นักศึกษานอกระบบเมียนมา ต้องเผชิญปัญหาการยอมรับวุฒิการศึกษา

นักศึกษาที่จบนอกระบบภาคบังคับของทางการ ต้องเจออุปสรรคเมื่อเรียนต่อต่างประเทศ หรือแม้การทำงาน

เหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2564 ทำให้ประชาชนในประเทศเกิดความแตกแยก กองทัพและผู้ต่อต้านเผชิญความขัดแย้งอย่างรุนแรง และสร้างความแตกแยกในสังคมหลายด้าน รวมถึงด้านการศึกษา

นักศึกษาในมหาวิทยาลัย มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการปกครองของผู้นำทหารมาหลายชั่วอายุคน และในปี 2564 กลุ่มคนหนุ่มสาวต่างออกมาชุมนุมตามท้องถนนอีกครั้ง หลังจากที่ทหารโค่นล้มรัฐบาลที่นำโดย นางอองซาน ซูจี

โดยหลังจากที่ทหารปราบปรามการเคลื่อนไหวแบบอารยะขัดขืน กลุ่มเยาวชนจำนวนมากที่ไม่พอใจต่อการยึดอำนาจของทหารต่างปฏิเสธการศึกษาภายใต้การอุปถัมภ์ของกองทัพ และหันไปยังสถาบันอิสระ รวมถึงสถาบันที่ดำเนินการโดยรัฐบาลคู่ขนานในต่างประเทศที่เรียกว่า รัฐบาลคู่ขนานของเมียนมา หรือ NUG (National Unity Government)

รัฐบาลคู่ขนานของเมียนมาให้การสนับสนุนสถาบันอิสระจำนวนมากในเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหาร โดยสอนวิชาต่าง ๆ เช่น การพยาบาลและการแพทย์ การฝึกอบรมครูและเทคโนโลยีให้กับนักเรียนหลายพันคน นอกจากนี้รัฐบาลคู่ขนานของเมียนมายังเปิดสอนหลักสูตรออนไลน์อีกด้วย

นอกจากนี้ องค์กรทางสังคม ซึ่งมักจะเป็นองค์กรที่สนับสนุนประเด็นปัญหาของชนกลุ่มน้อย ได้จัดตั้งวิทยาลัยที่เป็นอิสระจากทั้งคณะรัฐประหารและรัฐบาลคู่ขนานของเมียนมา

แต่สถาบันการศึกษาเอกชนเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลทหารเมียนมา และเยาวชนที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเหล่านี้ ก็ไม่ได้รับใบรับรองคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเมื่อพวกเขาจะไปศึกษาต่อในต่างประเทศ อย่างเช่น ประเทศไทย

“เป็นเรื่องยากมากสำหรับพวกเขาที่จะเรียนในประเทศไทย” พันยา มอน อธิการบดีของวิทยาลัยแห่งชาติมอญ (Mon National College) ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมียนมากล่าว โดยอ้างถึงนักศึกษาบางคนที่เคยเรียนในวิทยาลัยที่อยู่ในสังกัดของรัฐบาลคู่ขนานของเมียนมา

“นั่นไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ แต่เป็นเพราะปัญหาจากการเมือง” เขากล่าว

เนื่องจากประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะรักษาความสัมพันธ์กับผู้ปกครองทางทหารของเมียนมา ประเทศไทยจึงไม่ยอมรับรัฐบาลคู่ขนานของเมียนมา และสถาบันการศึกษาของไทยมีหน้าที่ต้องทำงานร่วมกับสถาบันที่ได้รับการรับรองเท่านั้น ดังนั้นพวกเขาจึงมักจะปฏิเสธที่จะรับรองวุฒิการศึกษาที่ออกโดยวิทยาลัยอิสระของเมียนมา

“รัฐบาลไทยต้องตัดสินใจเลือกที่ยากลำบากมาก แม้ว่าพวกเขาจะอยากยอมรับนักศึกษาเหล่านั้น แต่บางครั้งมันก็ก็เป็นเรื่องการเมืองใช่ไหม หากคุณยอมรับนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาของรัฐบาลคู่ขนานของเมียนมา นั่นหมายความว่าคุณยอมรับรัฐบาลคู่ขนานของเมียนมา” พันยา มอน กล่าว

แต่ความเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้น

มหาวิทยาลัยพายัพของไทยได้ร่วมมือกับวิทยาลัยแห่งชาติมอญ เพื่อเสนอปริญญาตรีร่วมให้กับนักศึกษา ไมเคิล มีลเลม ผู้อำนวยการสำนักงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยพายัพกล่าว

“สิ่งที่เราทำแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ คือตอนนี้รัฐบาลไทยผ่อนปรนมากขึ้นเล็กน้อยในแง่ของการรับรองคุณวุฒิจากการเรียนที่เกิดขึ้นจากสถาบันการศึกษาก่อนหน้าได้” มีลเลมกล่าว

241212-th-myanmar-education2.jpg
ครูสอนในชั้นเรียนที่ วิทยาลัยแห่งชาติมอญ (Mon National College) ในเมืองเย รัฐมอญ ประเทศเมียนมา (จากยูทูบ - วิทยาลัยแห่งชาติมอญ)

กอง คัน (Kaung Khant) ตัวแทนนักศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ในเครือข่ายของรัฐบาลคู่ขนานของเมียนมากล่าวว่าเขารู้จักบุคคลหนึ่งที่ได้รับการตอบรับจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันทรงเกียรติของประเทศไทยด้วยเอกสารรับรองที่ออกโดยรัฐบาลคู่ขนานของเมียนมา แต่บุคคลดังกล่าวสำเร็จการศึกษาก่อนการรัฐประหาร เขายังไม่ได้รับปริญญาบัตร ดังนั้นเขาจึงต้องพึ่งใบรับรองที่ออกโดยรัฐบาลคู่ขนานของเมียนมาไปก่อน

“เขาอธิบายถึงสถานการณ์ปัจจุบันให้มหาวิทยาลัยทราบว่า เขาเรียนจบอย่างไร ถึงแม้ว่าเขาไม่ได้รับใบรับรองการสำเร็จการศึกษา แต่เขาก็ได้รับการตอบรับเข้าเรียน” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม คนอื่นอีกหลายคนยังคงประสบปัญหา

‘ปลอมและผิดกฎหมาย’

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ติดต่อเจ้าหน้าที่เมียนมา เพื่อตรวจสอบวุฒิการศึกษาที่มหาวิทยาลัยในเครือข่ายของรัฐบาลคู่ขนานของเมียนมาออกให้แก่นักศึกษา 2 ราย ที่สมัครเรียนที่นั่น และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทหารได้ทราบถึงการสมัครเรียนของพวกเขา

สำนักงานผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพกล่าวในแถลงการณ์ว่า วุฒิการศึกษาของนักศึกษาเป็นของปลอมและผิดกฎหมาย และใบสมัครของพวกเขาถูกปฏิเสธ

สำนักงานทหารกล่าวว่า นักศึกษา 2 คนนี้ “จะถูกขึ้นบัญชีดำ ระบุตัวตน และจับกุม” และบอกอีกว่า เจ้าหน้าที่รับรองเอกสารและนักแปลที่ช่วยพวกเขาในการสมัครถูกจับกุมแล้ว

รัฐบาลคู่ขนานของเมียนมากล่าวว่า ปริญญาของนักศึกษามีความถูกต้อง และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารที่พยายามขัดขวางการศึกษาของผู้ที่ปฏิเสธการปกครองของรัฐบาลทหาร

“พวกเขาพยายามทำลายอนาคตของคนหนุ่มสาวที่ไร้ทางสู้” จอ ซอ โฆษกสำนักประธานาธิบดี รัฐบาลคู่ขนานของเมียนมากล่าว พร้อมเสริมว่านักศึกษาเหล่านี้สามารถเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยของไทยได้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ตอบรับการขอสัมภาษณ์จากเรดิโอฟรีเอเชีย เพื่อขอความเห็น

นักศึกษาชาวเมียนมาที่เรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขอใช้นามแฝงว่า “ลินคอล์น” กล่าวว่า เหตุการณ์นี้อาจทำให้นักศึกษาบางราย จากสถาบันการศึกษาอิสระที่ต้องการไปเรียนต่อต่างประเทศเกิดความลังเล

“ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยถูกยกระดับขึ้น นักศึกษาจะกังวลเกี่ยวกับการสมัครปริญญาโทหรือปริญญาเอกในต่างประเทศด้วยวิธีนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์นี้อาจเกิดกับพวกเขาได้เช่นกัน” เขากล่าว พร้อมเสริมว่านักศึกษาควรเตรียมตัวให้พร้อมในการจัดการกระบวนการสมัครอย่างรอบคอบ

“ไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ทุกประเทศ ที่รับรู้ถึงสถานการณ์ของเรา” ลินคอล์นกล่าว โดยอ้างถึงความวุ่นวายในเมียนมาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564

“ดังนั้น ไม่ว่าพวกเขาจะยอมรับใบรับรองการศึกษา หรือเอกสารรับรองผลการเรียนของเราหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี”

เรดิโอฟรีเอเชีย (อาร์เอฟเอ) สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ รายงาน