ชาวบ้านแม่สามแลบกว่า 400 คน อพยพหลังกะเหรี่ยงปะทะพม่า

รัฐบาลไทย พร้อมให้ความช่วยเหลือกะเหรี่ยง หากต้องหลบหนีภัยสู้รบอีก
คุณวุฒิ บุญฤกษ์
2021.04.27
เชียงใหม่
ชาวบ้านแม่สามแลบกว่า 400 คน อพยพหลังกะเหรี่ยงปะทะพม่า ชาวบ้านในบ้านแม่สามแลบเตรียมขึ้นรถกระบะ เพื่ออพยพออกจากพื้นที่เป็นการชั่วคราว หลังจากที่มีการปะทะกันระหว่างทหารกะเหรี่ยงและเมียนมา วันที่ 27 เมษายน 2564
มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

ในวันอังคารนี้ นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การปะทะระหว่างกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและทหารเมียนมา ทวีความรุนแรงขึ้น และทำให้มีชาวบ้านในบ้านสามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ส่วนชาวบ้านประมาณ 450 คน อพยพออกจากพื้นที่เป็นการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย

ด้านเอ็นจีโอเสนอแนะให้รัฐบาลไทยเร่งให้ช่วยเหลือและอพยพประชาชนที่เหลือซึ่งมีทั้งหมดกว่าพันคน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ออกจากแนวชายแดน

“วันนี้ 27 เมษา 64 ในเวลา 05.00 น. ได้มีกองกำลัง เคเอ็นยู สนธิกำลังร่วมกันกับกองพันเคเอ็นแอลเอ เข้าโจมตีฐานซอแลงท่าของทหารเมียนมา ซึ่งอยู่บริเวณตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ อำเภอเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน... มีพลเรือนในพื้นที่บ้านสามแลบได้รับผลกระทบ 1 ราย ชื่อนางเดมึ ซึ่งถือบัตรบุคคลซึ่งไม่มีฐานะทางทะเบียน… ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนเล็กจำนวนหนึ่งนัด ฝังบริเวณ หัวเข่าด้านซ้าย” นายสิธิชัย กล่าว

“มีราษฎรไทยในพื้นที่บ้านแม่สามแลบได้อพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย บ้านแม่กองกาด ตำบลสามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวนประมาณ 450 คน กรณี มีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา หลบหนีข้ามฝั่งมายังฝั่งไทย จะได้ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการ ดำเนินการนำผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาพักรอในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว… กรณีการสู้รบยาวนานและยืดเยื้อได้มีแผนแล้วในการเคลื่อนย้ายผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาเข้าไปพักรอในพื้นที่พักรอที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งจะอยู่จากชายแดนประมาณ 1 กิโลเมตร”​ นายสิธิชัย ระบุ

นอกจากนี้ ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีคำสั่งปิดจุดผ่อนปรนการค้าบ้านแม่สามแลบ และงดการเดินเรือในลำน้ำสาละวิน ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 64 เป็นต้นไป และห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่แล้ว เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

ด้าน นางรวี (สงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี ชาวตำบลแม่สามแลบ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 27 เมษายน ได้ยินเสียงปืนยิงปะทะกัน ในฝั่งรัฐกะเหรี่ยงเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง โดยทราบภายหลังว่า เป็นกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่เริ่มโจมตีฐานที่ตั้งชั่วคราวของทหารพม่า

“ได้ยินเสียงปืนอยู่เบา ๆ เพราะอยู่ไกลจากชายแดน แต่ยิงกันอยู่นานมากตั้งแต่เช้ามืด ตอนนี้ชาวบ้านแถวนี้ก็กลัวกันหมด วันนี้คงไม่กล้าออกจากบ้านกันแล้ว ตอนนี้ มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งเดินทางออกจากตำบลแม่สามแลบไปยังตำบลสบเมย เพราะกลัวว่าอาจมีการใช้อาวุธปืนที่บ่อยกว่านี้ และอาจจะต่อสู้กันรุนแรงมากขึ้น เช่น หากมีเครื่องบิน ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนี้ก็จะไม่ปลอดภัย” นางรวี กล่าว

ด้าน พ.อ.เกล โด่ โฆษกกองพลที่ 5 เคเอ็นยู ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การสู้รบ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Karen Information Center – KIC ว่าฝ่ายกะเหรี่ยงต้องปกป้องตนเอง

“เราปฏิบัติการในพื้นที่ของเราเพื่อปกป้องดินแดน เพื่อที่จะได้ปกครองตนเอง และสร้างสหพันธรัฐอย่างแท้จริง เคเอ็นยูได้เคยแจ้งขอให้กองทัพเมียนมาถอนกำลังออกไปจากพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงแล้ว แต่เมื่อขอดี ๆ ไม่ได้จึงจำเป็นที่ต้องไล่… การที่กองทัพพม่ายิงเรือของชาวบ้านในแม่น้ำสาละวิน พรมแดนไทย-พม่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทหารก็ต้องรบกับทหาร แต่ทหารพม่ากลับทำร้ายข่มขู่ชาวบ้าน เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เมื่อทหารพม่ารบกวนชาวบ้านที่สัญจรในแม่น้ำสาละวิน เราจึงมีหน้าที่ที่ต้องขับไล่ทหารพม่าออกไป” พ.อ.เกล โด่ กล่าว

การปะทะระหว่าง ทหารเมียนมา และกองกำลัง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันกองทัพเมียนมา โดยกองทัพเมียนมาได้ใช้เครื่องบินโจมตีทางอากาศไปที่บ้านเดปู่โน่ จังหวัดมื่อตรอ (ผาปัน) รัฐกะเหรี่ยง ทำให้มีปะทะกันต่อเนื่อง จนประชาชนชาวกะเหรี่ยง-เมียนมา เกือบ 3 พันคนหนีภัยการสู้รบข้ามมายังฝั่งไทยในห้วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทางการไทยได้พยายามผลักดันผู้หนีภัยกลุ่มนั้นกลับไปยังเขตแดนเมียนมาทั้งหมดแล้วในปัจจุบัน

โดยในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานว่า เรือไทยซึ่งแล่นอยู่ในแม่น้ำสาละวิน ถูกทหารเมียนมาใช้อาวุธปืนยิงอย่างน้อย 3 ครั้ง

การสู้รบรอบใหม่นี้ ทำให้เกรงกันว่าจะมีผู้หลบหนีภัยข้ามฝั่งเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งในเรื่องนี้ นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทางการไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

“หากเกิดกรณีผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา หลบหนีข้ามฝั่งมายังฝั่งไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการตามที่ได้เตรียมความพร้อมไว้ โดยจะดำเนินการนำผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา พักรอในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว (พื้นที่แรกรับ) ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของทางทหาร โดยจะมีการคัดกรองโควิด-19 ตามมาตรฐานทางสาธารณสุข และหากกรณีการสู้รบมีความรุนแรงและยืดเยื้อ ก็ได้มีการเตรียมแผนเคลื่อนย้ายผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา เข้าไปพักรอในพื้นที่พักรอที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งห่างจากชายแดน ประมาณ 1 กิโลเมตร โดยจะดูแลตามหลักมนุษยธรรม (อาหาร น้ำ และยารักษาโรค) และมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรการกุศลเอกชนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนช่วยเหลือต่อไป”

เอ็นจีโอเรียกร้อง รัฐบาลไทยช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามในเมียนมา

น.ส.มัจฉา พรอินทร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ได้รับแจ้งจากกลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้านแม่สามแลบที่ทำงานด้วยกันว่า สถานการณ์การสู้รบในเมียนมาสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในพื้นที่

“บรรยากาศในหมู่บ้านแม่สามแลบตอนนี้เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ชาวบ้านต้องการอพยพออกจากพื้นที่ โดยการรวมตัวเป็นจุดๆ เพื่อรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่มีรถ จึงไม่รู้ว่าจะไปอยู่ในที่ ๆ ปลอดภัยกว่าได้เมื่อไหร่ และจะไปอยู่ที่ไหน… อยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอำนาจในการบริหารสั่งการในภาวะฉุกเฉินจากภัยพิบัติสงคราม ให้เร่งดำเนินการอพยพชาวบ้านทั้งหมดออกมาอยู่ในที่ ๆ ปลอดภัยก่อน ซึ่งหมู่บ้านแม่สามแลบมีสมาชิกชุมชนอยู่มากกว่า 250 ครอบครัว หรือประมาณ 1,200 คน” น.ส.มัจฉา กล่าว

ด้าน น.ส.พรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เชื่อว่าการสู้รบในเมียนมาจะยังไม่ยุติลงในระยะเวลาอันสั้น

“สิ่งที่ต้องการเรียกร้องคือ รัฐบาลไทย ควรจัดหน่วยงานอื่นเช่น จังหวัด หรือมหาดไทย เข้ามาดูแลผู้อพยพ หากเขามีความจำเป็นที่จะต้องหนีข้ามมาอีก เพราะการให้ทหารพรานดูแลนั้น เป็นการผลักภาระการตัดสินใจผลักดันกลับหรือไม่ เป็นของทหารแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งที่ผ่านมาการผลักดันกลับ ขณะที่ยังมีการสู้รบ มีเครื่องบินทิ้งระเบิดอยู่ก็เป็นการขัดต่อหลักมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชน ควรให้หน่วยงานอื่นมาช่วยดูแล รวมถึงภาคประชาสังคมและเอกชน” น.ส.พรสุข กล่าว

“ปัจจุบัน ยังมีการโจมตีอยู่ สถานการณ์ไม่น่าจะจบลงง่าย ๆ โดยเฉพาะการโจมตีทางอากาศในช่วงกลางคืนเป็นเรื่องที่น่ากลัว ชาวบ้านจำนวนมากเลยยังคงอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามไทย เพราะไม่กล้ากลับไปยังหมู่บ้านของตัวเอง หลังจากที่ทางการไทยได้ผลักดันผู้อพยพกลุ่มสุดท้าย ซึ่งเป็นเด็ก ผู้หญิง คนท้อง และคนแก่กลับไปช่วงหลังสงกรานต์ แม้จะมีการคัดค้านการส่งกลับจากผู้นำชุมชนก็ตาม” น.ส.พรสุข กล่าวเพิ่มเติม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง