สหรัฐฯ รุกประธานอาเซียนให้ดันรัฐบาลทหารพม่า ทำตามฉันทามติที่ตกลงไว้

ไชลาจา นีลากันตัน และ รอนนา เนอร์มาลา
2021.05.03
วอชิงตัน และจาการ์ตา
สหรัฐฯ รุกประธานอาเซียนให้ดันรัฐบาลทหารพม่า ทำตามฉันทามติที่ตกลงไว้ นายแอนโทนี บลิงเกน (ซ้าย) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา พบกับนายเอรีวัน ยูซอฟ (ขวา) รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไน ในกรุงลอนดอน วันที่ 3 พฤษภาคม 2564
ภาพโดย @SecBlinken ผ่านทางทวิตเตอร์

สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้อาเซียนกดดันเมียนมา ให้ดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พบกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศบรูไน ประเทศที่เป็นประธานอาเซียนปีปัจจุบัน ในกรุงลอนดอนเมื่อวันจันทร์

รมว.ต่างประเทศทั้งสองได้พบปะพูดคุยกัน ท่ามกลางข่าวที่ว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังพยายามดึงสหรัฐฯ และจีนเข้าสู่การเจรจาเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยและยุติความรุนแรงในเมียนมา หลังจากกองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  ทั้งคู่ได้หารือกันถึงบทบาทของบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการแก้ไขวิกฤตในเมียนมา

ขณะที่นายแอนโทนี บลิงเกน และนายเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของบรูไน ได้พูดคุยกันนอกรอบของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G7) ในกรุงลอนดอน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง  

รัฐมนตรีฯ กล่าวขอบคุณนายเอรีวัน รัฐมนตรีต่างประเทศของบรูไน สำหรับผลงานของบรูไน ในฐานะประธานในเรื่องนี้ และผลักดันอาเซียนให้กดดันรัฐบาลทหารพม่าให้รับผิดชอบทำตามแผนฉันทามตินั้น” เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว และเพิ่มเติมด้วยว่า ทั้งคู่ “ยังหารือกันถึงบทบาทของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤตในเมียนมาด้วย”

ฉันทามติของอาเซียนเกี่ยวกับเมียนมาที่ได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 24 เมษายน กำลังล้มครืนอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาบอกเมื่อวันที่ 26 เมษายนว่า เขาจะทำตามข้อตกลงก็ต่อเมื่อหลังจากที่ประเทศมี "เสถียรภาพ" แล้วเท่านั้น เมื่อวันที่ 27 เมษายน รัฐบาลพลเรือนคู่ขนานกล่าวว่า จะไม่เข้าร่วมในการเจรจากับกองทัพ หากยังไม่มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง 

“ฉันทามติห้าข้อ” ของอาเซียนเกี่ยวกับเมียนมา เรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงทันที โดยให้ทุกฝ่ายใช้ “ความยับยั้งชั่งใจมากที่สุด” นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร กองทัพและกองกำลังความมั่นคงของเมียนมาได้สังหารคนไปแล้ว 570 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร ตามข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners: AAPP) ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐที่มีสำนักงานในประเทศไทย

ฉันทามติของอาเซียน ยังเรียกร้องให้มีการเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่าย การให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในระหว่างการเจรจา การจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านการประสานงานของอาเซียน และการเยือนเมียนมาโดยคณะผู้แทนอาเซียน เพื่อพบปะกับทุกฝ่าย

ฉันทามติดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ รวมทั้ง พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมการประชุมวาระพิเศษ ในกรุงจาการ์ตา ฉันทามติดังกล่าวไม่ได้พูดถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมทั้งนางอองซาน ซูจี 

สองวันหลังการประชุมสุดยอดดังกล่าว กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาได้ยิงชายคนหนึ่งเสียชีวิต ในเมืองมัณฑะเลย์

และเมื่อวันอาทิตย์ มีผู้เสียชีวิต 8 คน หลังจากกองกำลังความมั่นคงเมียนมายิงใส่ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารพม่า สำนักข่าวรอยเตอส์รายงาน

อาเซียนกำลังทำ งานชิ้นสำคัญมากเกี่ยวกับเมียนมา

ทั้งบรูไนและสมาชิกอาเซียนประเทศอื่น ๆ ต่างก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นแต่อย่างใดเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น หลังจากที่อาเซียนบรรลุฉันทามติดังกล่าว

แต่เมื่อวันจันทร์ จากแถลงการณ์สรุปการพบปะพูดคุยกันครั้งแรกระหว่าง นายแอนโทนี บลิงเกน และนายเอรีวัน ดูเหมือนว่าฝ่ายหลังเป็นผู้ขอพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ

“[ก่]อนอื่น ขอบคุณที่พบกับผม” รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนกล่าว ตามแถลงการณ์สรุปของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

นายแอนโทนี บลิงเกน กล่าวว่า เขาดีใจที่ได้พบปะกับนายเอรีวัน เนื่องจากความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และบรูไน แต่ยังเพราะบรูไนเป็นประธานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปีนี้ด้วย 

นายบลิงเกนยังกล่าวอีกว่า อาเซียนกำลังทำ “งานชิ้นสำคัญมาก” เกี่ยวกับเมียนมา  

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยังแสดง “การสนับสนุนอย่างมากต่อบทบาทที่ดีและสร้างสรรค์ของอาเซียน ในการอำนวยความสะดวกต่อการแก้ปัญหาอย่างสันติ เพื่อสนับสนุนชาวเมียนมา” เมื่อวันจันทร์ กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสมาชิกอาเซียน ยินดีที่ได้ยินแถลงการณ์นั้นของสหประชาชาติ

ในขณะเดียวกัน แหล่งข่าวในอาเซียนบอกแก่สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อาเซียนได้เริ่มเจรจาที่จะจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกับสหรัฐฯ และจีน เพื่อขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับความพยายามของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤตในเมียนมา 

การเตรียมการสำหรับการประชุมกับจีนมีความคืบหน้า ในขณะที่อาเซียนและสหรัฐฯ ยังคงกำลังหารือกันอยู่ถึงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการประชุมดังกล่าว รวมทั้งว่าจะจัดอย่างไร และผู้แทนของรัฐบาลทหารเมียนมาจะเข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่ สำนักข่าวนิกเกอิรายงาน

เมื่อวันจันทร์ เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อนายเตอกู ไฟซาสยาห์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เพื่อสอบถามว่ากำลังคิดที่จะจัดการประชุมดังกล่าวหรือไม่ แต่เขาบอกว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้

เบนาร์นิวส์ยังได้ติดต่อนายซิดฮาร์โต ซูร์โยดีปูโร อธิบดีกรมความร่วมมือกับอาเซียน และนายอาเด แพดโม ซาร์โวโน ผู้แทนถาวรของอินโดนีเซียประจำอาเซียน แต่ทั้งคู่ไม่ได้ตอบกลับทั้งทางโทรศัพท์ เอสเอ็มเอส และอีเมล  

หากมีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน สหรัฐฯ และจีนเกิดขึ้น สหรัฐฯ และจีนควรผลักดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาดำเนินการแก้ไขวิกฤตภายใต้กรอบของอาเซียน อีวาน ลักษมานา นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศในกรุงจาการ์ตา กล่าว

“ผมคิดว่า ถ้าจะให้ดีที่สุด บทบาทของสหรัฐฯ และจีนควรจะเป็นการกดดัน หรือใช้อิทธิพลอะไรก็ตามที่ [ทั้งสองประเทศ] มี เพื่อผลักดันให้ [เมียนมา] แก้ไขปัญหาภายในกรอบของอาเซียน ไม่ใช่แยกออกจากกรอบอาเซียน” อีวาน ลักษมานา กล่าวกับเบนาร์นิวส์เมื่อวันจันทร์

นายลักษมานา ได้เสริมว่า หากกรอบของอาเซียน “ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม” ก็ควรสำรวจทางเลือกอื่น ๆ

“แต่ ณ ตอนนี้ สิ่งที่ผมคิดว่าขาดหายไปจากการพูดคุยคือ จะทำอย่างไรจึงจะให้ประชาคมระหว่างประเทศ นั่นคือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วยในกรอบอาเซียน” อีวาน ลักษมานา กล่าว

เขายังกล่าวด้วยว่า อาเซียนอาจอยากให้จีนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขวิกฤตในเมียนมามากกว่าสหรัฐฯ เพราะจีนมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์อย่างมหาศาล ไม่เพียงแต่ในเมียนมา แต่ยังในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

เขากล่าวว่า แต่จีนอาจไม่ต้องการเป็นผู้นำความพยายามนี้

“จีนได้สร้างความสัมพันธ์กับ NUG แล้วด้วย” อีวาน ลักษมานา กล่าว

เขาหมายถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติในเมียนมา ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนคู่ขนานที่ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 16 เมษายน ไม่มีการเชิญผู้แทน NUG ให้เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดอาเซียน และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งและหลายกลุ่มในพม่าได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวของอาเซียน

ผมคิดว่าจีนก็กำลังตระหนักด้วยเช่นกันว่า จะไม่มีทางออกที่มีเสถียรภาพ หากปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่น ๆ นอกจากกองทัพ และแน่นอนว่า เราไม่ควรลืมด้วยว่ากองทัพเมียนมาก็ต่อต้านจีนอย่างสุด ๆ เช่นกัน” อีวาน ลักษมานา กล่าว

“เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเมื่อได้ทราบข้อกังวลบางอย่างเหล่านี้แล้ว จะเป็นการยากเช่นกันที่จะให้จีนเป็นผู้นำในความพยายามนี้”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง