คนไทย 41 ราย หนีจากเล้าก์ก่าย รอข้ามฝั่งกลับไทยจากเชียงตุง

ส่วนอีก 246 คน ยังรอการช่วยเหลืออยู่ในเมืองเล้าก์ก่าย
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.11.16
กรุงเทพฯ
คนไทย 41 ราย หนีจากเล้าก์ก่าย รอข้ามฝั่งกลับไทยจากเชียงตุง เหยื่อแรงงานไทยชาย 23 ราย ที่ได้รับการช่วยเหลือออกมา เดินทางมาใกล้ชายแดนไทยถึงจังหวัดเชียงตุง ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566
ภาพแจก กองทัพบก

เจ้าหน้าที่ไทยและเอ็นจีโอ กล่าวว่า เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ชาวไทย 41 คน ที่หลบหนีออกมาจากเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา เดินทางมาถึงจังหวัดเชียงตุง ประเทศเมียนมาแล้ว ในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อรอข้ามพรมแดนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ส่วนคนไทยอีกชุดหนึ่งจำนวนกว่าสองร้อยคนติดอยู่ในเมืองเล้าก์ก่าย ที่ยังมีการสู้รบของฝ่ายทหารเมียนมาและกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

เจ้าหน้าที่องค์กรเอ็นจีโอที่มีส่วนในการช่วยเหลือเหยื่อ กล่าวว่า คนไทย 41 รายนี้ ถูกขบวนการจีนสีเทาหลอกไปทำงานผิดกฎหมายในเมียนมา แต่ได้หลบหนีออกจากเมืองเล้าก์ก่ายไปได้ และได้รับการช่วยเหลือจากทหารรัฐว้า แต่จนกระทั่งค่ำวันนี้ ทหารเมียนมายังไม่อนุญาตให้ทั้งหมดข้ามพรมแดนกลับมา

“คนไทยทั้ง 41 คน มีกำลังใจดี และทุกคนปลอดภัย มีจิตใจเข้มแข็ง พร้อมทั้งรอความหวังว่าจะได้กลับประเทศไทย ทั้งนี้การที่เจ้าหน้าที่เมียนมานำ 3 คนไทยไปสอบถามข้อมูลนั้น น่าจะเป็นเพียงการตรวจสอบในเบื้องต้นว่าตรงกับข้อมูลที่ทางการได้รับมาหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่ยังไม่ให้เดินทางกลับ” นายจารุวัฒน์ จิณห์มรรคา รองประธานกรรมการมูลนิธิอิมมานูเอล กล่าวกับผู้สื่อข่าว ระหว่างการเดินทางไปรับตัวคนไทยชุดแรก

สำหรับคนไทยชุดนี้ เป็นคนละชุดกับที่ทางการไทยรายงานว่าทางการทหารเมียนมาได้ช่วยเหลือไปก่อนหน้านี้ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีอยู่จำนวน 246 คน ซึ่งชุดนั้นยังไม่สามารถเดินทางออกมาจากเมืองเล้าก์ก่าย ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มโกก้าง ใกล้พรมเดนจีนได้

ผู้ได้รับการช่วยเหลือทั้ง 41 คนนี้ แบ่งเป็นผู้ชาย 23 คน และผู้หญิง 18 คน ได้ถูกนำตัวไปที่เมืองยางในช่วงเย็นของวันพุธ ก่อนที่จะส่งต่อมายังเมืองท่าขี้เหล็ก จังหวัดเชียงตุง เพื่อข้ามกลับประเทศผ่านด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก  

พ.อ. ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง (ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตาก) ในฐานะคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย–เมียนมาฝ่ายไทย (Township Border Committee - TBC) เป็นตัวแทนรอรับตัวคนทั้งหมด และส่งตัวผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือไปยัง รพ.ค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย เพื่อดำเนินกรรมวิธีของตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แล้วจึงให้พบญาติที่มารอรับ

“การช่วยเหลือคนไทยทั้ง 41 คน ได้มีการดำเนินการตั้งแต่ระดับรัฐบาล กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงมูลนิธิเอ็มมานูเอล และทางกองทัพบกได้ใช้ความสัมพันธ์ระดับผู้บังคับบัญชากับประเทศเมียนมา ทำให้ทราบว่าทั้ง 41 คน มาจากเมืองหนานเจิ้น โดยอยู่ในความดูแลของทหารว้า เบื้องต้นตอนนี้มีคนไทยที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 41 คน แต่ยังคงเหลืออีก 246 คน ซึ่งได้เร่งประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การช่วยเหลือ” พ.อ. ณฑี กล่าว

ด้าน นายจารุวัฒน์ กล่าวอีกว่า การล่อลวงคนไทยไปทำงานกับขบวนการจีนสีเทาในเมียนมา มีทั้งการให้คนรู้จักชักชวนเป็นการส่วนตัวและการติดต่อผ่านอินเตอร์เน็ตจากขบวนการเอง

“การช่วยเหลือเกิดจาก มีน้อง 7 คนเขาแจ้งมาว่าถูกเพื่อนหลอกไปทำงานในเล้าก์ก่าย โดยบอกว่าเข้ามาทำงานสิ เงินดี 3 หมื่นกว่าบาท งานตอบแชท งานแอดมิน เขาก็เลยหลงเชื่อกัน พอตกลงไปบริษัทที่เป็นคนจีนก็ส่งเงินมาให้ซื้อตั๋ว ทำพาสปอร์ตให้ นอกจากถูกเพื่อนชักชวนก็มีการทักแชทในเฟซบุ๊กส่วนตัว” นายจารุวัฒน์ กล่าว

“พอไปถึงเขาก็มีการสอนให้ต้มตุ๋น เด็กก็ไม่อยากทำ ใครไม่ทำถูกทำร้ายร่างกาย เขามีวิธีให้กลับบ้านคือ จ่าย 2.5 แสนบาท หรือหาตัวตายตัวแทน 4 คน แต่พอหลอกเพื่อนได้สำเร็จ เขาก็ไม่ได้กลับ พอดี 41 คน นี่เขาหนีแล้วไปเจอทางว้าพอดี” นายจารุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า สำหรับคนไทย 41 คนนั้น เจ้าหน้าที่ได้เตรียมที่พักไว้แล้ว ส่วนอีกกว่าสองร้อยคนที่เหลือนั้น ได้พยายามประสานงานรัฐบาลจีนเพื่อช่วยเหลือคนไทยส่วนที่เหลือออกมาเช่นกัน  

“เมื่อเช้าผมโทรไปที่ปักกิ่ง เพื่อขอให้หน่วยงานความมั่นคงสาธารณสุขทางจีน เพื่อให้เขาเร่งรัดในการพูดคุยกับเมียนมาในการจะเปิดให้ทางคนไทยเข้าไปในพื้นที่ของคนจีน ส่วนคนไทยทั้งหมด 200 กว่าคนยังปลอดภัย” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์กล่าว

“คนที่ทำร้ายคนไทยคือคนจีนที่เป็นหัวหน้าคอลเซ็นเตอร์ ที่เอาคนไทยไปทำงานในคอลเซ็นเตอร์ เพราะฉะนั้นความร่วมมือผ่านแดนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ผมต้องอาศัยความร่วมมือแบบนี้” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์กล่าวเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ ในเดือนมิถุนายน และตุลาคม 2566 สถานเอกอัครราชทูตไทยในเมียนมา ได้ประกาศแจ้งเตือนให้คนไทยระมัดระวังจะถูกหลอกไปทำงานในประเทศเมียนมา ผ่านการประกาศหางานออนไลน์ ซึ่งจะมีการรับสมัครงานและให้เดินทางเข้าไปยังเมียนมาผ่านชายแดนฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งจะมีการล่อลวงว่าได้รายได้ 3-4 แสนบาท หากหลงเชื่อจะถูกขายต่อไปทำงานในเขตปกครองตนเอง และถูกบังคับขายบริการ บังคับให้เสพยา ถูกยึดหนังสือเดินทาง และเป็นหนี้

ในวันที่ 26 ตุลาคม 2566 นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลเมียนมาได้ช่วยเหลือคนไทย 141 คน จากขบวนการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตในเมืองเล้าก์ก่าย แต่ยังไม่สามารถส่งตัวกลับประเทศได้ เนื่องจากมีสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ล่าสุดได้อัพเดตตัวเลขคนไทยที่ตกค้างว่ามีจำนวน 246 คน ในเมืองเล้าก์ก่าย และกำลังรอกลับประเทศ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เคยแถลงข่าวจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ที่หลอกลวงผู้หญิงไทย 3 ราย ไปค้าประเวณีที่เมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา และในเดือนพฤศจิกายน 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชา ช่วยเหลือแรงงานไทยที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์ผิดกฎหมายในประเทศกัมพูชา โดยมีแรงงานหลายร้อยคนได้รับการช่วยเหลือกลับประเทศ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง