อานนท์-ไมค์ กลับบ้านหลังศาลให้ประกันตัว คดี ม.112

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.06.01
กรุงเทพ
อานนท์-ไมค์ กลับบ้านหลังศาลให้ประกันตัว คดี ม.112 นายอานนท์ นำภา ปราศัยต่อผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการประท้วงข้ามคืนที่ท้องสนามหลวง วันที่ 19 กันยายน 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ ศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายอานนท์ นำภา และนายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 โดยการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันสองแสนบาท และมีเงื่อนไขห้ามทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย ห้ามร่วมชุมนุมที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศหากไม่ได้รับอนุญาตจากศาล 

ทั้งนี้ ในตอนดึกของวันอังคารนี้ เฟซบุค Watcharakorn Chaikaew ได้โพสต์ภาพของนายอานนท์ นำภา และนายภานุพงศ์ จาดนอก เดินออกจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ในชุดไปรเวท เรียบร้อยแล้ว 

ในช่วงเช้า ศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นายอานนท์ จำเลยที่ 2 และนายภาณุพงศ์ จำเลยที่ 6 ในคดีหมายเลขดำ อ.287/2564 หลังนัดไต่สวนเสร็จสิ้นลง 

“จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 6 ไปพบพนักงานอัยการตามที่ถูกเรียก ไม่ได้ถูกจับกุม พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจะไม่หลบหนี ประกอบพยานหลักฐานในคดีนี้ได้รวบรวมเสร็จแล้ว จำเลยทั้งสองไม่อยู่ในฐานะที่อาจจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และจำเลยทั้งสองแถลงด้วยความสมัครใจว่า หากได้รับการปล่อยชั่วคราวจะไม่ไปกระทำการก่อความวุ่นวายทางการเมือง ไม่กระทำการอันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมาศาลทุกนัด ยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล จึงเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” ​ตอนหนึ่งของ คำพิพากษาศาล โดยสรุป ระบุ 

ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังฟังคำสั่งศาลว่า จำเลยทั้งสองคน จะได้รับการปล่อยตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากเป็นที่ซึ่งทั้งสองคนรักษาตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยการปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ จำเลยวางหลักทรัพย์ค้ำประกันคนละ 2 แสนบาท 

“ทางราชทัณฑ์จะไปปล่อยที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โดยศาลก็ตั้งให้คุณสมชาย หอมละออ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นผู้กำกับดูแลช่วยศาล ในกรณีของคุณอานนท์ แล้วตั้งอาจารย์ธนินท์ ศิริวรรณ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิชุมชน เป็นผู้กำกับดูแลไมค์… ทั้งสองคนมีอาการว่าทางแพทย์แจ้งว่า อยู่ในอาการที่ปลอดภัย ปลอดเชื้อแล้ว” นายกฤษฎางค์ กล่าว 

ทั้งนี้ นายอานนท์ ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ยื่นประกันรวม 8 ครั้ง  ส่วนนายภานุพงศ์ ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 ยื่นประกันรวม 6 ครั้ง โดยในชั้นต้น พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ศาลได้รับฟ้องและไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 

ในคดีเดียวกันมีจำเลยหลายคนที่ถูกควบคุมตัวด้วย เช่น น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่, แต่ต่อมาศาลได้ทยอยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยหลายคนด้วยเงื่อนไขคล้ายกัน คือ ห้ามทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย, ห้ามร่วมชุมนุม และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ 

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันศาลได้ให้ประกันตัว นายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน จำเลยในความผิด ม. 112 จากคดีชุมนุม 20 มีนาคม 2563 โดยวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 2 แสนบาท และ นางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้กำกับดูแล แต่จะยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากนายชูเกียรติ ยังถูกควบคุมตัวในฐานะจำเลย ข้อหา ม. 112 ในคดีอื่นอีก 2 คดี

“วันนี้ คุณจัสตินก็คงไม่ได้ออกนะ เพราะระหว่างที่เขาถูกขังในคดีนี้ มันมีการฟ้องคดีเข้ามาใหม่ ที่ศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้ กับศาลอาญาธนบุรี… พรุ่งนี้ก็คงไปยื่นประกันตัวที่ศาล และเสนอเงื่อนไขแบบเดียวกับที่ศาลอาญารัชดาอนุญาต… จัสตินนี่ ตามรายงานก็ไม่มีเชื้อแล้ว แต่ศาลก็บอกว่า ถ้าคำสั่งแผนมีความเห็นให้กักตัวก็กักตัวต่อ”​ นายกฤษฎางค์ ระบุ 

ทั้งนี้ สำหรับนายชูเกียรติ จะยังถูกควบคุมตัวต่อเพราะจำเลยในคดีปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ของศาลอาญาธนบุรี และคดีปราศรัยในการชุมนุม ที่แยกราษฎร์ประสงค์ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งอัยการได้สั่งฟ้องต่อศาลแล้ว และศาลรับฟ้อง 

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เป็นข่าวดีที่เกิดขึ้นหลังจากที่นักกิจกรรมทั้งสองคนถูกคุมขังมาเป็นเวลานาน 

“หลังจากนี้ทั้งอานนท์ละไมค์ที่ได้รับการประกันตัว รวมทั้งนักกิจกรรมที่ได้รับการประกันตัวก่อนหน้านี้ จะสามารถออกมาเตรียมตัวเพื่อสู้คดีของตนเองต่อไป เราอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ แบบที่มีมาตรฐานเดียวกัน เท่ากันทุกคน ภาคประชาชนคงจะต้องย้ำจุดยืนและความสำคัญของสิทธิการให้ประกันตัวต่อไปหากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพราะฝ่ายที่ตนเองให้การสนับสนุนเท่านั้น แต่เพื่อรักษาสเถียรภาพของกระบวนการยุติธรรมไทย” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว 

กลุ่ม “ราษฎร” เริ่มชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดการชุมนุมในลักษณะนี้หลายครั้งในหลายจังหวัด โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลัก ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาการชุมนุมดังกล่าว นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีของนักกิจกรรม โดยเฉพาะแกนนำปราศรัย 

ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง ข้อหา ม. 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 97 ราย ใน 92 คดี โดยขณะนี้มีผู้ที่ถูกคุมขังด้วยข้อหา ม. 112 รวม 3 ราย 

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง