุษยชนยินดีที่กฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบ

ด้านนักสิทธิมนุษยชน ชี้ว่า คำวินิจฉัยของศาลเป็นการปกป้องสิทธิของประชาชน และ ครม. ควรแสดงความรับผิดชอบที่พยายามเลื่อนการใช้กฎหมายโดยขัดรัฐธรรมนูญ

นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ในฐานะผู้เสียหาย และผู้ที่เรียกร้องเกี่ยวกับกฎหมายนี้มานาน รู้สึกดีใจที่กฎหมายบังคับใช้จริงเสียที

รู้สึกดีใจที่กฎหมายบังคับใช้เสียที เพราะยืดเยื้อมานาน และเราก็อยากเห็นการบังคับใช้จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจ มหาดไทย ดีเอสไอ และอัยการ อยากเห็นประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการซ้อมทรมาน และอุ้มหายได้รับการเยียวยา"

"อยากเห็นการไม่ผลักดันคนกลับประเทศหากจะทำให้เขาเกิดอันตราย และรัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบที่เสนอกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแบบนี้ ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลปกติคงต้องลาออกไปแล้ว” นางอังคณา กล่าว

ด้าน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า กฎหมายที่ผ่านโดยรัฐสภา ไม่ควรถูกทำให้เลื่อนโดยรัฐบาลอยู่แล้ว

ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นการแสดงความเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และเคารพต่อระบบรัฐสภา สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรจะดำเนินการหลังจากนี้คือ ดำเนินการบังคับใช้ และหาทางเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในอดีต” น.ส. พรเพ็ญกล่าว

นักสิทธิมนุษยชนทั้งสองคนยังเห็นตรงกันว่าประชาชนที่ถูกละเมิดจากการถูกควบคุมตัวในช่วงตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้ควรจะฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีการควบคุมตัวบุคคล โดยไม่อนุญาตให้ทนายและญาติเข้าเยี่ยมอยู่ 

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง