นายกฯ ยัน ขึ้นค่าแรง 400 บาทภายในปีนี้ แต่ไม่ทัน 1 ต.ค. ตามที่เคยประกาศ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.09.24
กรุงเทพฯ
นายกฯ ยัน ขึ้นค่าแรง 400 บาทภายในปีนี้ แต่ไม่ทัน 1 ต.ค. ตามที่เคยประกาศ คนงานประกอบลูกเปตองที่โรงงานอุปกรณ์กีฬา ของบริษัทโรงงานฟุตบอลล์ไทยสปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด (FBT) ในกรุงเทพฯ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566
เอเอฟพี

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยัน รัฐบาลต้องการผลักดันนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ให้สำเร็จภายในปี 2567 นี้ แม้ล่าสุด แผนที่จะขึ้นค่าแรงพร้อมกันทั่วประเทศตุลาคมนี้ไม่สำเร็จ ด้าน นายพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานชี้ว่า สาเหตุที่ไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้ตามแผนเดิม เพราะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) มาประชุมไม่ครบ

“นโยบายของรัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องการขึ้นค่าแรง แต่ว่าก็ต้องอาศัยทั้งไตรภาคีว่าให้ความคิดเห็นยังไง จริง ๆ เราก็พยายามนัดหมาย แล้วก็เร่งให้ดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด ก็จะได้พูดคุยกัน นโยบายเรื่องนี้ยืนยัน และต้องขอผลักดันเรื่องนี้ คิดว่าทั้งสามภาคส่วนก็ต้องคุยกันเพิ่ม และเรื่องของกฎหมาย จริง ๆ อยากให้เร็วที่สุด มีความตั้งใจว่าเป็นปีนี้” น.ส. แพทองธาร กล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล 

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละปี คือ คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐ (ไตรภาคี) โดยพิจารณาการขึ้นค่าจ้างจากปัจจัย ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ GDP และอื่น ๆ

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการค่าจ้าง มีมติปลายปี 2566 ให้ขึ้นค่าจ้าง 2-16 บาท ในเดือนมกราคม 2567 ต่อมาในเดือนเมษายน 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ใน 10 จังหวัด ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ ชลบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา ภูเก็ต ระยอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี 

กระทั่ง เดือนพฤษภาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า 1 ตุลาคม 2567 จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเท่ากัน 400 บาท อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า แผนการดังกล่าวต้องชะลอไว้ก่อน

“เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่ พวกเราได้หารือกันไว้ เราก็ไม่สามารถที่จะประชุมได้ เพราะมีบางคน ไม่พร้อมที่จะมาประชุม เพราะฉะนั้นตัวผมเองก็ต้องขออภัยกับการที่เรายังไม่สามารถประกาศ หรือมีการประชุมในวันอังคารตามที่ได้ประกาศจากกระทรวงแรงงานออกไป... แต่ยังไง ๆ พวกเราก็ต้องเดินหน้า” นายพิพัฒน์ กล่าว

สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในปี 2555 รัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยขึ้นค่าแรงจาก 215 บาท เป็น 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ตามแนวทางการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ต่อมาเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารยึดอำนาจ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยปีละ 2.54 - 4.90 บาท

ต่อประเด็นการขึ้นค่าแรง ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้ว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้แผนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลไม่สำเร็จ 

“เป็นปกติที่นายจ้างจะหวังกำไรสูงสุด ฉะนั้นหากการขึ้นค่าแรงมันกระทบรายได้และกำไร ขณะที่เศรษฐกิจก็ถดถอย บวกกับรัฐบาลที่ไม่มีความชัดเจน ซึ่งกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน รัฐบาลเองก็ไม่ได้ประเมินสถานการณ์ภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องใช้แรงงานระดับล่างจำนวนมาก ๆ พอมาออกนโยบาย นายจ้างก็รับไม่ได้ จึงไม่แปลกที่การประชุมไตรภาคีจะล่ม และจะล่มต่อไปอีก” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าว

ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 28 - 54 บาทเท่านั้น กระทั่งในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอนโยบายว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีเป็น 400 บาทและทยอยขึ้นจนถึง 600 บาทต่อวันภายในปี 2570

“ตามหลักแล้วรัฐบาลต้องรับผิดชอบเพราะเป็นนโยบายรัฐบาล รัฐมนตรีต้องลาออกเพราะขับเคลื่อนนโยบายตามสัญญาไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา เช่น สั่งปลด สั่งย้ายปลัดกระทรวงที่นำนโยบายไปปฏิบัติล้มเหลว ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลก็ต้องสั่งให้ขับเคลื่อนให้ได้เพราะเป็นนโยบายที่เพื่อไทยหาเสียงไว้” ผศ.ดร. โอฬาร ระบุ

สำหรับประเด็นนี้ น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network - MWRN) เคยเปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ค่าแรงที่เหมาะสมสำหรับแรงงานควรมากกว่านี้

“การศึกษาตั้งแต่ปี 2560 พบว่า ค่าแรงที่เหมาะสมและสอดคล้องกับอนุสัญญาของ ILO คือ 712 บาท ต่อวัน เพราะจะทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงครอบครัว 3 คนได้ แต่ถ้ายังขึ้นได้ไม่ถึงขนาดนั้น ก็ควรเป็น 492 บาท สำหรับประทังคนเดียว ไม่ใช่แค่ 2-16 บาท จากที่เราทำสำรวจโรงงาน 20 กว่าโรงงาน แรงงานได้อยู่ 353 บาทต่อวัน สุดท้ายเขาอยู่ไม่ได้จริง ติดลบกันหมด” น.ส. สุธาสินี กล่าว 

ขณะที่ ฝ่ายนายจ้างชี้ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเวลานี้จะกระทบภาคธุรกิจ และอาจส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้มีจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น 

“ผลกระทบจะเกิดโดยต่อธุรกิจและซัพพลายเชน ถ้าบริษัทจ้างงานไม่ไหวจะมีคนตกงานจำนวนมาก มีการลดการขยายตัวทางธุรกิจ และการลงทุน นอกจากนี้ ผู้บริโภคต้องแบกรับการปรับขึ้นราคาสินค้าหรือบริการ เพราะต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น นอกจากนี้จะเกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มแน่นอน” นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง