ตำรวจทลายแก๊งเงินกู้รีดไถลูกหนี้ที่เดือดร้อนจากโควิด

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2022.09.16
กรุงเทพ
ตำรวจทลายแก๊งเงินกู้รีดไถลูกหนี้ที่เดือดร้อนจากโควิด เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางบุกเข้าทลายเครือข่ายเงินกู้นอกระบบออนไลน์ผิดกฎหมาย ในจังหวัดปทุมธานี วันที่ 15 มิถุนายน 2565
บก.ปอศ.

นภาวัลย์ ริมวรรณ ใช้โทรศัพท์มือถือยืมเงิน 2,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ด้วยความเชื่อว่าสามารถชำระหนี้คืนได้ภายในเวลา 90 วัน โดยไม่เสียดอกเบี้ยหรือค่าบริการอื่นเพิ่มเติม

แต่หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น สมาชิกแก๊งทวงหนี้เริ่มโทรศัพท์หา นภาวัลย์ แม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกเล็กถึงสองคน เพื่อให้ชำระหนี้คืนพร้อมดอกเบี้ย 31 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลา 7 วัน

“หนูแค่อยากได้เงินไปซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ทุกวันนี้หนูกับลูกต้องกินข้าวคลุกซอส” นภาวัลย์ วัย 38 ปี ร่ำไห้ขณะให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ 

นภาวัลย์บอกว่า เธอไม่ได้รับทราบและยอมรับเงื่อนไขพวกนี้มาก่อน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า เงื่อนไขที่ซ่อนอยู่ภายใต้การให้บริการเงินกู้นอกระบบผิดกฎหมายนั้น ทำให้ธุรกิจประเภทนี้เจริญเติบโต และทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อได้ง่ายในช่วงการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ การทลายเครือข่ายเงินกู้นอกระบบผิดกฎหมายที่ผ่านมาทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า เครือข่ายอาชญากรรมประเภทนี้มีรายได้หลายพันล้านบาทจากลูกค้าที่หลงเชื่อ เพราะขาดความระมัดระวัง

หลังจากที่นภาวัลย์โดนแก๊งทวงหนี้โทรข่มขู่มากกว่าสิบครั้งต่อวัน เธอจึงตัดสินใจโทรศัพท์ไปที่สายด่วนรับแจ้งหนี้นอกระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“ตำรวจบอกหนูว่าให้ใจเย็น ๆ คนพวกนั้นทำอะไรหนูไม่ได้หรอก” นภาวัลย์เล่าให้ฟัง พร้อมระบุด้วยว่าตนเองเพิ่งหายป่วยจากโรคระบาดโควิด-19

เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสรายหนึ่งระบุว่า ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วประเทศไทย หลายคนตกเป็นเหยื่อของธุรกิจเงินกู้ผิดกฎหมาย เพราะคนเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่ถูกกฎหมายในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ได้

“โควิด-19 กระทบทุกธุรกิจ ทุกคนย่ำแย่หมด ตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้า จนถึงธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจหลายตัวต้องหยุดชะงักหรือปิดตัวลง” พ.ต.อ. ภาดล จันทร์ดอน ผู้กำกับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์

“พอประเทศไทยคลายล็อกดาวน์ เตรียมเปิดประเทศ หลายคนเริ่มมองหาแหล่งเงินทุนมาฟื้นฟูธุรกิจของตัวเอง และธุรกิจเงินกู้นอกระบบก็พร้อมตอบรับมาก” พ.ต.อ. ภาดล กล่าวเพิ่มเติม

เงินกู้ออนไลน์ รวมถึงการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ เข้ามาแทนที่การกู้เงินผ่านระบบแบบเดิม เพราะประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าอนุมัติง่าย โดยไม่ต้องยื่นเอกสารหรือตรวจสอบประวัติทางการเงิน ผู้เสียหายหลายรายใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็ยืมเงินได้สองสามพันบาทแล้ว

“นั่นเป็นเหตุผลที่เขาคิดดอกเบี้ยโหดมาก” พ.ต.อ. ภาดล กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า บรรดาเจ้าหนี้เงินกู้ต่างก็รู้ดีว่า ตัวเองทำธุรกิจผิดกฎหมาย

th-loanshark-02.jpg

พล.ต.ต. พุฒิเดช บุญกระพือ (คนที่สี่จากซ้ายมือ) ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ แถลงข่าวการทลายเครือข่ายเงินกู้นอกระบบที่ใหญ่ที่สุด วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 (บก.ปอศ.)

ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ปี 2565 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จับกุมผู้กระทำความผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายเงินกู้นอกระบบผิดกฎหมายได้เกือบ 100 ราย

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. ทลายเครือข่ายเงินกู้นอกระบบที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีสมาชิกร่วมขบวนการมากกว่า 40 ราย ในการปฏิบัติการในพื้นที่สามจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า นายเสวก มั่นปาน อายุ 43 ปี เป็นหัวหน้าขบวนการ จากการตรวจสอบประวัติพบว่า เคยถูกจับกุมและจำคุกในข้อหาเดียวกันเมื่อห้าปีก่อน

ในเดือนก่อนหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษ บก.ปอศ. นำกำลังเข้าทลายเครือข่ายเงินกู้นอกระบบผ่านเว็บไซต์ที่ใหญ่ที่สุด สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 29 ราย ซึ่งอยู่ในเครือข่ายที่ปฏิบัติการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ขอนแก่น ปทุมธานี และนครราชสีมา

พ.ต.อ. ภาดล กล่าวว่า หัวหน้าขบวนการของเว็บไซต์นี้เป็นชายไทยอายุ 26 ปี ที่เริ่มต้นทำธุรกิจปล่อยเงินกู้นอกระบบผิดกฎหมายเมื่อสองปีที่แล้ว ด้วยเงินทุนเพียง 200,000 บาท

จากการสืบสวนของตำรวจ ปอศ. พบว่า นายอนิวัฒน์ บัวใหญ่ เริ่มต้นธุรกิจด้วยการปล่อยเงินกู้ให้แม่ค้าในตลาดสดที่ต้องการเงินทุนไปขายของ ประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อราย จากนั้นขยายธุรกิจหันไปเล็งเป้าหมายใหญ่เป็นกลุ่มเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการกู้ยืมเงินตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 2 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปเป็นทุนหมุนเวียนธุรกิจในช่วงระบาดโควิด-19

พ.ต.อ. ภาดล ระบุว่า นายอนิวัฒน์จ้างวัยรุ่นรูปร่างกำยำไว้ทำงานทวงหนี้ มีการเปิดสำนักงาน มีรถให้ใช้ และมีรายได้พิเศษหากทวงหนี้ได้สำเร็จ ซึ่งในวันที่เข้าทลายเครือข่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเงินหมุนเวียนในระบบประมาณ 500 ล้านบาท

“เจ้าตัวสารภาพว่าเขาเรียนรู้รูปแบบการทำธุรกิจเงินกู้นอกระบบจากโซเชียลมีเดีย เป็นพฤติกรรมเลียนแบบ มันเป็นเกมที่ต้องลงทุน ความเสี่ยงสูง แต่ก็ได้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน” พ.ต.อ. ภาดล ระบุ

ทั้งนายอนิวัฒน์ และนายเสวก หัวหน้าขบวนการทั้งสองเครือข่าย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาว่ากระทำความผิด ประกอบสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต และเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ขณะที่นายเสวกและพวกถูกตั้งข้อหาเพิ่ม กรณีทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่และใช้ความรุนแรง

เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 สามเดือนหลังจากประเทศไทยประกาศปิดประเทศจากการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.) หลังจากพบว่า ประชาชนร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ และการถูกขู่ทำร้ายร่างกายเพิ่มสูงขึ้น

จนถึงวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบไว้ดำเนินการมากกว่า 7,000 เรื่อง โดยสถิติในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาแจ้งเรื่องราวร้องเรียน โดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 4,000 สาย ขณะที่เจ้าหน้าที่สามารถตอบรับสายโทรเข้าได้เพียงหนึ่งในสี่เท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 เดือนนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบได้ 833 ราย อายัดบัญชีธนาคาร 254 บัญชี ยึดรถยนต์และจักรยานยนต์จำนวนหลายร้อยคัน และสามารถยึดเงินสดได้มากกว่า 1.4 ล้านบาท ทั้งนี้ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ประเมินมูลค่าของกลางที่ยึดได้ทั้งหมดจำนวนมากกว่า 31 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานลูกหนี้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายหลายราย เพราะถูกเครือข่ายทวงหนี้นอกระบบผิดกฎหมายข่มขู่กดดัน

“พ่อขอโทษ พ่อเหนื่อย หนี้นอกระบบไม่ต้องไปจ่าย เพราะมันกินดอกไปเยอะแล้ว” ข้อความที่เขียนด้วยลายมือในจดหมายลาตายของเจ้าของโรงงานขนมปังรายหนึ่งระบุ

เจ้าหน้าที่ตำรวจพบจดหมายน่าเศร้านี้วางข้างร่างของผู้เสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคม

th-loanshark-03.jpg

จิราภรณ์ เทพบุตร และลูกสาววัย 8 ขวบ ยืนรอขณะที่เจ้าหน้าที่ 'สายไหมต้องรอด' พยายามตัดกุญแจที่แก๊งทวงหนี้เอากาวมาหยอดไว้ ทำให้เข้าบ้านไม่ได้ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 (เอกภพ เหลืองประเสริฐ เพจสายไหมต้องรอด)

“กลัวว่าลูกสาวจะได้รับอันตราย”

มีเหยื่อจากแก๊งเงินกู้นอกระบบอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า ทีมของเขาได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบวันละประมาณ 10 ราย

“จำนวนคนที่ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มสูงขึ้น เจ้าหนี้ใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ข่มขู่จะเอาชีวิต พังบ้าน ยึดทรัพย์สิน ตบตี ทำร้ายลูกหนี้ บางรายโดนปืนจ่อไล่ยิง” เอกภพ กล่าว

เมื่อไม่นานมานี้ เอกภพได้ให้ความช่วยเหลือ จิราภรณ์ เทพบุตร แม่ค้าตลาดนัดแห่งหนึ่ง พร้อมลูกสาววัย 8 ปี พร้อมกับพาเข้าไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจ หลังจากถูกแก๊งทวงหนี้ใช้กาวหยอดในรูกุญแจ ทำให้เข้าบ้านไม่ได้ และยังส่งข้อความข่มขู่เอาชีวิต

“ระวังตัวไว้นะพี่ เอาเงินเขาไปพี่หนีไม่รอดหรอก ชำระยอดด่วน อย่าให้กูเจอมึงนะ เผาบ้านมึงดีมั้ง” เป็นข้อความที่แก๊งทวงหนี้ส่งถึงเธอ

ขณะที่ จิราภรณ์ อายุ 44 ปี ต้องทำงานหาเงินจ่ายค่าดอกเบี้ยวันละ 400 บาท หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ของยอดเงินกู้ 20,000 บาท แต่ได้เงินจริงแค่ 16,000 บาท ที่ผ่านมา จิราภรณ์ขาดส่งดอกเบี้ยเพราะติดโควิด ทำให้ออกไปขายของไม่ได้และไม่มีเงินชำระหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้แนะนำให้จิราภรณ์กู้เงินเพิ่ม เพื่อเอาเงินไปชำระหนี้เก่าพร้อมดอกเบี้ย

จิราภรณ์เล่าว่า แก๊งทวงหนี้ส่งข้อความทวงหนี้และข่มขู่ทุกวัน บางวันก็จะซุ่มรออยู่แถวหน้าบ้าน เขย่าประตูบ้าน เอาหินก้อนเล็ก ๆ ปาเข้ามาในบ้าน

ในคืนหนึ่ง หลังจากที่จิราภรณ์และลูกสาวกลับจากขายของที่ตลาด พบว่าประตูบ้านโดนล็อก พร้อมแผ่นข้อความแขวนหน้าประตูบ้านว่า “เงินกู เอามาคืน”

จิราภรณ์นั่งร้องไห้อยู่ข้างถนนเกือบสามชั่วโมง ก่อนตัดสินใจโทรศัพท์หาเอกภพ เพื่อขอความช่วยเหลือ

“หนูกู้ในระบบไม่ผ่าน เลยตัดสินใจกู้นอกระบบ เพราะต้องหาเงินมาขายของ จ่ายค่าเช่าบ้านด้วย ค่าเรียนลูกด้วย” จิราภรณ์เล่าถึงสาเหตุ

“กลัวมากว่าเขาจะทำร้ายเราไหม กลัวว่าเขาจะทำอะไรลูกสาว กลัวสารพัด อยู่แบบนี้ไม่ได้จริง ๆ ไม่ได้อยากเป็นหนี้เลย” จิราภรณ์ให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำตานองหน้า

เอกภพกล่าวว่า พ่อค้าแม่ค้า คนหาเช้ากินค่ำ เป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพราะคนเหล่านี้เป็นแรงงานนอกระบบ ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ เขาจึงได้จัดให้มีทีมเจรจาประนอมหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากหนี้นอกระบบ ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ที่มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง

เอกภพเสนอแนะว่า รัฐบาลควรมีนโยบายให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย ควรมีกองทุนให้กู้ฉุกเฉินในทุกอำเภอ ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้

“แหล่งทุนมันต้องลงไปทุกพื้นที่ในวงกว้าง เข้าถึงได้ง่าย อนุมัติไว ในอัตราดอกเบี้ยปกติ” เอกภพบอก

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง