ฮิวแมนไรท์วอทช์ ร้องไทยยุติการฟ้อง ม.112 เยาวชน อายุ 18 ปี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.05.27
กรุงเทพฯ
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ร้องไทยยุติการฟ้อง ม.112 เยาวชน อายุ 18 ปี ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลสวมหน้ากากเดินขบวนประท้วง เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมฯ ในกรุงเทพฯ วันที่ 6 มีนาคม 2564
รอยเตอร์

ในวันพฤหัสบดีนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ รัฐบาลยุติการฟ้องคดี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับนายธนกร หรือเพชร (สงวนนามสกุล) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองอายุ 18 ปี ในคดีชุมนุม บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ด้าน นักวิชาการชี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลลุแก่อำนาจ และไม่สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชน

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการทวีปเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุในแถลงการณ์ว่า สถิติผู้ถูกดำเนินคดี ม. 112 เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า พร้อมจะใช้กฎหมายทุกฉบับจัดการกับผู้ชุมนุม ขณะที่ สหประชาชาติเองก็แสดงความเป็นห่วงกังวลที่รัฐบาลไทยใช้กฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยฉบับนี้

“การดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับเยาวชนที่แสดงออกทางความคิด เป็นการแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐพยายามสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ โดยการใช้กฎหมายเด็ดขาดกับผู้คนโดยไม่สนใจเรื่องอายุ การกระทำที่โง่เขลา เช่น คดีที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพต่อนายธนกร และผู้เห็นต่างที่แสดงออกอย่างสันติควรถูกยกเลิกไปได้แล้ว”​ นายแบรด กล่าว

“เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยไม่ควรปิดปากเยาวชนที่ต้องการจะแสดงความเห็น และความต้องการที่จะปฏิรูประบอบประชาธิปไตย แทนที่จะดำเนินคดีกับพวกเขา รัฐบาลควรฟังสิ่งที่เขาแสดงออก และปกป้องสิทธิการแสดงออก โดยไม่พยายามทำให้กลัว หรือข่มขู่พวกเขา” นายแบรด กล่าวเพิ่มเติม

การออกแถลงการณ์ครั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันจันทร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นายธนกร ได้เดินทางไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ตามนัดหมายของคดีชุมนุม บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ซึ่งพนักงานอัยการได้สั่งฟ้องต่อศาล ตามความผิดในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยไม่ได้แจ้งต่อนายธนกร เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564

“เยาวชนคนแรกที่ถูกฟ้องคดี 112 อัยการสั่งฟ้อง ธนกร คดีปราศรัย #ม็อบ6ธันวา วงเวียนใหญ่” ศูนย์ทนายฯ ระบุ

“เนื้อหาคำปราศรัยดังกล่าวเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุม อันเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากบุคคลที่สาม ซึ่งได้เห็น รับชม รับฟังคำปราศรัยเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้” ศูนย์ทนายฯ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายธนกร โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 5,000 บาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด โดยนายธนกร จะได้ใช้ทนายความ ซึ่งไม่ใช่ทนายความของศูนย์ทนายฯ และ ศาลเยาวชนนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 11 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น.ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน นายธนกร ถูกดำเนินคดีแล้ว 5 คดี เป็นคดี ม.112 แต่อีกคดียังไม่ถูกสั่งฟ้องโดยอัยการ จำนวน 2 คดี ม.116 จำนวน 1 คดี และคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น น.ส.นวพร สุนันท์ลิกานนท์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลควรให้พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนในการแสดงออก มิใช่ใช้กฎหมายปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ

“สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลลุแก่อำนาจ และไม่สนใจสิทธิเด็ก เพราะการใช้กฎหมายกับเด็กและเยาวชนที่ร่วมชุมนุมโดยสันติ ตามหลักสิทธิมนุษยชน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมเรื่องการเมืองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาล และสังคมควรรู้ได้แล้วว่า การแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน” น.ส.นวพร กล่าว

“การมีส่วนร่วมเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล การใช้กฎหมายจัดการเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนอย่างเข้มข้น จึงแสดงให้เห็นว่า รัฐไทยไมได้สนใจหรือใส่ใจต่อสิทธิและเสรีภาพ โดยเฉพาะของเด็กเลย ทั้งที่ ประเทศไทยเองก็ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” น.ส.นวพร ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้อ่านแถลงการณ์ เรียกร้องให้ “ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองและการใช้ความรุนแรงต่อเด็กเเละเยาวชนทุกรูปแบบ” ระหว่างการจัดกิจกรรม “การใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของเด็กและเยาวชนไม่ใช่อาชญากรรม” บริเวณหน้าพระแม่ธรณีบีบมวยผม ตรงข้ามท้องสนามหลวง

“ปัจจุบัน มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์และความผิดร้ายแรงอื่น เช่น ความผิดฐานเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร… เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีการดำเนินคดีกับเด็กในที่ชุมนุม ภายใต้การบังคับใช้มาตรา 112... แอมเนสตี้เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง ใช้ความรุนเเรง จับกุมควบคุมตัว ใช้สิทธิในเสรีภาพการเเสดงออกเเละการชุมนุมโดยสงบ” นางปิยนุช กล่าว

ทั้งนี้ ในวันพฤหัสบดีนี้ ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำมวลชนอาสา We Volunteer-WEVO ได้เดินทางไปกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ตาม ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการเขียนเฟซบุ๊กพาดพิงสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 และ มีประชาชนอย่างน้อย 7 ราย ที่ถูกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร้องขอต่อศาล ให้ปิดบัญชีเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์

กลุ่ม “ราษฎร” เริ่มชุมนุมในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนเกิดการชุมนุมในลักษณะนี้หลายครั้งในหลายจังหวัด โดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลัก ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อมาการชุมนุมดังกล่าว นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีของนักกิจกรรม โดยเฉพาะแกนนำปราศรัย

ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง ข้อหา ม. 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 94 ราย ใน 849 คดี ในนั้นเป็นเยาวชน 6 ราย จาก 5 คดี ขณะที่มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุม และ ม. 112 รวม 41 ราย ใน 41 คดี

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง