กลุ่มติดอาวุธชายแดนเมียนมา เป็นศูนย์กลางเครือข่ายหลอกลวงระดับภูมิภาค

รายงานของกลุ่มสิทธิฯ ระบุชื่อธนาคาร องค์กร และนักการเมืองในประเทศไทยและมาเลเซีย
ทีมข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย และเบนาร์นิวส์
2024.06.13
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
กลุ่มติดอาวุธชายแดนเมียนมา เป็นศูนย์กลางเครือข่ายหลอกลวงระดับภูมิภาค ทหารไทยยืนรักษาการณ์ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วันที่ 13 เมษายน 2567
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/เอเอฟพี

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่งรายงานว่า กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยซึ่งจัดตั้งฐานปฏิบัติการอยู่บริเวณชายแดนเมียนมาติดกับไทย ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทางออนไลน์ การค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และอาชญากรรมอื่น ๆ อีกทั้งยังมีรายได้จากเครือข่ายธุรกิจที่ครอบคลุมทั่วเอเชีย

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในเมียนมา (Justice for Myanmar) ระบุรายละเอียดถึงกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (บีจีเอฟ) ซึ่งเป็นพันธมิตรรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจในประเทศไทย มาเลเซีย และที่อื่น ๆ และเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อหยุดยั้งกิจกรรมที่ผิดกฎหมายดังกล่าว

กลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ ก่อตั้งขึ้นโดยนักรบที่แยกตัวออกจากกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในช่วงทศวรรษ 2530 และได้เข้าร่วมกับรัฐบาลเผด็จการทหาร โดยต่อมาเมื่อปี 2552 กลุ่มดังกล่าวได้กลายเป็นหนึ่งในกองกำลังพิทักษ์ชายแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร

การควบคุมการข้ามพรมแดนทำให้กลุ่มสร้างรายได้มหาศาล พร้อมกับดึงดูดธุรกิจกาสิโนผิดกฎหมาย พนันออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่เขตปกครองตนเองของกลุ่ม โดยเฉพาะบริเวณชายแดนเมียนมาที่ติดกับจีนและไทย

ปฏิบัติการของกลุ่ม ซึ่งแก๊งต่าง ๆ มีการจัดตั้งทั่วทั้งภูมิภาคนั้น ดำเนินการผ่านผู้คนที่ถูกล่อลวงให้หลงเชื่อว่ามาทำงานถูกกฎหมาย แต่กลับถูกบังคับให้ต้องปลอมแปลงตัวตนทางออนไลน์ในรูปแบบการฉ้อโกงใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ "การเชือดหมู" (pig butchering) ด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อแล้วลวงให้ลงทุนแล้วเชิดเงินหนี 

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสรายงานเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 แก๊งต้มตุ๋นหลอกลวงเอาเงินจากนักลงทุนไปแล้วกว่า 75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ซอ จิต ทู ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยง “ได้สร้างเครือข่ายธุรกิจอาชญากรรมร่วมกับญาติและพรรคพวก… (กำกับดูแล) กาสิโนผิดกฎหมาย การพนันออนไลน์ และศูนย์กลางการหลอกลวงทางไซเบอร์ที่ดำเนินการโดยแรงงานที่ถูกค้ามนุษย์จากทั่วโลก ที่ถูกบังคับให้ทำความผิดทางอาญา ถูกทรมานและขู่กรรโชก”

“กองทัพเมียนมาได้รับเงินจากกลุ่มองค์กรอาชญากรรมของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงหรือบีจีเอฟเป็นการตอบแทน” กลุ่มสิทธิมนุษยชน ระบุในรายงาน

ทางเรดิโอฟรีเอเชียได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อเพื่อขอความเห็นหลายครั้ง แต่ ซอ จิต ทู ไม่รับสาย

ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิรวดีเมื่อไม่นานมานี้ ผู้พันทิน วิน เจ้าหน้าที่ของบีจีเอฟ กล่าวว่ากลุ่มของเขามีเพียง "ธุรกิจขนาดเล็ก" เท่านั้น และเขาไม่รู้เรื่องการหลอกลวงใด ๆ เขาบอกว่า กลุ่มมีการเช่าที่ดินเพื่อเปิดกาสิโนและตัวเขาเองไม่มีข้อมูลมากนักว่า กาสิโนทำอะไรได้บ้าง รู้แต่ว่ามีการใช้คอมพิวเตอร์จำนวนมาก นอกจากนี้ เขายังปฏิเสธว่าไม่มีการบังคับใช้แรงงาน โดยระบุว่ากลุ่มของเขาได้มีการตรวจสอบและไม่พบกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น

ทางเรดิโอฟรีเอเชีย ไม่สามารถติดต่อผู้พันทิน วิน เพื่อขอความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวได้

แต่ ยาดานาร์ หม่อง โฆษกกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในเมียนมา กล่าวว่า รัฐบาลและภาคธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาคปล่อยให้มีการดำเนินการหลอกลวงทางไซเบอร์ โดยไม่มีการดำเนินการเพื่อหยุดยั้งเงินที่ได้จากการหลอกลวงเหล่านี้

“องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติมีการจัดตั้งเครือข่ายในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา เพื่อสร้างรายได้จากการค้ามนุษย์ แรงงานทาส และการฉ้อโกงทรัพย์สินของเหยื่อที่ถูกหลอกลวงทั่วโลก” เธอกล่าวให้สัมภาษณ์กับเรดิโอฟรีเอเชีย

“โดยที่รัฐบาลประเทศดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการปราบปรามนักลงทุนที่มีสายสัมพันธ์ดีและมีรายได้จากอาชญากรรมเหล่านี้”

ธุรกิจไทย

ศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจของบีจีเอฟตั้งอยู่ที่ ชเวโก๊กโก ซึ่งมีอาคารปฏิบัติงานด้านคอมพิวเตอร์หลายหลัง ตั้งอยู้ริมแม่น้ำฝั่งเมียนมา ห่างจากเมืองแม่สอดไปทางเหนือประมาณ 32 กม.

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในเมียนมารายงานว่า กองกำลังรักษาชายแดน และนักธุรกิจชื่อ เสอ จื้อเจียง เริ่มก่อตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท หยา ไท่ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิ้ง กรุ๊ป จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ หยา ไท่ นิว ซิตี้ ที่ชเวโก๊กโก

เสอ จื้อเจียง เกิดที่ประเทศจีน ปัจจุบันมีสัญชาติเป็นพลเมืองกัมพูชา เขาเป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการพนันในประเทศเมียนมา กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เขาถูกจับกุมที่ประเทศไทยเมื่อปี 2565 และไม่สามารถติดต่อเพื่อขอความเห็นได้

ปี 2566 อังกฤษดำเนินการยึดทรัพย์สินของ เสอ จื้อเจียง ซอ จิต ทู และเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาชายแดนระดับสูงอีกคนหนึ่ง พ.อ. มิน มิน อู ฐานต้องสงสัยว่าเป็นกระทำการค้ามนุษย์ บังคับใช้แรงงาน และการละเมิดอื่น ๆ ทางเรดิโอฟรีเอเชียไม่สามารถติดต่อ มิน มิน อู เพื่อขอความเห็นได้

บริษัทหยา ไท่ กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงและมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยทางบริษัทระบุที่อยู่ภาษาไทยในฐานข้อมูลออนไลน์ตรงกับที่อยู่ของโรงแรมบิซโซเทล แบงค็อก โดยทางเรดิโอฟรีเอเชียได้ติดต่อทางโรงแรมเพื่อสอบถามข้อมูล แต่ทางโรงแรมไม่ตอบ

โดยมีสาขาคือ บริษัท เมียนมา ยาไต อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง กรุ๊ป จำกัด ที่เช่าร้านค้าในสนามบินแม่สอด

กรมท่าอากาศยานของไทยปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่าสนามบินแม่สอดได้รับเงินจากกลุ่มบริษัท เมียนมา ยาไต อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง กรุ๊ป จำกัด หรือกองกำลังรักษาชายแดนหรือไม่ เจ้าหน้าที่ที่ไม่ขอเอ่ยนามกล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่าทางกรมยืนยันไม่ได้ว่าทางกลุ่มหรือพรรคพวกมีร้านค้าที่สนามบินหรือไม่ สนามบินแม่สอดมีรายชื่อร้านค้าบนเผยแพร่บนเว็บไซต์

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในเมียนมา รายงานว่า บริษัทการเงินรายใหญ่ของไทยบางแห่งแสดงความสนใจเกี่ยวกับชเวโก๊กโก โดยเผยแพร่ภาพถ่ายของบุคคลที่ระบุว่าเป็นตัวแทนจากธนาคารของไทย 4 แห่ง ขณะเดินทางมาเยี่ยมเยือนชเวโก๊กโก เมื่อปี 2563 นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่าพรรคพวกชาวไทยของบีจีเอฟ ที่รายงานระบุว่าเป็นผู้โพสต์ภาพดังกล่าว กล่าวว่า การเยี่ยมเยือนครั้งนี้เป็นไปเพื่อ “สำรวจแหล่งเงินทุนสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ที่กำลังเติบโต”

240613-mn-my-th-regional-scam-network2.jpeg
ภาพนี้ปรากฏในรายงานของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในเมียนมา (Justice for Myanmar) โดยเป็นภาพของตัวแทนธนาคารไทย ถ่ายที่ชเวโก๊กโก เมื่อปี 2563 (ภาพโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในเมียนมา)

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในเมียนมาระบุในรายงาน ไม่สามารถยืนยันได้ว่าธนาคารไทยได้มีการทำข้อตกลงใด ๆ หรือไม่

ชายคนหนึ่งที่ถูกบังคับให้ทำงานที่เขาบอกว่าเป็นปฏิบัติการหลอกลวงในเขตปกครองพิเศษแห่งนี้ กล่าวว่า ครอบครัวของเขาต้องจ่ายเงินเพื่อไถ่ตัวเขาออกมา ชายชาวจีนวัย 28 ปี ที่ขอให้ระบุชื่อ นีโอ หลู กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่าเขาถูกหลอกให้มาทำงานที่บริเวณดังกล่าวเมื่อเดือนมิถุนายน 2565

หลังจากที่หลู่ได้รับการปล่อยตัวโดยการประสานของคนจีนไม่ทราบชื่อ สมาชิกบีจีเอฟตกลงที่จะพาเขาข้ามพรมแดน โดยต้องจ่ายเงินค่าพาลักลอบหลบหนี โดยข้อความที่ทางเรดิโอฟรีเอเชียเห็นนั้น ลูขอให้พ่อแม่ชำระเงินจำนวน 15,000 บาท ผ่านธนาคารกสิกรไทย ไปยังบัญชีตามที่บีจีเอฟระบุ ซึ่งเป็นบัญชีของ “ภรรยานายวิน”

ทางเรดิโอฟรีเอเชียติดต่อเพื่อขอความเห็น แต่ธนาคารกสิกรไทยไม่ตอบ

ความสัมพันธ์กับมาเลเซีย

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในเมียนมารายงานว่า นักลงทุนรายใหญ่ในอาคารที่ลูถูกบังคับให้ทำงานชื่อ ตงเหมย พาร์ค ซึ่งตั้อยู่ทางตอนใต้ของเมืองเมียวดี เป็นอดีตหัวหน้ากลุ่มอาชญากรจีนที่ถูกทางการสหรัฐฯ ดำเนินการยึดทรัพย์สิน ชื่อ หวัน ค็อกคอย หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม ฟันหลอ หยิน กูจู และเป็นที่ต้องการตัวของตำรวจมาเลเซีย 

กลุ่มกล่าวว่า หวัน ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าแก๊งอาชญากรรม 14K Triad ก่อตั้งตงเหมย พาร์คขึ้นมา โดยได้รับความร่วมมือจาก “พลเมืองมาเลเซียที่มีความเชื่อมโยงกันเป็นอย่างดี” บุคคลดังกล่าวมีทั้งนักการเมืองจากพรรครัฐบาลมาเลเซียที่ปกครองประเทศมานานหลายทศวรรษ คือ องค์การมลายูรวมแห่งชาติ มาชิตาห์ อิบราฮิม และสามีของเธอ อับดุล ชากอร์ อาบู บาการ์ นอกเหนือจากบุคคลอีกสองคนชื่อ ศรี เหลียง คี ฮวต และ ยง มุน ฮง โดยเมื่อปี 2563 สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการยึดทรัพย์สินของ หวัน และ ตงเหมย พาร์ค ซึ่งทางกลุ่มระบุว่าเป็นอีกชื่อหนึ่งของบริษัท ตงเหมย อินเวสท์เมนท์ กรุ๊ป จำกัด

มาชิตาห์ อิบราฮิม และ อับดุล ชากอร์ ขณะพบกับโมฮัมหมัด ฮาซัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านของรัฐเนกรีเซมบีลัน ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ (เฟซบุ๊กของมาชิตาห์ อิบราฮิม)

มาชิตาห์ ซึ่งยังคงมีบทบาททางการเมืองร่วมกับองค์การมลายูรวมแห่งชาติ โดยเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2551-2556

เบนาร์นิวส์ สำนักข่าวออนไลน์ร่วมเครือเรดิโอฟรีเอเชีย ได้โทรหามาชิตาห์ เพื่อขอความเห็นทางเบอร์โทรศัพท์มือถือของเธอ และส่งข้อความหาเธอหลายครั้ง คำตอบเดียวที่ได้รับจากเธอคือ “ไม่สนใจให้ความเห็น”

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในเมียนมา กล่าวว่า มาชิตาห์ได้โพสต์บนหน้าบัญชีเฟซบุ๊ก ของเธอหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยเธอรู้จักมักคุ้นกับ “ฟันหลอ” และมีความเกี่ยวข้องกับโครงการตงเหมย พาร์ค

เบนาร์นิวส์ไม่พบข้อมูลสาธารณะเกี่ยวกับเหลียง คี ฮวต หรือหมายเลขโทรศัพท์ของ ยง มุน ฮง และหลังกดกริ่งเรียกหน้าประตูบ้านพักอาศัยในกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งมีชื่อของ มุน ฮง เป็นเจ้าของ ที่ใช้จดทะเบียนบริษัทของตงเหมย กรุ๊ป ในฮ่องกง แต่ไม่มีใครตอบรับ

ผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย ราซารูดิน ฮูเซน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไซฟุดดิน ไม่ตอบคำร้องขอความเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของนักลงทุนมาเลเซีย กับอดีตหัวหน้าแก๊งอาชญากรรม และกลุ่มติดอาวุธเมียนมา

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมในเมียนมาเรียกร้องให้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย

“เครือข่ายธุรกิจอาชญากรรมเครือข่ายนี้ถือว่าเป็นภัยคุกคามระดับโลก… สร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้างทั้งต่อชุมชนท้องถิ่น คนทำงานทั้งจากเมียนมาและทั่วโลกที่ถูกกักขังในสภาพเหมือนทาส และเหยื่อของการหลอกลวงทางไซเบอร์จากทุกหนทุกแห่ง” กลุ่มระบุในรายงาน

“หน่วยงานที่มีอำนาจในภูมิภาค โดยเฉพาะจีน ฮ่องกง กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ควรดำเนินการสอบสวนการมีส่วนร่วมของพลเมือง ผู้อยู่อาศัย และบริษัทในประเทศของตน ที่ก่ออาชญากรรม เอื้ออำนวย และมีรายได้จากอาชญากรรมข้ามชาติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเมียนมา และจะต้องดำเนินคดีกับพวกเขา” กลุ่มกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง