ชาวเมียนมาอพยพเข้าไทยมากขึ้นท่ามกลางการสู้รบ-โควิดที่ระบาดหนัก

รายงานพิเศษสำหรับเบนาร์นิวส์
2022.06.17
ชาวเมียนมาอพยพเข้าไทยมากขึ้นท่ามกลางการสู้รบ-โควิดที่ระบาดหนัก กลุ่มแรงงานอพยพชาวเมียนมา 73 คน ถูกจับกุมใกล้หมู่บ้านบริเวณชายแดน ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 9 มิถุนายน 2565
เฟซบุ๊ก Migrant Times

แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่าจำนวนผู้อพยพชาวเมียนมาที่เดินทางเข้าไทยอย่างผิดกฎหมายเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะประชาชนชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ใกล้กับชายแดนไทยต้องการหลบหนีการสู้รบกับกองทัพพม่าและหลีกหนีการระบาดของโควิด-19

ข้อมูลจากมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Foundation for Education and Development - FED) ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทย ระบุว่าตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา ตำรวจไทยจับกุมผู้อพยพชาวเมียนมาเกือบ 20,000 คนที่พยายามข้ามพรมแดนเข้ามายังไทย โดยผู้อพยพจำนวนมากอยู่ในสภาพที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

มิน อู โฆษกของมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนากล่าวในแถลงการณ์ว่า ผู้อพยพบางคนถูกขบวนการค้ามนุษย์ทิ้งไว้ในถ้ำ หรือในป่าใกล้กับเขตชายแดน

“บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจะค้นหาพวกเขา หลังจากได้รับเบาะแสจากคนในพื้นที่ แล้วผู้อพยพก็พยายามหลบหนีในบางครั้ง” เขากล่าว

“ไม่กี่วันที่ผ่านมา รถที่ขนผู้อพยพชาวเมียนมาประสบอุบัติเหตุตกเหว มีผู้หญิงสองคนเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ขณะติดอยู่ในรถที่แออัด อยู่กลางป่า และยังมีการกราดยิงเกิดขึ้นกลางถนนอีกด้วย สถานการณ์เลวร้ายมาก” มิน อู กล่าว

มิน อู กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่กองทัพพม่าก่อการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน ผู้อพยพชาวเมียนมาที่ถูกตำรวจไทยจับกุมคุมขังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน หลายคนเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารและที่พักอาศัย ผู้อพยพส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ต้องหลบหนีออกจากบ้านในภูมิภาคซะไกง์ มาเกว และมัณฑะเลย์ รวมถึงในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐกะยา

ทิดา วิน ผู้อพยพชาวเมียนมาจากเมืองเยซะโจ ในภูมิภาคมาเกว กล่าวว่า ผู้อพยพคนอื่น ๆ พยายามข้ามมายังฝั่งไทยเพื่อหางานทำ หลังจากที่โรงงานหลายแห่งในเมียนมาปิดตัวลง เพราะการสู้รบและการระบาดของโควิด-19 ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลทหาร ทั้งนี้ ทิดา วิน ข้ามพรมแดนมาไทยเมื่อเดือนเมษายน และปัจจุบัน เธอทำงานอยู่ที่โรงงานสิ่งทอในประเทศไทย

“โรงงานส่วนใหญ่ในเมียนมาถูกปิดเพราะโควิด-19 และการรัฐประหาร ผลก็คือประชาชนจำนวนมากตกงาน แทนที่พวกเขาจะได้อยู่บ้าน กลับต้องมากู้หนี้ยืมสิน และข้ามมาหางานทำในฝั่งไทย” ทิดา กล่าว

“เพราะว่าเราอยู่ที่นี่อย่างผิดกฎหมาย เราไม่กล้าออกไปข้างนอก เว้นแต่จะออกไปทำงานแล้วกลับบ้าน ฉันส่งเงินทุกบาททุกสตางค์ที่หาได้กลับไปให้น้องสาวที่บ้าน ถ้าจ่ายหนี้หมดเมื่อไร ฉันจะเรียกให้น้องสาวและน้องชายมาทำงานที่นี่ด้วย เพราะในที่ที่พวกเขาอยู่มันไม่มีงานให้ทำ” ทิดา กล่าวต่อ

ออง โก วิน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากภูมิภาคซะไกง์ที่กำลังหางานทำในเมืองเล็ก ๆ ฝั่งชายแดนไทย กล่าวว่า ชาวเมียนมาต้องจ่ายเงินประมาณ 20,000-30,000 บาท (571.59-857.39 ดอลลาร์สหรัฐ) ถ้าพวกเขาอยากจะข้ามมาทำงานอย่างผิดกฎหมายในไทย

“เราเผชิญความยากลำบากจากการสู้รบในภูมิภาคซะไกง์ การทำมาหากินที่บ้านมันลำบาก ผมจึงทิ้งครอบครัวและข้ามมายังไทย และหลังจากที่ผมผ่านด่านตรวจคัดกรองหลายจุดระหว่างทาง ผมก็มาถึงที่นี่และพักอาศัยอยู่กับเพื่อน” เขากล่าว

“ผมไม่รู้จะไปหางานที่ไหน ผมต้องทำงานทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ทุกอย่างนี้ก็เพื่อครอบครัว” ออง โก วิน กล่าว

แหล่งข่าวระบุว่าผู้อพยพผิดกฎหมายชาวเมียนมาส่วนใหญ่ที่อยู่ในไทยทำงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการประมงหรือทำงานในโรงงาน บางส่วนทำงานเป็นแม่บ้าน หรือทำงานในภาคเกษตรกรรม โดยพวกเขาจะได้รับเงินค่าตอบแทนตั้งแต่ 10,000-15,000 บาทต่อเดือน แต่เนื่องจากเป็นการทำงานแบบผิดกฎหมาย ทำให้พวกเขาไม่มีประกันสังคมหรือไม่ได้รับสิทธิแรงงาน

นายอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่ของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) ในประเทศไทย ให้ความเห็นกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า เขาได้เรียกร้องประเด็นการคุมขังแรงงานอพยพกับรัฐบาลไทยแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทยที่ทำงานด้านแรงงานอพยพ กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า รัฐบาลไทยจะส่งแรงงานอพยพเหล่านั้นกลับประเทศ หลังจากที่พวกเขาถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย เมื่อวันพฤหัสบดีว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มนำเข้าแรงงานเมียนมาบางส่วนเข้ามา เพื่อตอบสนองความขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคประมง ซึ่งประเทศไทยมีความต้องการประมาณ 5 แสนคนจากผู้ประกอบการ

แนวทางในการจัดการแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เราก็จะเสนอเรื่องให้กับ ครม. พิจารณา เพื่อนำแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้ จดทะเบียนให้ถูกต้อง โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปลายเดือนนี้ หรือเดือนหน้า” นายไพโรจน์ กล่าว

ขณะเดียวกัน อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวต่อไปว่า แรงงานที่เดินทางเข้าประเทศไทยแบบผิดกฎหมายจะยังคงถูกคุมขัง และถูกส่งตัวกลับประเทศตามเส้นทางเดิมที่พวกเขาเดินทางเข้ามา และถึงแม้ว่ากฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของไทยจะกำหนดโทษแก่ผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายไว้ว่า อาจต้องโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่โดยปกติแล้ว ทางการไทยจะทำเพียงส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง

รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization - ILO) ในปี 2564 ระบุว่าประชาชนชาวเมียนมาประมาณ 1.6 ล้านคน อยู่ในสภาวะตกงานเพราะผลกระทบจากโควิด-19 และการรัฐประหาร และประชาชนอีกกว่า 25 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นจำนวนเกินครึ่งของประชากรเมียนมาทั้งประเทศ จะประสบปัญหาความอดอยาก ในช่วงสิ้นปี 2565

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และภิมุข รักขนาม ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง