ภาพลำดับเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2022.06.22
กรุงเทพฯ
ภาพลำดับเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขณะทรงโบกพระหัตถ์ให้ประชาชน ในระหว่างการฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษา ในกรุงเทพฯ ภาพเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549
กรมประชาสัมพันธ์/เอพี

คณะราษฎร ที่ประกอบด้วยพลเรือนชั้นนำ ข้าราชการ ทหาร ได้ยึดพระราชอำนาจจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตอนย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการสิ้นสุดการปกครองในระบอบราชาธิปไตย หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีในดินแดนสยามประเทศ มานานเกือบ 8 ศตวรรษ  

จากนั้น ประเทศชาติล้มลุกกคลุกคลานจากการแทรกแซงของทหาร โดยมีการรัฐประหารสำเร็จ 13 ครั้ง และยังมีความพยายามทำรัฐประหารแต่ล้มเหลวจนกลายเป็นการกบฏ อีกกว่าสิบครั้ง ตามบันทึกของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญ

ในห้วงเวลาเดียวกันนี้ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือรัฐธรรมนูญถาวร ถึง 20 ฉบับ โดยส่วนใหญ่มาจากผลพวงของการรัฐประหาร ซึ่งคณะรัฐประหารมักจะต้องการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ให้ตรงตามความต้องการของตน

มีรัฐธรรมนูญเพียงสองฉบับเท่านั้น ที่ร่างขึ้นมาโดยรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้ง ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

ต่อไปนี้คือลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการปฏิวัติสยาม 2475 :

ธันวาคม 2475

2 dec 1932.jpg

ชาวบ้านหลายพันคนอยู่อาศัยและทำมาหากินบนเรือขนาดเล็กที่จอดอยู่เต็มลำคลอง ในกรุงเทพฯ ภาพเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2475 (เอพี)

ประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งโดยทางเทคนิกแล้ว ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง ถัดจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้หลังจากการปฏิวัติในเดือนมิถุนายน แต่คณะราษฎรกลับมีความแตกแยกในเรื่องต่าง ๆ เช่น เค้าโครงเศรษฐกิจ หรือ “สมุดปกเหลือง” ของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี มองว่าเป็นแนวทางของคอมมิวนิสต์ ฝ่ายพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงแก้ปัญหาด้วยการทำรัฐประหาร ในเพียงห้วงปีแรกหลังการปฏิวัติสยามเท่านั้น

ธันวาคม 2484  

3 dec 1941.jpg

พล.ต. ไรชิโร ซูมิตะ ผู้บัญชาการหน่วยตรวจการทหารของญี่ปุ่น ลงนามในข้อตกลงสงบศึกเพื่อยุติการทำสงครามชายแดนระหว่างฝรั่งเศส-อินโดจีน และประเทศไทย (เอพี)

กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในจังหวัดชายฝั่งภาคใต้ รวมทั้งประเทศอื่น ๆ บนคาบสมุทรมลายูที่อยู่ในเครือจักรภพ แม้นว่ากองทัพไทยจะต่อต้านได้บ้าง ก็เป็นเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ จึงต้องยอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และยอมให้ยาตราทัพไปยังพม่าเพื่อสู้รบกับอังกฤษ ในปีถัดไป ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

มิถุนายน 2489

4 jun 1946.jpg

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ฉลองวันประสูติของพระองค์ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อที่ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภาพเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 (เอพี)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สวรรคตด้วยต้องพระแสงปืนที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ในพระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง อย่างปริศนา ด้วยพระชนมายุเพียง 20 พรรษา จากนั้น รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ด้วยพระชนมายุ 18 พรรษา ด้านนายปรีดี พนมยงค์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามมาด้วยเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองในกาลต่อมา

พฤศจิกายน 2490

จอมพล ผิน ชุณหะวัณ หนึ่งในผู้สนับสนุนกลุ่มคณะราษฎร ร่วมมือกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำรัฐประหาร รัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งสุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวว่า การรัฐประหารครั้งนี้เป็นความถดถอยด้านประชาธิปไตยที่รุนแรง เพราะทำให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองที่เข้มข้มมากยิ่งขึ้น ขณะที่กลุ่มคณะราษฎรอ่อนแรงลง

มกราคม 2500

กลุ่มผู้มีอำนาจที่นิยมสถาบันพระมหากษัตริย์ พยายามฟื้นฟูสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์โดยคล้ายคลึงกับยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขณะที่คณะราษฎรเริ่มหมดอำนาจทางการเมือง มีการนำกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ไปผูกเข้ากับความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ เช่น การเป็นคอมมิวนิสต์ นำไปสู่ดำเนินการกำจัดและกวาดล้างศัตรูทางการเมือง

กันยายน 2500

5 sep 1957.jpg

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผบ.ทบ. ที่ยึดอำนาจการปกครอง นั่งอยู่ในรถและพูดคุยกับนักข่าว หลังออกจากทำเนียบรัฐบาล ภาพเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ที่กรุงเทพฯ (เอพี)

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองประเทศจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากที่กล่าวหาว่ามีการเลือกตั้งโดยไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม จากนั้นได้เป็นผู้ออกตั้งกฎอัยการศึก ทั้งยังเป็นที่ทราบกันว่าเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

พฤศจิกายน 2514

หลังการเลือกตั้งทั่วไป ในปี พ.ศ. 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้รัฐประหารรัฐบาลของตนเอง โดยอ้างว่าเพื่อต่อต้านภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ และและได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้น ซึ่งถูกมองว่าเพื่อตอบสนองความทะเยอทะยานของตนเอง ทำให้นักศึกษาเริ่มการประท้วง

14 ตุลาคม 2516

6 oct 1973.jpg

ทหารไทยสวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ ขณะสั่งนักเรียนที่กำลังประท้วงให้ออกห่างจากรถถัง ระหว่างการจลาจลครั้งใหญ่ ในกรุงเทพฯ ภาพเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2516 (เอพี)

การประท้วงของขบวนการนักศึกษาได้กลายเป็นรอยจารึกครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย โดยสามารถล้มรัฐบาล “สามทรราช” ที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ลงได้ โดยที่จอมพลถนอมต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ แม้ว่าจะต้องแลกด้วยชีวิตผู้ประท้วงอย่างน้อย 77 ราย แต่ได้ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีบทบาทในด้านการเมืองของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

6 ตุลาคม 2519

7 oct 1976.jpg

นักศึกษามอบตัวกับตำรวจสงครามพิเศษ เมื่อเจ้าหน้าที่เคลื่อนกำลังเข้ายึดพื้นที่ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ ภาพเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (เอพี)

เมื่อ จอมพล ถนอม กิตติขจร บวชเณรแล้วกลับมายังประเทศไทย กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายพันคนได้ประท้วง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นคอมมิวนิสต์ และใช้กำลังตำรวจตระเวณชายแดนเข้ากวาดล้างด้วยอาวุธสงคราม หน่วยกู้ภัยเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศ

เมษายน 2523

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งที่ 66/2523 นิรโทษกรรมให้คดีการเมืองทั้งหมด ทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น คอมมิวนิสต์ ออกจากป่ากลับสู่เมืองในนามผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

กุมภาพันธ์ 2534

8 feb 1991.jpg

กำลังทหารพร้อมอาวุธปืน เอ็ม-16 เฝ้ารักษาการณ์ที่ถนนด้านหน้ากองบัญชาการทหารสูงสุด ในกรุงเทพฯ หลังจากที่กองทัพเข้ายึดอำนาจ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 (เอเอฟพี)

พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก โดนคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งมี พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นแกนนำ ยึดอำนาจ

พฤษภาคม 2535

9 may 1992.jpg

ฝูงชนที่ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลนอนราบลงบนพื้นถนน ขณะกำลังทหารเปิดฉากยิงด้วยอาวุธอัตโนมัติ ภาพเมื่อวันที่  18 พฤษภาคม 1992 (เอเอฟพี)

ประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยโดยปราศจากอาวุธเกือบ 50 คน ต้องเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก จากการสลายการชุมนุมของทหาร กระทั่งในหลวง ร.9 รับสั่งให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพล.ต. จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ชุมนุมเข้าเฝ้า เพื่อยุติการนองเลือด เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกเรียกว่า “พฤษภาทมิฬ” จากนั้น ในปี 2540 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ซึ่งร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่จากการเลือกตั้ง

มกราคม 2544

นายทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจโทรคมนาคม หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่สามารถอยู่ครบวาระ ในปี 2548 นายทักษิณ ได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย หลังจากได้รับเสียงสนับสนุนถล่มทลาย

กันยายน 2549

พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัคร ขณะที่ร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ค สหรัฐฯ ท่ามกลางการเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้เอาทักษิณลงจากอำนาจ นายทักษิณ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลาเกือบ 1 ปีครึ่ง กระทั่งเดินทางกลับมายังประเทศไทยอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2551

มีนาคม-พฤษภาคม 2553

10 mar 2010.jpg

นักเคลื่อนไหวกลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุน อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ขณะเดินทางถึงสวนลุมพินี ในกรุงเทพฯ ภาพเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 (เอพี)

กลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นประชาชนรากหญ้าจากต่างจังหวัด และผู้สนับสนุนนายทักษิณ ได้ชุมนุมประท้วงที่สี่แยกราชประสงค์ และหลายจุดในกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ การชุมนุมยุติลงด้วยการเสียชีวิตของประชาชนกว่า 90 คน และบาดเจ็บหลายร้อยคน หลังจากที่รัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าสลายชุมนุมด้วยอาวุธสงคราม

พฤษภาคม 2557

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศยึดอำนาจรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเองในเดือนสิงหาคม 2557  ทั้งนี้ หลังรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ในปี 2554 พรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้ง และให้เลือก น.ส. ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นน้องสาวของนายทักษิณ เป็นหัวหน้ารัฐบาล

ตุลาคม 2559

11 oct 2016.jpg

ริ้วขบวนพระโกศทองใหญ่ ในพระราชพิธีพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ที่กรุงเทพฯ ภาพเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 (เอพี)

ในหลวง ร. 9 เสด็จสวรรคต ขณะมีพระชนมพรรษา 88 พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ (พระราชอิศริยยศขณะนั้น) พระราชโอรส ทรงขึ้นรับตำแหน่งในหลวง ร. 10

มีนาคม 2562

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ด้วยเสียงสนับสนุนของ ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งที่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้เสนอ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีที่นั่ง ส.ส. น้อยกว่าพรรคเพื่อไทยก็ตาม ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง