ปานปรีย์บินหารืออียิปต์-กาตาร์ ประสานปล่อยตัวประกันไทย
2023.10.31
กรุงเทพฯ
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางออกจากประเทศไทยในวันอังคารนี้ เพื่อไปหารือกับรัฐบาลกาตาร์ และอียิปต์ เรื่องการช่วยเหลือตัวประกันไทยอย่างน้อยกว่ายี่สิบคน ที่ถูกจับเป็นตัวประกันในสงครามอิสราเอล-ฮามาส
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานไทยคนละ 5 หมื่นบาท และพร้อมให้สินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำคนละไม่เกิน 1.5 แสนบาท เพื่อจูงใจให้แรงงานกลับจากอิสราเอล ขณะที่แรงงานบางส่วนขออยู่ทำงานต่อไป
“ความตั้งใจของไทยคือ อยากให้มีการปล่อยตัวประกันโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดี ขณะนี้ไม่มีใครทราบว่าตัวประกันทั้งหมดอยู่ที่บริเวณไหน อยู่ในประเทศใด และอยู่ในหรือนอกฉนวนกาซาหรือไม่ แต่ในส่วนของรัฐบาลไทยเราเปิดการเจรจาทุกช่องทางที่มีอยู่ที่จะสามารถประสานกับฮามาสได้ เพื่อขอให้เขาทำการปล่อยตัวประกันโดยเร็วที่สุด” นายปานปรีย์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังถูกมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ไปเจรจาเพื่อช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลโดยด่วน
กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า นายปานปรีย์ มีกำหนดเข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่กรุงโดฮา และพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่กรุงไคโร โดยก่อนการเดินทางไปได้มีการประสานหารือกันผ่านโทรศัพท์แล้วหลายครั้ง
“ท่านเดินทางไปกาตาร์และอียิปต์วันนี้ โดยรับทราบข้อมูลของทุกฝ่ายที่มีการให้ความอนุเคราะห์ให้การช่วยเหลือเจรจากับกลุ่มชนที่จับคนไทยเป็นตัวประกัน… เพื่อเป็นการลดความสับสน ท่านรองนายกฯ บินไปเจรจาเอง ไปอยู่ที่หน้างานเองก็จะช่วยเหลือได้มาก” ด้านนายเศรษฐา เปิดเผยหลังการประชุม ครม.
ในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 หรือวันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) อันถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว กลุ่มฮามาสได้ยิงจรวดเข้าใส่ชายแดนภาคใต้ของอิสราเอล ใช้กำลังภาคพื้นดินเข้าโจมตี และจับกุมตัวประกันทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติไว้เป็นตัวประกัน ทำให้อิสราเอลโจมตีตอบโต้ด้วยกำลังทงอากาศและทางบก มาถึงปัจจุบัน ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคน
กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ก่อนมีการสู้รบมีคนไทยในอิสราเอลประมาณ 3 หมื่นคน โดยในนั้น 5 พันคนทำงานในพื้นที่ใกล้ฉนวนกาซา ณ ปัจจุบัน มีคนไทยเสียชีวิตจากการสู้รบ 32 คน บาดเจ็บ 19 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 22 คน
ในวันอังคารนี้ กระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า มีคนไทยกลับจากอิสราเอลแล้วเกือบ 8,000 คน จากผู้ลงทะเบียนขอเดินทางกลับประเทศ คงเหลืออีกประมาณ 22,000 คน
“ความอันตรายยังมีอยู่มาก เรายังยืนยันว่าเราอยากให้พี่น้องคนไทยกลับมา ต้องมีมาตรการเชิงรุกว่าพี่น้องคนไทยไม่กลับมาเพราะเรื่องการเงิน เรามีมาตรการหลัก 2 เรื่อง 1. แรงงานที่กลับมาแล้ว ที่กลับมา และจะกลับมาในอนาคต จะได้เงินชดเชยคนละ 5 หมื่นบาท แล้วก็จะได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะเวลายาว คนละไม่เกิน 1.5 แสนบาท” นายเศรษฐา ระบุถึงมาตรการจูงใจแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล
จากรายงานข่าวระบุว่า มีประชาชนกว่า 6 แสนคนต้องอพยพจากบ้านเพื่อหนีภัยสงคราม องค์กรด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่า มีคนกว่า 117,000 คน ต้องหลับภัยในโรงพยาบาลทางตอนเหนือของอิสราเอล กลุ่มฮามาสระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอลกว่า 8.3 พันคน ขณะที่อิสราเอล ระบุว่า มีคนเสียชีวิตกว่า 1.4 พันคนจากการโจมตีของฮามาส และมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกันอีก 229 คน
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า กองกำลังป้องกันประเทศของอิสราเอลที่เตรียมการตอบโต้ทางภาคพื้นดินปฏิเสธการเจรจาหยุดยิงกับฝ่ายฮามาส และสามาถช่วยเหลือตัวประกันได้หนึ่งรายในวันอังคารนี้
แรงงานไทยบางรายขอสู้ชีวิตต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีผู้ลงทะเบียนขอกลับบางส่วนตัดสินใจยกเลิกการกลับ เนื่องจากมีนายจ้างเสนอค่าตอบแทนให้อยู่ต่อ หรือไม่อยากกลับประเทศ เพราะจะทำให้ขาดรายได้และยังมีหนี้สิน
นายอนันต์ นวะสิมมา ชาวอุดรธานี อายุ 31 ปี ที่ปัจจุบัน ไปทำงานที่นิคมเกษตรกรรมอัลมากอร์ (Al magor) ในภาคเหนือของอิสราเอล เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนตัดสินใจที่จะอยู่ในประเทศอิสราเอลต่อเพราะที่ทำงานของเขายังปลอดภัย และมีภาระหนี้สิน-ครอบครัวต้องรับผิดชอบ
นายอนันต์ นวะสิมมา ชาวอุดรธานี ถ่ายรูปตนเองในสถานที่ทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอัลมากอร์ (Moshav Almagor) ในภาคเหนือของอิสราเอล วันที่ 31 ตุลาคม 2566
“ผมดูแลสวนมะม่วงกับลิ้นจี่อยู่อิสราเอลมา 2 ปี 5 เดือน ผมอยู่ต่อเพราะว่าสถานการณ์ตรงที่ผมอยู่ปกติดี ไม่เคยมีผลกระทบอะไรจากสงคราม เวลาเขายิงกันที่เลบานอน ก็ได้ยินเสียงบ้าง แต่มันห่างไปเป็น 100 กิโล ไม่เคยมีกระสุนหรือระเบิด ผมมีภาระเยอะ กู้เงินมาทำงานที่อิสราเอล คิดว่าอีก 1 ปีน่าจะผ่อนหมด ทุกวันนี้ ผมก็ได้ส่งกลับบ้าน 4-5 หมื่นบาท ช่วงนี้ใกล้หน้าเกี่ยวข้าวด้วย ที่บ้านต้องการเงิน” นายอนันต์ กล่าวผ่านโทรศัพท์
“พ่อ-แม่เขาก็เป็นห่วง เขาก็อยากให้กลับแหละ แต่ผมไม่มีผลกระทบอะไร ภาระเยอะ ก็เลยขอสู้ต่อที่นี่ แต่ก็ต้องโทรหาเขาเช้า กลางวัน เย็น เขาจะได้สบายใจไม่เป็นห่วงมาก ก่อนหน้านี้ ผมขอนายจ้างกลับไปพัก นายจ้างเขาก็จองตั๋วให้ผมกลับเดือนพฤศจิกายน แต่พอมีสงคราม แล้วผมยังไม่แน่ใจว่า กลับไปแล้วรัฐบาลไทยจะให้เรากลับมาหรือเปล่า ก็เลยบอกนายจ้างขออยู่ต่อ ยกเลิกตั๋วไปก่อน แล้วถ้าจบสงครามผมค่อยกลับ” นายอนันต์ ระบุ
ด้าน นายจักร (สงวนนามสกุล) เปิดเผยว่า มีแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปอิสราเอลกว่า 100 คน ที่ถูกยกเลิกเที่ยวบินด้วยปัญหาการสู้รบ ทำให้ต้องเป็นหนี้เนื่องจากกู้เงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการไปทำงาน แต่ไม่ได้ไปจริง
“ผมสมัครไปทำงานที่อิสราเอล ตอนนี้เดือดร้อนมาก เพราะคล้ายว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือแต่คนที่ลี้ภัยสงคราม และดูเหมือนว่าลืมไปแล้วว่าคนที่ถูกเลื่อนคิวบินก็ลำบากมากเช่นกัน เพราะต้องมาตกงาน และมีหลายคนที่ไปกู้หนี้นอกระบบมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าอุปกรณ์ทำงานต้องมาถูกยกเลิกเพราะภาวะสงคราม อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือพวกผมหน่อยครับ” นายจักร ระบุในกลุ่มไลน์ช่วยเหลือแรงงาน
รัฐจัดงบประมาณชดเชย
กระทรวงแรงงาน ระบุว่าในปี 2565 รัฐบาลอิสราเอลให้โควต้าไทยส่งแรงงานไปทำงานได้ 6.5 พันคน โดยต้องมีค่าใช้จ่ายการเดินทาง และค่าสมาชิกกองทุนช่วยเหลือแรงงาน รวมเป็นเงิน 65,250 บาทต่อคน โดยแรงงานไทยจะได้ค่าแรงจากนายจ้างอิสราเอลประมาณเดือนละ 5-6 หมื่นบาท ไม่รวมค่าล่วงเวลา แรงงานบางคนมีรายได้เดือนละกว่า 1 แสนบาท หากทำงานล่วงเวลาในฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต
สำหรับการเยียวยา คนไทยที่กลับจากอิสราเอล นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า สำหรับคนไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลด้วยตัวเอง สามารถขอรับการชดเชยค่าเดินทางได้กับกระทรวงแรงงาน โดยให้นำ 1. บอร์ดดิ้งพาส หรือ ตั๋วเครื่องบิน/ใบเสร็จรับเงิน หรือ เอกสารการจ่ายเงิน 2. สำเนาบัตรประชาชน 3. สำเนาหนังสือเดินทาง/เอกสารเดินทาง และ 4. สำเนาสมุดบัญชีธนาคารผู้รับบริการ ไปยื่นเรื่องที่ กระทรวงแรงงาน หรือสำนักงานแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ในช่วงค่ำของวันอังคารจะมีร่างของแรงงานไทย 10 คน ที่เสียชีวิตจากการสู้รบในอิสราเอลถูกส่งกลับมา ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 และ 26 ตุลาคม กระทรวงฯ ได้ส่งร่างแรงงานกลับมาแล้วรวม 15 คนเบื้องต้น ครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอิสราเอล 40,000 บาท ภรรยาจะได้รับเงินเดือนละ 40,000 บาทจนกว่าจะสมรสใหม่ และบุตรจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000-12,000 บาทจนกว่าจะอายุครบ 18 ปี
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน