สว.-สส. เผยหลากความเห็น ก้าวไกลควรถูกยุบหรือไม่

รุจน์ ชื่นบาน
2024.08.05
กรุงเทพฯ
สว.-สส. เผยหลากความเห็น ก้าวไกลควรถูกยุบหรือไม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (กลาง) ถ่ายรูปร่วมกับบรรดา สส. พรรคก้าวไกล ในรัฐสภา กรุงเทพฯ วันที่ 13 กรกฎาคม 2566
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

คำถามที่ว่า พรรคก้าวไกลควรถูกยุบหรือไม่กำลังดังขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนถึงวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยว่า พรรคก้าวไกลต้องถูกยุบหรือไม่จากการใช้นโยบายยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 มาหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566 

คำตอบของคำถามดังกล่าวเองก็มีหลากหลาย ทั้งจากฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่เรียกร้องไม่ให้มีการยุบพรรคการเมือง แต่ขณะที่นักการเมืองบางกลุ่มก็ชี้ว่า พรรคก้าวไกลสมควรแล้วที่จะถูกยุบ เพราะได้กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม

คนของพรรคก้าวไกลในสภาได้ใช้สถานะความเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ พยายามจะแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นรั้วป้องกันสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความคิดริเริ่มแบบนี้หลายคนสงสัยว่าเป็นความคิดริเริ่มที่ถูกหรือผิด สร้างสรรค์หรือทำลายกับสถาบันฯนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับสื่อมวลชน

ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลได้นำนโยบายยกเลิกมาตรา 112 มาใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และได้รับคะแนนกว่า 14 ล้านเสียง ทำให้ก้าวไกลมี สส. มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง 151 คน จาก สส. ในสภาทั้งหมด 500 คน แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้รับวินิจฉัยคำร้องที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษ ร้องให้วินิจฉัยว่า การที่พรรคใช้ประเด็นยกเลิกมาตรา 112 มาหาเสียงเลือกตั้งเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่

ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การหาเสียงด้วยการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ห้ามไม่ให้รณรงค์ หรือแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวอีกในอนาคต ทำให้วันที่ 18 มีนาคม 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล จากกรณีที่เกิดขึ้น

ข้อโต้แย้งอำนาจศาล

ในการพิจารณาคดีนี้ แม้พรรคก้าวไกลจะพยายามร้องต่อศาลให้ทำการไต่สวนเพิ่มเติมเพื่อเปิดโอกาสให้พรรคนำพยานและหลักฐานมาชี้แจง แต่ศาลกลับไม่ดำเนินการ ในวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล จึงแถลงปิดคดีต่อสาธารณะโดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรคการเมือง

ในรัฐธรรมนูญ 2560 ต่างออกไปจากรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ คือ รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่มีบทบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัยยุบพรรคอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ในฉบับ 60 นี้ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้งเลยนายชัยธวัช กล่าว

ในแถลงปิดคดีของพรรคก้าวไกล ยังระบุว่า การยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลของ กกต. ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย พรรคการเมือง เนื่องจากการรวบรวมหลักฐานและข้อเท็จจริงของ กกต. ยังไม่สำเร็จ แต่กลับมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน

การปกป้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ไม่สามารถปกป้องด้วยการใช้กำลัง แต่ควรใช้วิธีเพื่อปรับสมดุล ตามยุคสมัยให้ระบอบนี้มีความยั่งยืน และได้รับการยอมรับจากประชาชน จึงเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มั่นใจในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ถูกยุบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลง

มาตรา 112 ระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 แต่เดิมมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี และถูกแก้ไขให้ระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี ในประมวลกฎหมายอาญาฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2519 

นอกจากการแถลงปิดคดีแล้ว สัปดาห์ก่อน นายพิธายังได้เดินทางไปพบกับ เอกอัครราชทูตและอุปทูตจากประเทศสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป, ฝรั่งเศส, เกาหลี, ญี่ปุ่น, แคนาดา, เนเธอร์แลนด์, สวีเดน และเยอรมัน ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเยอรมัน เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตประชาธิปไตย

ด้าน น.ส. รัชดา ธนาดิเรก อดีต สส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า ท่าทีของทูตฯ ต่อกรณีคดีของพรรคก้าวไกล อาจเป็นการเข้าข่ายการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

การแสดงออกของกลุ่มทูต ไม่ว่าจะเป็นท่าทีให้การสนับสนุน เห็นอกเห็นใจ รวมถึงการประกาศไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคก้าวไกล ถือเป็นเรื่องผิดมารยาทอย่างมาก ทั้งนี้ ขอให้คณะผู้แทนประเทศเหล่านั้นตระหนักไว้ว่า สิ่งที่ได้ทำไปไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อยอดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแต่อย่างใด ขณะที่ประเทศไทยไม่เคยเรียกร้องหรือแสดงออกทางใดทางหนึ่งที่เป็นการไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมของประเทศอื่นเลยน.ส. รัชดา กล่าว

ต่อการเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกล นายคารม ซึ่งเคยเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 ได้ระบุว่า การกระทำดังกล่าวของก้าวไกลอาจเป็นการกดดันศาลรัฐธรรมนูญทางอ้อม

หากศาลรัฐธรรมนูญไม่กล้ายุบพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองทำผิดกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เพราะกลัวความกดดัน กลัวกระแสสังคมที่เขาสร้างขึ้น หรือกลัวสายตาต่างประเทศที่มองมาที่เรา ต่อไปอาจเกิดปรากฏการณ์ให้พรรคการเมืองหาเสียงแบบไม่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง ต่อสังคม อาจมีการหาเสียงแบบให้แบ่งแยกประเทศไทย ให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์นายคารม ระบุ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่เห็นว่า การที่พรรคกู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคไปใช้ดำเนินกิจกรรมของพรรคในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2562 เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี สมาชิกพรรคอนาคตใหม่จำนวนหนึ่งจึงออกมาอยู่กับพรรคก้าวไกล 

AP23210502723620.jpg
ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลถือรูปของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในระหว่างการประท้วงในกรุงเทพฯ วันที่ 29 กรกฎาคม 2566 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มีคะแนนสูงสุด มีเงินที่ประชาชนบริจาคด้วยภาษีของเขาเพื่อสนับสนุนพรรคมากที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้มีการยุบพรรคได้ง่าย แต่ที่จริงแล้วถ้าหากว่าพูดถึงในทั่วโลกการยุบพรรคถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่บ้านเรายุบเป็นว่าเล่น เรื่องการยุบพรรคไม่ใช่เรื่องเฉพาะพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ว่าเป็นปัญหาเรื่องระบอบประชาธิปไตย และกระทบทุกพรรคการเมืองนางอังคณา นีละไพจิตร สว. และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

หลังการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 ก้าวไกลซึ่งได้ สส. มากที่สุด 151 คน ประกาศรวมเสียง สส. กับอีกเจ็ดพรรค 312 เสียง เสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้นายพิธาไม่ได้รับความเห็นชอบ และต้องส่งไม้ต่อการจัดตั้งรัฐบาลให้กับเพื่อไทย ซึ่งมี สส. เป็นอันดับสอง 141 คน และทำให้ก้าวไกล เพราะพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ อ้างว่า ร่วมงานกับพรรคที่เสนอยกเลิก มาตรา 112 ไม่ได้

ยุบพรรคกระทบกลไกประชาธิปไตย

ในประเด็นเดียวกัน น.ส. นันทนา นันทวโรภาส สว. ระบุว่า ตนเอง และ สว. บางคนก็มีความกังวลในประเด็นการยุบพรรคก้าวไกลเช่นกัน

เรื่องนี้เป็นข้อกังวลของนานาประเทศทั่วโลกไปแล้วที่ต่างออกแถลงการณ์ในเรื่องที่องค์กรต่าง ๆ ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน สามารถจะมายุบพรรคการเมืองซึ่งมาจากประชาชน ซึ่งในส่วนของ สว. เอง ก็จะต้องแสดงจุดยืนเรื่องนี้ด้วย ก็ขอเชิญชวนให้กลุ่ม สว. ทุกคน ที่ตระหนักในเรื่องกลไกประชาธิปไตยมาร่วมกันลงชื่อตรงนี้ด้วยน.ส. นันทนา ระบุ

ในอดีตประเทศไทยมีการยุบพรรคการเมืองมาแล้วหลายครั้ง ในปี 2550 พรรคไทยรักไทยซึ่งมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรค ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ ด้วยเห็นว่าพรรคกระทำการที่อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ทำให้สมาชิกบางส่วนย้ายไปก่อตั้งพรรคพลังประชาชน และถูกยุบอีกครั้ง จนเกิดพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน 

ขณะที่ พรรคชาติไทย ก็ถูกยุบด้วยข้อหาใกล้เคียงกัน ก่อนสมาชิกพรรคได้ก่อตั้งพรรคใหม่ชื่อ ชาติไทยพัฒนา โดยหากนับตั้งแต่ปี 2550 มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบมาแล้วอย่างน้อย 17 พรรค

หากตัดสินตามหลักกฎหมาย คิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะยุบพรรคก้าวไกล แต่ปัญหาคือ เราเชื่อกันจริงหรือว่า การตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ เป็นเรื่องของหลักการทางกฎหมายล้วน ๆ โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง นั่นก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีการยุบพรรคก้าวไกล แต่หากดูจากหลักการทางกฎหมาย หลักการตามระบอบประชาธิปไตย มันเป็นสิ่งที่แทบเกิดขึ้นไม่ได้เลยรศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง