ผู้ลี้ภัยซ่อนตัวในประเทศตนเอง จากกองทหารเผด็จการเมียนมา
2024.08.12
ชายแดนไทย-เมียนมา
ลูกปืน ระเบิด เปลวไฟ และความตาย วนเวียนเข้ามาเคาะประตูบ้านในแคมป์ผู้ลี้ภัยของ ลี (สงวนนามสกุลเพื่อความปลอดภัย) เกือบทุกวัน บางครั้งเขาอาจจะรู้ล่วงหน้า แต่หลายครั้งมันก็มาแบบไม่ได้แจ้ง มาหาแบบไม่ได้รับเชิญ
“เสียงระเบิดดังขึ้นใกล้ ๆ แคมป์ในกลางดึกคืนหนึ่ง พร้อมกับเสียงเครื่องบินรบ พ่อกับแม่รีบปลุกผมให้ตื่น แล้วเราทั้งหมดก็รีบวิ่งเข้าไปหลบในคูน้ำหน้าบ้าน พอสถานการณ์ปกติเราถึงขึ้นจากคูน้ำ เราเลยรู้ว่า ระเบิดตกใกล้ ๆ อาคารอเนกประสงค์ ทำให้ผนังอาคารเสียหายไปพอสมควร ที่เศร้ากว่านั้นคือ คืนนั้นมีคนตายด้วย” ลี เล่าเหตุการณ์ในความทรงจำให้ฟัง
ลี หนุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงแดง ในวัย 18 ปี กลายเป็นผู้ลี้ภัยในแคมป์แห่งหนึ่งของรัฐคะเรนนี หลังจากที่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ส่งผลให้ประชาชนชาวเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างลุกขึ้นต่อต้านจนกลายเป็นการสู้รบต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน
เขาเป็นหนึ่งในผู้พลัดถิ่นในประเทศ (Internally Displaced People - IDP) กว่าหนึ่งล้านคนบนแผ่นดินเมียนมา เขาต้องอาศัยอยู่ในบ้านไม้ไผ่ที่มุงด้วยหญ้าคาที่พ่อของเขาเป็นคนสร้างเอง ที่แคมป์ไม่มีน้ำประปาและไฟฟ้า
“ทุกเช้าเราต้องเดินเท้าไปอาบน้ำ และรองน้ำใช้ที่บ่อน้ำของแคมป์ พอถึงเย็นวันศุกร์ เราก็ต้องเดินเท้าประมาณ 4 ชั่วโมง ไปที่แคมป์อีกแห่งติดชายแดนไทย เพื่อชาร์จแบตเตอรี่อุปกรณ์ทุกอย่าง สำหรับกลับมาใช้ตลอดสัปดาห์” ลี อธิบายชีวิตที่ไม่ปกติสุขนัก
แคมป์ผู้ลี้ภัยแห่งนี้ (สงวนที่ตั้งเพื่อความปลอดภัย) เป็นที่ตั้งของบ้านผู้ลี้ภัยชั่วคราวกว่า 100 ชีวิต หลายสิบหลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมียนมา ไม่ห่างจากชายแดนไทย
มีคลีนิกหนึ่งแห่งที่รักษาคนตั้งแต่มีดบาด ฝากครรภ์ ไปจนถึงโดนระเบิด แม้จะไม่ได้ครบสมบูรณ์ในเรื่องของอุปโภค-บริโภค แต่ก็ยังมีโรงเรียนให้เด็กโต รวมถึงลี ได้เพิ่มเติมความรู้แบบที่พวกเขาควรจะได้รับ
โรงเรียนแห่งเดียวของแคมป์ตั้งอยู่บนเนินเขา มีอาคารไม้ไผ่มุงสังกะสีเป็นห้องเรียน คนสอนหนังสือนอกจากเป็นครูแล้ว ก็ยังมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกับนักเรียน
ครูของโรงเรียนได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 1,500 บาท อุปกรณ์การเรียนเกือบทั้งหมดเป็นของที่ได้รับการสนับสนุนมาจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนอกประเทศ
“ผมอยากเรียนมหาวิทยาลัย อยากให้มีประเทศที่ปลอดภัยต้อนรับผมกับครอบครัว ประเทศไหนสักประเทศที่พร้อมรับผู้ลี้ภัยอย่างเรา” ลี เล่าความฝันของตัวเอง
ไม่นานหลังจากที่เบนาร์นิวส์ได้พบกับลี ฝันของลีกลายเป็นจริง เมื่อเขาและครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ในประเทศใหม่ ลีกำลังจะมีโอกาสเรียนหนังสืออย่างที่เขาใฝ่ฝัน
บ้านที่พ่อของลีสร้างเอาไว้มีคนเข้ามาอยู่แทน เขาคนนั้นเป็นเด็กหนุ่มชาวกะเหรี่ยง จากรัฐคะเรนนีเหมือนกับลี แม่ของเขาเสียชีวิตจากสงครามภายในประเทศ ต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมีเพียงเสียงเพลงและกีต้าร์โปร่งเป็นเพื่อน
ชีวิตในแต่ละวันที่แคมป์แห่งนี้ของเขาจึงแทบไม่ต่างจากลี ตื่นเช้ามากินอาหาร เดินเท้าไปเรียน กลับมาทำอาหารเย็นกิน
เขาเองก็ฝันถึงชีวิตสงบสุขเหมือนกับลี ต่างเพียงแค่เขายังมองไม่เห็นว่า ความฝันหรืออนาคตของเขาอยู่ตรงไหน