รัฐบาลทหารเมียนมา สั่งแรงงานเมียนมาโอนเงินรายได้กลับประเทศ

หากฝ่าฝืน อาจถูกห้ามทำงานต่างประเทศ และเสียสิทธิทางกฎหมายในการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร
เคียนา ดันแคน สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.08.08
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
รัฐบาลทหารเมียนมา สั่งแรงงานเมียนมาโอนเงินรายได้กลับประเทศ ผู้อพยพประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ถือภาพของนาง อองซาน ซูจี ในระหว่างการจุดเทียนรำลึกที่วัดแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ วันที่ 28 มีนาคม 2564
จอร์จ ซิลวา/รอยเตอร์

แรงงานชาวเมียนมาในไทยหลายแสนคนจะต้องโอนเงินรายได้ส่วนหนึ่งให้รัฐบาลทหารเมียนมา หากฝ่าฝืนอาจถูกสั่งห้ามทำงานต่างประเทศ หลังกองทัพทหารเมียนมาออกกฎข้อบังคับใหม่ที่มุ่งจัดหาสกุลเงินต่างประเทศเข้าคลังและรักษาเสถียรภาพของกองทัพเมียนมา

เศรษฐกิจของเมียนมาอยู่ในภาวะวิกฤตนับตั้งแต่กองทัพทหารได้โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2564 โดยต้องเผชิญกับข้อท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างหนักสืบเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รวมถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการหยุดชะงักที่ส่งผลต่อการผลิตในประเทศ ทำให้ค่าเงินจ๊าตร่วงลง จากประมาณ 1,350 จ๊าตต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนการรัฐประหาร มาอยู่ที่ประมาณ 4,500 จ๊าตต่อดอลลาร์ ในขณะนี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วประเทศ

รัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งสู้รบกับกลุ่มกบฏและกลุ่มต่อต้านในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ได้ดำเนินมาตรการหลายด้าน รวมถึงการปราบปรามผู้ค้าทองคำและข้าวไม่ให้มีการขึ้นราคาสินค้าและควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อไม่ให้ชาวเมียนมาซื้อคอนโดที่พักอาศัยในต่างประเทศ

เพื่อเป็นการเพิ่มเงินสำรองระหว่างประเทศอีกด้าน รัฐบาลทหารออกประกาศเมื่อปลายปีที่แล้วว่าชาวเมียนมาที่อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทยจะต้องจ่ายภาษีเงินได้ของเมียนมา และได้เริ่มกดดันแรงงานชาวเมียนมาให้ส่งเงินที่หาได้กลับประเทศ

ขณะนี้ทางรัฐบาลทหารยิ่งต้องการให้มีการส่งเงินกลับเข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยคำสั่งที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม รัฐบาลทหารเมียนมา ระบุให้แรงงานชาวพม่าประมาณ 250,000 คน ที่ทำงานในประเทศไทยภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานที่ทั้งสองรัฐบาลเห็นชอบ จะต้องจ่ายเงินรายได้ 1 ใน 4 หรืออย่างน้อย 6,000 บาท ผ่านธนาคารและหน่วยงานที่รัฐบาลทหารเมียนมาเป็นเจ้าของ โดยจะต้องจ่ายภายในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนยื่นคำร้องขอต่ออายุใบอนุญาตเพื่อให้ทำงานและพำนักอาศัยในประเทศไทยได้

แรงงานเมียนมาจะต้องต่อใบอนุญาตดังกล่าว หลังครบวาระสัญญาจ้างทำงานในประเทศไทย 4 ปี โดยจะต้องดำเนินการ ณ สำนักงานที่เมืองเมียวดีหรือเกาะสองติดกับชายแดนประเทศไทย

กระทรวงแรงงานเมียนมาออกแถลงการณ์ว่า แรงงานชาวเมียนมาจะต้องแสดงหลักฐานการโอนเงินผ่านธนาคารที่ได้รับการรับรอง ซึ่งจะแปลงค่าเงินไทยเป็นเงินจ๊าตเมียนมาในอัตราที่ต่ำ

ทางเรดิโอฟรีเอเชียได้ติดต่อเพื่อขอความเห็นจากทางสถานทูตเมียนมา แต่ทางสถานทูตฯ ไม่ตอบรับคำร้องขอดังกล่าว

รับไม่ได้”

องค์กรด้านสิทธิแรงงานในตัวเมืองสมุทรสาคร ศูนย์กลางแรงงานชาวต่างชาติในอุตสาหกรรมการประมงของไทย กล่าวว่า มีแรงงานชาวเมียนมาหลายคนรู้สึกโกรธเคืองต่อคำสั่งดังกล่าว และได้ติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามในเรื่องนี้

ออง จอ โฆษกของมูลนิธิสิทธิแรงงาน กล่าวว่า “การบังคับให้โอนเงินเป็นสิ่งที่แรงงานชาวเมียนมารับไม่ได้ ถ้าไม่ทำตาม พวกเขาก็จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายและอยู่ในประเทศไทยไม่ได้”

ออง จอ กล่าวว่า ทางกลุ่มของเขาได้เขียนหนังสือถึงรัฐบาลไทยเพื่อขอให้มีการอนุญาตให้แรงงานชาวเมียนมาอยู่ในไทยต่อได้ ในกรณีที่พวกเขาไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลทหารเมียนมา เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่สนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมา ก็ได้ยื่นคำร้องขอในลักษณะเดียวกัน

แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทยหลายคนหลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลทหาร สืบเนื่องจากการประท้วงที่ปะทุขึ้นหลังรัฐประหารปี 2564 และจากร่างกฎหมายการเกณฑ์ทหารเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้

ออง จอ กล่าวว่า ชาวเมียนมาหลายคนกลับประเทศบ้านเกิดไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น โดยเขาหวังว่าประเทศไทยจะอนุญาตให้แรงงานชาวเมียนมาอยู่ในประเทศต่อได้

“หากเราเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อขออนุญาตให้แรงงานชาวเมียนมาทำงานในประเทศไทยได้ โดยใช้ใบอนุญาตทำงานเพียงใบเดียวที่รัฐบาลไทยออกให้ ก็จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ของแรงงานชาวเมียนมาหลายล้านคนที่อยู่ในไทยให้คลี่คลายลงได้เยอะ” เขากล่าว

ปัจจุบันแรงงานเมียนมาที่อยู่ในไทยมีประมาณ 2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดที่ทำงานในประเทศไทย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง