ศาลให้ประกันตัว ‘ไผ่-สมยศ’ ด้วยเงื่อนไขห้ามพาดพิงสถาบัน

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ และศรุมณย์ นรฤทธิ์
2021.04.23
กรุงเทพ
ศาลให้ประกันตัว ‘ไผ่-สมยศ’ ด้วยเงื่อนไขห้ามพาดพิงสถาบัน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ซ้าย) และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ทักทายผู้ที่มารอให้กำลังใจหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ วันที่ 23 เมษายน 2564
ศรุมณย์ นรฤทธิ์/เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์นี้ ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัว นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ด้วยหลักทรัพย์ค้ำประกัน 2 แสนบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ โดยหลังได้รับการปล่อยตัว ทั้งคู่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปและเรียกร้องให้ศาลให้สิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองรายอื่นๆ ที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ 

นายจตุภัทร์ ถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลา 46 วัน ขณะที่นายสมยศ ถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลา 73 วัน หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้องทั้งคู่ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และอื่นๆ จากการร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 -20 กันยายน 2563 โดยที่ผ่านมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นขอประกันตัวให้กับทั้งคู่หลายครั้ง แต่ไม่เคยได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัว กระทั่งจำเลยทั้งหมดในคดีดังกล่าวประกาศถอนทนายความเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์ว่า ศาลอาญาได้อนุมัติคำขอปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุภัทร์ และนายสมยศในช่วงบ่ายวันศุกร์นี้ 

“ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหามาตรา 112 โดยมีคำสั่งให้วางหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลพิเคราะห์ กรณีนี้ไม่มีเหตุผลเพียงพอว่าจะเป็นเหตุไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตาม ป.วิ อาญา มาตรา 108/1” เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ กล่าวและระบุว่าในเย็นวันศุกร์นี้ ทั้งคู่จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนรุงเทพฯ 

ส่วนความคืบหน้าของผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ นั้น เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ กล่าวว่า ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติม 

ในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวซึ่งนับเป็นการยื่นครั้งที่ 7 ของสมยศ และครั้งที่ 5 ของนายจตุภัทร์ ระบุถึงเหตุผลที่จำเลยตัดสินใจถอนทนายความว่า เกิดจากความกดดันและความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และสิทธิในการปรึกษาทนายความอย่างเต็มที่ในห้องพิจารณาคดีของศาล เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ ระบุ 

หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงเย็นวันศุกร์นี้ นายสมยศ กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า จะยังเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป และยินดีที่ได้รับอิสรภาพเพื่อมาต่อสู้คดี 

“พรรคพวกเราก็ยังทุกทรมานในเรือนจำขณะนี้ ผมก็จะไม่หยุดการเคลื่อนไหว มีภารกิจที่จะต้องเรียกร้องความเป็นธรรมคืนให้กับเพนกวิน อานนท์ แล้วก็พรรคพวกเราที่ถูกจับในเรือนจำ การประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นวันนี้ ก็ขอขอบคุณศาลที่เคารพในสิทธิของพวกเราที่จะประกันตัวออกมาสู้คดี” นายสมยศ กล่าว 

“การที่ไม่ได้ประกันตัวมาสู้คดีหมายถึงว่าตัดสิทธิเขาล่วงหน้าไปแล้ว ผมจึงอยากให้ปล่อยตัวพวกเรา จะได้ออกมาสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ... เพนกวินเขาบำเพ็ญเพียร เป็นคนที่แข็งแกร่งมาก ในการที่จะต่อสู้อย่างสันติวิธี เป็นการทรมานตัวเองเพื่อให้สังคมเห็นความไม่เป็นธรรม” นายสมยศ กล่าวเพิ่มเติม 

ส่วนนายจตุภัทร์ เปิดเผยว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้อิสรภาพหลังถูกกักขังในห้องแคบๆ มานาน 

“ดีใจมากๆ อยู่ข้างในมันเหงาๆ การเคลื่อนไหว การต่อสู้ เดี๋ยวรอดูสถานการณ์อีกที เป็นห่วงทุกคน ไม่มีใครควรที่จะติดคุกเพราะการแสดงความคิดเห็น หลายคนยังอยู่ข้างใน อยากให้ทุกคนออกมา” นายจตุภัทร์ กล่าว 

กลุ่ม “ราษฎร” เริ่มชุมนุมต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดการชุมนุมในลักษณะนี้หลายครั้งในหลายจังหวัด โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลัก ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาการชุมนุมดังกล่าว นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีของนักกิจกรรม โดยเฉพาะแกนนำปราศรัย 

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร 4 คน ประกอบด้วย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข  และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำหลังจากพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ในคดีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 และต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม 2564 จำเลยในคดีเดียวกันอีก 3 คน คือ นายจตุภัทร์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และนายภานุพงษ์ จาดนอก ถูกส่งฟ้องและไม่ได้รับการประกันตัวเช่นกัน เนื่องจากเกรงว่าจะหลบหนี สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ นายพริษฐ์ และน.ส.ปนัสยา เลือกอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ทุกคน 

แม้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะยื่นคำร้องขอประกันตัวให้แก่จำเลยทั้งหมด แต่ศาลได้ปฏิเสธคำร้องดังกล่าวโดยตลอดด้วยเหตุผลว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนคำวินิจฉัย” ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2564 ศาลให้ประกันตัวนายปติวัฒน์ หลังจากเจ้าตัวยอมรับเงื่อนไขว่าจะไม่ร่วมชุมนุมทางการเมืองและพูดพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์อีก และวันศุกร์นี้ ให้ประกันตัวจำเลยอีก 2 คน ด้วยเงื่อนไขคล้ายกัน 

ศาลยืนยันเกณฑ์การให้ประกันตัวเป็นไปตามหลักสากล 

นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผ่านเว็บไซต์ศาลยุติธรรมในวันศุกร์นี้ ระบุว่า ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาตลอดมาว่าเป็นสิทธิประการหนึ่งของผู้ต้องหาในคดีอาญา แต่การพิจารณาและมีคำสั่งศาลจำเป็นต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด ประกอบกับพฤติการณ์และความจำเป็นในแต่ละคดีซึ่งย่อมมีความแตกต่างกัน 

“ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ได้กำหนดให้ศาลอาจสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว หากปรากฏกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายประการอื่น หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือการดำเนินคดี… นอกจากนี้ หากผู้ขอปล่อยชั่วคราวไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่อนุญาตของศาล ก็สามารถอุทธรณ์ไปยังศาลที่สูงกว่าได้ หรือสามารถยื่นขอปล่อยชั่วคราวใหม่ได้ โดยมิได้จำกัดจำนวนครั้งของการยื่นคำร้อง” ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ระบุ 

ที่ผ่านมาการชุมนุมด้วยการปราศรัยมีการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 88 ราย ใน 81 คดี

ด้าน ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ยินดีที่นายจตุภัทร์และนายสมยศได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แม้จะไม่สมควรถูกกักขังไว้นานขนาดนี้ตั้งแต่แรกก็ตาม 

“สิทธิการให้ประกันตัวควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะในผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 พวกเขาควรจะได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด เพื่อออกมาสู้คดี และถ้ามีเหตุชี้มูลก็ไปสู้กันในกระบวนการของศาล การกระทำแบบที่ผ่านมาทำให้ผู้ต้องหาสูญเสียอิสรภาพ นำมาซึ่งความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น และเรื่อยๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับการทำความเข้าใจกระบวนการยุติธรรมไทย” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง